xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยกสิกรฯ หั่น GDP ปี 67 เหลือโต 2.6% ส่งออกฟื้นช้า บริโภค-ลงทุนภาครัฐต่ำกว่าคาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ลงมาอยู่ที่ 2.6% ชะลอตัวจากระดับ 2.8% ที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมตามการลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐที่ต่ำกว่าคาด ประกอบกับการส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด

"คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 67 จะเติบโตได้ 3.6% จากครึ่งปีแรกที่คาดว่าเติบโตได้ 1.6% ส่งผลให้ภาพรวมทั้งปี 67 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 2.6%"

ทั้งนี้ ทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 67 มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกมากขึ้น จากปัจจัยฐานต่ำในปี 66 แต่อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น การระบายสินค้าจากกำลังการผลิตส่วนเกินจากจีนมายังตลาดโลก รวมถึงไทย ในขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้าง และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง มีผลให้ส่งออกไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2567 การส่งออกของไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 1.5% ต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้เดิมที่ 2.0% จากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถทางการแข่งขันที่ลดลง ส่งผลให้การส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และได้รับอานิสงส์จากการค้าโลกที่ฟื้นตัวในปีนี้ไม่มากเท่าที่ควร โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นประเด็นต่อเนื่อง


น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมไทยว่า ได้ให้น้ำหนักกับ 3 ปัจจัย ที่จะมีผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมในช่วงข้างหน้า ได้แก่ 1.ความไม่แน่นอนของการเบิกจ่ายภาครัฐ ที่จะกระทบอุตสาหกรรมก่อสร้าง 2.สินค้านำเข้าที่ไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้น จากผลของสงครามการค้า ซึ่งจะกระทบกับสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และเหล็ก 3.ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ทั้งราคาน้ำมันดีเซลที่ภาครัฐทยอยลดการอุดหนุน และค่าแรงที่มีทิศทางสูงขึ้น จะกระทบต่อ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น

อย่างไรก็ดี เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ภาครัฐควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ กวดขันสินค้านำเข้า และสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) รวมถึงเติมสภาพคล่องให้ SMEs และเน้นวางแผนการจัดการน้ำ ขณะเดียวกัน ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในทุกมิติ ทำให้รายได้เติบโตเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุน

ขณะที่นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะให้ภาพแรงส่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่าคาด จนตลาดปรับการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ หรือ Higher for Longer นั้น แต่มีประเด็นที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง ได้แก่ นโยบายภาษีของสหรัฐฯ และยุโรปที่กีดกันอุตสาหกรรม Cleantech ของจีน ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และแผงโซลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในภูมิภาคยุโรป อาเซียน และอเมริกาใต้

ขณะที่หากโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง กลยุทธ์ของจีนในการกระจายความเสี่ยงทางการค้า เช่น China+1 ที่ขยายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อเลี่ยงกำแพงภาษีทางการค้ามีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ดังนั้น ไทยต้องจับกระแสประเด็นการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อที่ภาคอุตสาหกรรมของไทยจะสามารถปรับทิศทางได้อย่างทันท่วงที


กำลังโหลดความคิดเห็น