ปฏิเสธไม่ได้ว่ารถยนต์พลังไฟฟ้า หรือ EV จากประเทศจีนถูกส่งไปขายทั่วโลก และสามารถทะลุทะลวงเข้าสู่ตลาดในประเทศต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดความกังวลในหลายๆ ด้านตามมา โดยเฉพาะกับประเทศที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าสหรัฐอเมริกาจะตั้งกำแพงภาษีเพื่อป้องกันการทะลักเข้ามาของรถยนต์พลังไฟฟ้าของจีน จนมีข่าวว่า BYD จะย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่ประเทศเม็กซิโก เพื่ออาศัยช่องว่างของขอกำหนดด้วยการใช้ข้ออ้างจากเรื่อง Free Trade Area ของตลาดอเมริกาเหนือในการเลี่ยงภาษีนำเข้า
แต่ไม่ใช่แค่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ในยุโรป หลายชาติก็เริ่มตื่นตัวและมองเห็นว่าพวกเขากำลังเริ่มสูญเสียตลาดให้กับรถยนต์พลังไฟฟ้าจากจีนที่นอกจากจะมีหลากหลายทางเลือกแล้วยังมีราคาที่เข้าถึงได้ เช่นเดียวกับเรื่องของความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจ เพราะหลายแบรนด์ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนจนมีราคาที่ถูกลง และทำให้สามารถแย่งชิงยอดขายและส่วนแบ่งมาได้
ดังนั้น ในสัปดาห์ที่แล้ว ทางคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้สรุปว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ (BEV) และห่วงโซ่อุปทานของแบรนด์จีนได้รับประโยชน์จากเงินอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรม เป็นผลให้ EC ประกาศเก็บภาษีนำเข้าชั่วคราวสำหรับ EV ที่ผลิตในจีนตั้งแต่ 17.4% ถึง 38.1% ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตรถยนต์ บวกกับอากรนำเข้าอีก 10%
อย่างไรก็ตาม นี่ยังเป็นแค่คำประกาศออกมาและจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ แต่ทว่าทางคณะกรรมาธิการยังเปิดโอกาสให้ทางการจีนสามารถเข้ามาพูดคุยและหาทางออกร่วมในการจัดการเกี่ยวกับเรื่องนี้
คณะกรรมาธิการได้ติดต่อกับทางการจีนเพื่อหารือเกี่ยวกับข้อค้นพบเหล่านี้และสำรวจแนวทางที่เป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหา หากการหารืออย่างต่อเนื่องกับทางการจีนไม่นำไปสู่การยุติ ภาษีเหล่านี้จะมีผลในวันที่ 4 กรกฎาคมที่จะถึงนี้
ผลจากการตรวจสอบการอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรม
ในปีที่แล้ว ทางสหภาพยุโรป (EU) เริ่มทำการตรวจสอบเพื่อต่อต้านการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) สัญชาติจีน ซึ่งทาง EU ระบุว่า เข้ามาบิดเบือนตลาด และอาจนำไปสู่มาตรการทางภาษี เพื่อปกป้องผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศสมาชิก จากการนำเข้ารถจีนราคาถูกที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ โดยอ้างว่ารัฐบาลจีนมีการอุดหนุนอย่างไม่เป็นธรรม ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าจีนที่วางจำหน่ายในยุโรปมีราคาถูกจนอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในภูมิภาคได้
ปัจจุบันตลาดทั่วโลกล้วนเต็มไปด้วยรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกจากจีน และรถ EV เหล่านั้นก็ถูกทำให้มีราคาต่ำกว่าความเป็นจริงด้วยเงินอุดหนุนก้อนใหญ่จากรัฐ ทั้งนี้ทางคณะกรรมาธิการยุโรปจะมีเวลาราว 13 เดือน ในการพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการทางภาษี และในขั้นของการสอบสวนจะรวมไปถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่จากจีน แม้จะเป็นแบรนด์จากประเทศอื่นอย่าง Tesla, Renault และ BMW ก็จะถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมาธิการยุโรปเช่นกัน
นายวาลดิส ดอมบรอฟสกิส ประธานบริหารและกรรมาธิการการค้าของคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) กล่าวว่า "มีการคาดเดาต่างๆ เกิดขึ้น แต่ในตอนนี้ยังไม่มีการตัดสินใจเกี่ยวกับขอบเขตของการสอบสวนแต่อย่างใด โดยเรากำลังทำการหารือล่วงหน้ากับทางการจีน และขอบเขตของการสอบสวนยังไม่เป็นที่แน่ชัด ดังนั้น สิ่งที่ประกาศออกมาจนถึงตอนนี้จากฝั่ง EC คือ การสอบสวนไม่ครอบคลุมเฉพาะแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของจีนเท่านั้น"
เพิ่มกำแพงภาษีเพื่อปกป้องตลาดและสร้างความเป็นธรรม
สำหรับการจัดเก็บภาษีนำเข้าครั้งนี้ถือว่าเป็นการขยับขึ้นในระดับที่ค่อนข้างสูงมาก จากเดิมอยู่ที่ 10% แต่ในตอนนี้อยู่ที่ 17.4-38.1% ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของแบรนด์ต่างๆ ในการเข้าตรวจสอบและสอบสวน โดยเท่าที่มีการเปิดเผยออกมาแล้วในตอนนี้ มีอยู่ 3 แบรนด์ที่จะต้องโดนเรียกเก็บภาษีในอัตราใหม่ คือ BYD จำนวน 17.4% ตามด้วย Geely 20% และ SAIC 38.1% ซึ่งตามปกติแล้ว แบรนด์ที่ให้ความร่วมมือ พร้อมกับมีการเปิดให้สุ่มตัวอย่างในการตรวจสอบจะมีการเก็บในอัตราที่แตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้วจะไม่เกินขั้นต้น และมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 21% ส่วนแบรนด์ที่ไม่ให้ความร่วมมือจะขยับขึ้นเป็นอัตราสูงสุดเลย นั่นคือ 38.1% และทั้งหมดเป็นอัตราที่ยังไม่รวมอากรนำเข้าที่จะอยู่ที่ 10% ทำให้แม้ว่าจะโดนเรียกเก็บในอัตราที่ต่ำ แต่โดยรวมแล้วก็จะมีการจ่ายรวมกันเริ่มต้นที่ 31% เลยทีเดียว
ส่วนในกรณีที่แบรนด์รถยนต์อื่นๆ ที่ไม่ใช่สัญชาติจีน แต่ผลิตที่จีน เช่น Tesla ก็จะถูกปรับภาษีและอากรนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยอ้างอิงจากการให้ความร่วมมือในการดำเนินการตรวจสอบของทางภาครัฐ โดยรถยนต์รุ่นเดียวของ Tesla ที่ประกอบและขายใน EU คือ Model Y ส่วนรุ่นยอดนิยมอย่าง Model 3 ผลิตที่จีนและนำเข้ามาทำตลาดในยุโรป
นอกจากนั้น Volvo ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Geely ก็จะวางแผนย้ายฐานการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าของตัวเอง จากเดิมที่อยู่ในประเทศจีน กลับมาอยู่ที่เบลเยียมเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ด้วยเช่นกัน
ปัญหาอาจบานปลายเพราะจีนมองว่าเป็นการกีดกันทางการค้า
แน่นอนว่าจีนไม่พอใจกับการตัดสินใจของสหภาพยุโรป และถ้าการพูดคุยในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ไม่ได้ทางออกหรือข้อสรุปที่ชัดเจน ก็อาจจะทำให้เกิดสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหภาพยุโรป และอาจจะรวมถึงสหรัฐอเมริกา และตุรกีอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดวางแผนที่จะขึ้นภาษี-อากรนำเข้ารถยนต์พลังไฟฟ้าจากจีน
เมริกส์ (Merics) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในกรุงเบอร์ลินที่เชี่ยวชาญด้านจีนคาดการณ์ว่า มาตรการตอบโต้ของจีนจะมุ่งเป้าไปที่สินค้าเกษตร เช่น ชีสและเนื้อหมู โดยหลังจากที่ EU เริ่มสอบสวนการต่อต้านการทุ่มตลาดสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า จีนก็ได้เริ่มตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุราของยุโรป เช่น บรั่นดี โดยฝรั่งเศสซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ EU ตรวจสอบรถยนต์ไฟฟ้าของจีนนั้น เป็นผู้ส่งออกบรั่นดีรายใหญ่
ไม่ใช่ทุกชาติจะเห็นด้วย
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานครั้งนี้ของสหภาพยุโรปนั้น ไม่ใช่ว่าทุกชาติในยุโรปจะเห็นด้วย อย่างนอรเวย์ ซึ่งเป็นประเทศแรกๆ ในยุโรปที่เน้นการใช้พลังงานสะอาด และการกระตุ้นให้หันมาใช้รถยนต์พลังไฟฟ้านั้น ก็เป็นชาติหนึ่งในยุโรปที่ไม่เห็นด้วยกันเรื่องนี้ แต่ทางนอรเวย์เองไม่ได้เป็นสมาชิกอยู่ในสหภาพยุโรป
โดยจากการเปิดเผยของ OFV หรือ สมาพันด้านเส้นทางคมนาคมในนอร์เวย์ระบุว่า รถยนต์พลังไฟฟ้ามากกว่า 12% ที่แล่นอยู่บนถนนในนอร์เวย์ มีฐานการผลิตจากจีน ซึ่งก็รวมถึงแบรนด์ลูกของ Volvo อย่าง Polstar ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าของ Volvo นั้นเป็นการนำเข้ามาจากสวีเดนบ้านใกล้เรือนเคียง
นอร์เวย์ เป็นตลาดยุโรปแห่งแรกสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพ EV ของจีนจำนวนมาก Nio เข้าสู่นอร์เวย์ในเดือนพฤษภาคม 2021 หนึ่งปีก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในสหภาพยุโรป Xpeng เปิดตัวในนอร์เวย์ก่อนหน้านี้ในปี 2020 นอกจากนี้ นอร์เวย์ยังเป็นที่ตั้งของผู้ผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าของจีนบางแบรนด์ที่หายากมากในยุโรป เช่น Voyah ของ Dongfeng ซึ่งขาย SUV Free ที่นั่นมาตั้งแต่ปี 2022
นี่ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น ยังต้องดูกันต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องราวตรงนี้จะจบลงอย่างไร แต่ดูแล้วมีแนวโน้มที่อาจจะจบลงไม่สวยเท่าไร เพราะว่าทางสหภาพยุโรปเองก็ไม่ค่อยพอใจจีนมาตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จีนหนุนหลังรัสเซียอย่างออกหน้าออกตา และอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสหภาพยุโรปที่อยู่เคียงข้างยูเครนมาโดยตลอด