xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึกระบบไฮบริด Haval H6 Hybrid

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เกรท วอลล์ มอเตอร์ เปิดตัว Haval H6 Hybrid ครั้งแรกในโลกที่ประเทศไทย โดยเป็นการเปิดเผยเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยระบบไฮบริดใหม่ล่าสุด ที่นำมาใช้ใน Haval H6 เป็นครั้งแรก ส่วนจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ทีมงานเอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง รวบรวมข้อมูลจากการสังเกตุเมื่อทดลองขับจริงมานำเสนอเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

แบตเตอรี่ขนาด 1.6 kWh วางอยู่ทางด้านท้ายรถ
สำหรับระบบไฮบริด ที่ได้รับความนิยมใช้งานอย่างแพร่หลายจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักคือ แบบอนุกรม(Series Hybrid), แบบขนาด (Parallel Hybrid) และแบบผสมผสาน (Integrated Hybrid) ทั้งสองระบบแรกทำงานสลับกัน โดยระบบไฮบริดของ Haval H6 Hybrid จะเป็นแบบผสมผสาน แบ่งลักษณะการทำงานตามพิกัดความเร็วได้ดังต่อไปนี้

Haval H6 Hybrid
ช่วงความเร็ว 0-60 กม./ชม.

หลังจากกดปุ่มติดเครื่อง รถจะแสดงสถานะต่างๆ ว่า พร้อมทำงาน โดยเครื่องยนต์อาจจะติดขึ้นมาหรือไม่ก็ได้ ขึ้นกับปริมาณของไฟฟ้าที่มีอยู่แบตเตอรี่ หากกำลังไฟฟ้าไม่พอเครื่องยนต์จะทำงานเพื่อปั่นไฟ แต่หากมีกำลังไฟเหลือพอเครื่องยนต์จะไม่ทำงาน

ส่วนการขับเคลื่อนจังหวะออกตัวจะเป็นการขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมีบางครั้งเท่านั้นที่เครื่องยนต์เข้ามามีส่วนในการขับด้วยกรณีที่กดคันเร่งหนักเพื่อทำความเร็วเพิ่ม (ไฮบริดแบบขนาน) ส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานในรูปแบบที่ใช้มอเตอร์เป็นหลัก และเครื่องยนต์ที่ติดขึ้นมามีหน้าที่เพื่อปั่นไฟ ซึ่งสามารถจ่ายกระแสไฟไปเก็บที่แบตเตอรี่และจ่ายตรงไปยังมอเตอร์ได้ทันที โดยเฉพาะเมื่อขับด้วยความเร็วคงที่ ส่วนใหญ่จะทำงานตามหลักการของระบบไฮบริดแบบอนุกรม

กราฟฟิกของทีมงาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ ที่แสดงลักษณะการทำงานของระบบไฮบริด
ช่วงความเร็ว 61-130 กม./ชม.

ช่วงความเร็วตั้งแต่ 60-80 กม./ชม. ระบบจะปรับมาใช้เป็นการขับด้วยเครื่องยนต์พร้อมกับมอเตอร์ โดยขึ้นกับความต้องการใช้พลังงานในการขับเคลื่อน ณ ขณะนั้น บางช่วงอาจจะยังเป็นมอเตอร์ขับเพียงอย่างเดียวได้ ขึ้นกับปริมาณแบตเตอรี่ที่มีอยู่ โดยเครื่องยนต์ที่ติดขึ้น สามารถขับเคลื่อนเพลาพร้อมกับจ่ายกระแสไฟฟ้าไปเก็บไว้ที่แบตเตอรี่และส่งไฟฟ้าไปยังมอเตอร์ได้ในเวลาเดียวกัน

หากมีการวิ่งด้วยความเร็วคงที่ในย่านความเร็วนี้ ระบบสามารถตัดกำลังกลับมาใช้มอเตอร์ขับเคลื่อน หรือใช้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนได้ หรือใช้ทั้งสองอย่างร่วมกันได้ โดยอิงจากปริมาณไฟฟ้าในแบตเตอรี่ เพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ซึ่งหากดูจากกราฟฟิกของทีมงานเกรทวอลล์ จะเห็นว่า เป็นการทำงานของเครื่องยนต์ล้วน กรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อเรากดคันเร่งแบบคิกดาวน์ แต่เมื่อวิ่งด้วยความเร็วคงที่ในระดับสูง จะมีทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าทำงาน ส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานด้วยเครื่องยนต์ล้วน บางครั้งหากขับด้วยความเร็วสูงแบบคงที่เครื่องยนต์ตัดการทำงานไปก็มี โดยส่วนใหญ่รูปแบบการทำงานจะเป็นไปตามหลักการของไฮบริดแบบขนาน

ภาพกราฟฟิก แสดงสถานะการทำงานของระบบไฮบริดในรถ Haval H6 Hybrid
131-180 กม./ชม.

ตั้งแต่ความเร็วเกิน 130 กม./ชม. เป็นต้นไป ระบบจะตัดการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้า ให้เหลือเพียงเครื่องยนต์อย่างเดียวในการขับเคลื่อน โดยมอเตอร์ไฟฟ้า อาจจะติดขึ้นมาได้บ้าง เพื่อสนับสนุนหากมีการกดคันเร่งแบบคิกดาวน์ หรือหากเริ่มมีการผ่อนคันเร่งลดความเร็ว หรือความเร็วคงที่ บางช่วงเครื่องยนต์อาจจะดับไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของไฟฟ้าในแบตเตอรี่ที่มีอยู่

ทั้งนี้เมื่อลดความเร็วลงเครื่องยนต์จะมีทั้งหยุดทำงานและทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า โดยจะมีการปั่นกระแสไฟกลับเข้าไปเก็บไว้ที่แบตเตอรี่ ปัจจัยการทำงานทุกอย่างจะขึ้นกับพฤติกรรมการขับขี่ในขณะเวลานั้นรวมถึงปริมาณของไฟฟ้าในแบตเตอรี่ โดยสมองกลจะเป็นผู้สั่งการทั้งหมด เป้าหมายคือ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร เทอร์โบ ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า
2 ระบบส่งกำลัง

เพื่อให้เข้าใจง่ายเราจะแยกเป็นระบบส่งกำลังของมอเตอร์ ที่เกรท วอลล์ เรียกว่าเกียร์ของมอเตอร์ไฟฟ้า ความจริงคือ “ชุดเฟืองส่งกำลังจากมอเตอร์ไฟที่เพลาขับ” เช่นเดียวกับรถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าทุกคัน ขณะที่ระบบส่งกำลังของเครื่องยนต์จะเป็น ชุดเฟืองที่มี 2 อัตราทด คือ ความเร็วต่ำ(Low) และความเร็วสูง(Hi)*

สำหรับระบบส่งกำลังลักษณะดังกล่าวทำงานผสานกันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การตัดต่อกำลังระหว่างเกียร์มีความต่อเนื่องและเรียบเนียน ไม่มีอาการรอรอบหรือกระชากแต่อย่างใด โดยจะแตกต่างจากระบบส่งกำลังซีวีทีและทอร์คคอนเวิร์ตเตอร์ เพราะมีชิ้นส่วนที่น้อยกว่า รวมถึงสูญเสียกำลังระหว่างการส่งผ่านน้อยกว่าด้วยเช่นเดียวกัน

หมายเหตุ *ข้อมูลเรื่องระบบไฮบริดและระบบเกียร์ทั้งหมดเป็นกราฟฟิกการแสดงทำงานที่ใช้เฉพาะภายใน ซึ่งผู้เขียนได้ศึกษาจากทีมงานของเกรท วอลล์ มอเตอร์ โดยยังมิได้เปิดเผยเป็นการทั่วไป ณ เวลาที่เขียน





กำลังโหลดความคิดเห็น