ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า จากเดิมที่เคยเกือบจะสูญพันธุ์เมื่อช่วงปลายทศวรรษที่ 2000 เพราะสถานการณ์น้ำมันโลกดีดตัวสูงขึ้นชนิดทำ New Height แบบวันต่อวัน แต่สุดท้ายแล้ว ตลาดเอสยูวี (SUV) หรือรถยนต์อเนกประสงค์ขับเคลื่อน 4 ล้อกลับกลายมาแจ้งเกิดใหม่อีกครั้ง แต่ถือเป็นตลาดที่บรรดาแบรนด์รถยนต์ทั้งหลายจะขาดเสียไม่ได้ และที่น่าสนใจคือ แม้แต่บรรดาแบรนด์ Super Luxury ทั้งหลายต่างก็ไม่ยอมที่จะตกขบวนในการที่จะมีผลผลิตอยู่ในตลาดกลุ่มนี้
ทำไมถึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
นี่คือ คำถามสำคัญที่หลายคนพยายามหาคำตอบ เพราะจากเดิมที่รถยนต์ประเภทนี้ถือกำเนิดในช่วงทศวรรษที่ 1980 และมาบูมเอาในช่วงทศวรรษที่ 1990 โดยมีตลาดใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา เดี๋ยวนี้กลับกลายเป็นว่ารถยนต์เอสยูวี ได้รับความนิยมอย่างมาก แม้แต่แบรนด์รถยนต์ยุโรปทั้งหลายที่เมื่อก่อนจะเน้นการผลิตรถยนต์แฮทช์แบ็ค หรือแวกอนเป็นตัวชูโรง แต่เดี๋ยวนี้ ถ้าไม่มีเอสยูวีวางขาย คุณอาจจะพลาดในการเป็นส่วนหนึ่งของตลาดที่ขึ้นชื่อว่า ฮ็อตที่สุดเลยก็ว่าได้
มีการวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ทำให้รถเอสยูวี ได้รับความนิยมมากขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการพัฒนาให้รถเอสยูวีรุ่นใหม่ๆ มีความสะดวกสบาย ขับง่าย และมีความปลอดภัยเทียบเท่ากับรถยนต์นั่ง แต่เหนือชั้นกว่าในแง่ของประโยชน์ใช้สอย ทั้งพื้นที่บรรทุกสัมภาระ และเบานั่งที่มีรูปแบบทั้ง 5 ที่นั่ง หรือ 7 ที่นั่ง เรียกว่าเป็นการพลิกภาพลักษณ์ของเอสยูวีจากเดิมที่เน้นลุย สมบุกสมบัน และจะต้องติดระบบขับเคลื่อน 4 ล้อมาด้วยไปคนละแบบเลย และนั่นทำให้คนส่วนใหญ่ หันมามองหาและเลือกใช้รถยนต์ลักษณะนี้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมและรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และมองหาอะไรใหม่ๆ มาตอบสนองความต้องการของตัวเองมากขึ้น
แต่ที่น่าสนใจคือ ในตลาดระดับหรูที่เป็นแบรนด์ Super Luxury ไม่ว่าจะเป็น ปอร์เช่ (Porsche) ,ลัมโบร์กินี (Lamborghini), เบนท์ลีย์ (Bentley) , โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) , แอสตัน มาร์ติน (Aston Martin) หรือแม้แต่ที่กำลังจะเข้ามาเป็นตัวเลือกล่าสุดคือ เฟอร์รารี่ ( Ferrari ) บรรดาแบรนด์เหล่านี้ไม่พลาดที่จะผลิตเอสยูวีออกมาขายในตลาด
ความไม่โดดเดี่ยวคือ ปัจจัยหลักในการขยายทางเลือก
เช่นเดียวกับตลาดประเภทอื่นความต้องการและการเลือกใช้รถยนต์อเนกประสงค์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและมีให้เห็นอยู่เป็นประจำ เพียงแต่ว่าในอดีตเมื่อทางเลือกของแบรนด์ Super Luxury ไม่มี บรรดาลูกค้าก็ต้องหันไปคบกับแบรนด์ที่อยู่ในระดับรองลงมา เช่น บีเอ็มดับเบิลยู (BMW) ออดี้ ( Audi) และ เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) โดยตลาดรถเอสยูวี ที่มาจากแบรนด์รถสปอร์ตหรือรถยนต์ระดับหรู เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2546 เมื่อปอร์เช่ เปิดตัว Cayenne ออกสู่ตลาด
แม้ว่าจะโดดต่อต้านและถูกปฏิเสธจากแฟนพันธุ์แท้ในช่วงแรก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Cayenne คือ รถยนต์ขายดีของปอร์เช่ และด้วยการที่วางภาพลักษณ์ของ Cayenne ให้เหมือนกับการขับรถสปอร์ตแบบยกสูง ทำให้ความรู้สึกของผู้ซื้อที่มีต่อรถยนต์เอสยูวี ระดับหรูจากแบรนด์ซูเปอร์คาร์เหล่านี้เปลี่ยนไป และทำให้การเปิดรับมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปัจจุบัน Cayenne มียอดขายรวมทั้งปีในปี 2563 อยู่ที่ 92,860 คัน หรือคิดเป็น 34.1% ของยอดขายรถยนต์ต่อปีของ Porsche
จุดหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาเอสยูวีของปอร์เช่ง่ายขึ้นนั้นก็มาจากการที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในร่มเงาของ โฟล์กสวาเกน กรุ๊ป ( Volkswagen Group) และนั่นทำให้ Cayenne รุ่นแรกเปรียบเสมือนกับพี่น้องของ โฟล์กสวาเกน Touareg และ Q7 ด้วยการแชร์ทั้งพื้นตัวถัง ระบบช่วงล่าง หรือแม้แต่ระบบภายในบางอย่างร่วมกัน ซึ่งถ้าปอร์เช่ ยังเป็นแบรนด์เดี่ยว การต้องพัฒนาผลผลิตใหม่ขึ้นมาทั้งคัน ย่อมหมายถึง การลงทุนมหาศาลทั้งเงินและเวลา ที่อาจจะไม่คุ้มค่าสักเท่าไร
ตรงนี้ถือเป็นจุดที่ได้เปรียบสำหรับแบรนด์ที่ที่อยู่ในเครือใหญ่ เพราะนั่นหมายความว่าคุณสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มาช่วยในการลดต้นทุนทั้งจำนวนเงินที่ต้องลงไป และเวลาที่จะต้องใช้ในการพัฒนา โดยนอกจากปอร์เช่ แล้ว ลัมโบร์กินี และ เบนท์ลีย์ คือ อีกตัวอย่างแห่งความสำเร็จ กับรุ่น Urus และ Bentayga ซึ่งพัฒนาบนแพล็ตฟอร์มเดียวกับปอร์เช่ Cayenne รุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งก็คือพื้นตัวถังรุ่น MLB Evo แต่มีการปรับแต่ง และการออกแบบรูปลักษณ์ รวมถึงการใช้เครื่องยนต์ที่แตกต่างไปตามเอกลักษณ์เฉพาะแบรนด์ และนั่นทำให้ Urus เดินตามรอบความสำเร็จแบบเดียวกับ Cayenne ทำให้กับปอร์เช่ ในการขึ้นแท่นเป็นรถยนต์ขายดีที่สุดตลอดกาลของแบรนด์ ด้วยยอดขายมากกว่า 15,000 คันนับจากเริ่มจำหน่ายในปี 2560
ตัวเลขอาจจะดูน้อย แต่ถ้ามองในแง่ของการเป็นซูเปอร์เอสยูวี ที่มีค่าตัวในระดับเกิน 20 ล้านบาท ตัวเลขระดับนี้ถือว่าเยอะมาก และยากที่จะหารถยนต์รุ่นไหนของแบรนด์ทำสถิติเทียบเท่า เพราะตัวเลขนี้คือ ยอดขายที่เร็วมาก โดยใช้เวลาเพียงแค่ 3 ปีกว่า ขณะที่เจ้าของสถิติเดิมของแบรนด์อย่าง Gallardo กว่าจะทำยอดขายในระดับ 14,022 คันก็ต้องใช้เวลานานถึง 10 ปีเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม สำหรับแบรนด์ที่เป็นซูเปอร์ไฮเอนด์ ตรงนี้อาจจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป เช่น โรลส์-รอยซ์ กับการผลิต Cullinan เพราะด้วยความสามารถในการตั้งราคาได้ด้วยตัวเอง และมีลูกค้าที่รออยู่แล้ว ทำให้พวกเขาสามารถทุ่มเทและพัฒนาพื้นฐานทางวิศวกรรมที่แยกออกมาได้ต่างหากเพื่อลักษณะที่เป็นเฉพาะแบรนด์ แต่สุดท้ายเรื่องก็มาจบลงที่การอยู่ในเครือบีเอ็มดับเบิลยู ซึ่งทำให้พวกเขามีศักยภาพในการทำงานมากขึ้นแบบไม่ต้องมาห่วงหน้าพะวงหลัง โดยเฉพาะเรื่องของเงินลงทุน เหมือนกับที่เป็นแบรนด์เดี่ยว ๆ สมัยยุคก่อนทศวรรษที่ 2000
ผู้เล่นล่าสุดที่ชื่อว่า “เฟอร์รารี่”
ถือเป็นเรื่องน่าแปลกใจอย่างมากที่แบรนด์ซึ่งมีความทนงตัวเองและการมุ่งมั่นกับการพัฒนารถสปอร์ต สุดท้ายแล้วพวกเขากลับหันมามองการเข้าร่วมในตลาดรถยนต์อเนกประสงค์ขับเคลื่อน 4 ล้ออย่างเอสยูวี และผลผลิตใหม่ของพวกเขาที่จะเปิดตัวปี 2565 มีการตั้งชื่อออกมาแล้ว นั่นคือ Purosangue ซึ่งมีความหมายว่า Pure Blood
ตรงนี้คือสิ่งที่เฟอร์รารี่ต้องการแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าพวกเขาจะปฏิเสธไม่ได้ถึงการเข้าร่วมตลาดเอสยูวี แต่สิ่งที่อยู่ใน Purosangue คือ สิ่งที่คุณสามารถสัมผัสได้จากรถสปอร์ตเครื่องยนต์วางด้านหน้า แม้ว่าในทางกายภาพแล้วตัวรถจะมาในแบบ 4 ประตูและมีความสูงมากขึ้น
รถสปอร์ตรุ่นนี้แชร์พื้นฐานของรูปลักษณ์มาจาก Roma โดยในช่วงแรกจะมากับเครื่องยนต์วี 12 ที่มีกำลังสูงสุดถึง 800 แรงม้า และนั่นทำให้ตัวรถสามารถแล่นได้ถึง 320 กิโลเมตร/ชั่วโมงสบายๆ ก่อนที่จะมีการเพิ่มรุ่นวี8 และวี6 ในแบบไฮบริดตามมาในภายหลัง
สำหรับราคาคาดว่าจะอยู่ที่ 260,000-300,000 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนั่นทำให้ Purosangue เจอกับคู่แข่งที่มากหน้าหลายตาในตลาดเอสยูวีระดับไฮเอนด์ทั้ง Cayenne ตัวท็อป ไล่ไปจนถึงโรลส์-รอยซ์ Cullinan เลยทีเดียว
ตลาดเอสยูวียังเติบโตไปได้ และดูเหมือนว่าสมรภูมิของรถยนต์อเนกประสงค์จะไม่ได้ดุเดือดเฉพาะพวกที่มีราคาทั่วไปสำหรับคนธรรมดาเท่านั้น แม้แต่แบรนด์ระดับ Super Luxury ก็แข่งแบบดุเดือดไม่แพ้กัน