xs
xsm
sm
md
lg

“กรมราง” ถกยกเครื่องรถไฟ ปรับใช้พลังงานไฟฟ้าและไฮบริด ลด PM 2.5

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมรางถก รฟท.และเอกชนเร่งยกเครื่องรถไฟ ปรับระบบใช้พลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train) และไฮบริด ลด PM 2.5 ลุยติดตั้งหัวจ่ายน้ำมัน B10 ทั่วประเทศ เร่งปรับปรุงรถจักรและล้อเลื่อนโบกี้ไฟฟ้าปรับอากาศ และตู้โดยสารเข้าสถานีกลางบางซื่อ

นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) พร้อมด้วย นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ได้เข้าร่วมประชุมหารือร่วมกับนายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายการช่างกล รฟท. และบริษัทเอกชนด้านระบบราง จำนวน 10 บริษัท ในการส่งเสริมการใช้วัสดุภายในประเทศ และการขับเคลื่อนการดำเนินงานรถไฟที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train) และการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ไปสู่การปฏิบัติ

โดยได้หารือร่วมกันใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การส่งเสริมการใช้วัสดุภายในประเทศ (Made in Thailand) ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบาย Thai First ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อนของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และการดำเนินงานตามหนังสือกรมบัญชีกลาง เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 โดยปัจจุบัน รฟท.ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุตามแนวทางดังกล่าวด้วยแล้ว โดยเอกชนจะต้องปรับตัวให้รองรับกับกฎกระทรวงดังกล่าว และ รฟท.มีแนวทางการสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถไฟในประเทศ

2. การดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) โดย ผู้ว่าการ รฟท.ได้ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ปี 2564 สำหรับการทดลองใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไบโอดีเซล B10 และ B20 รวมทั้งแผนการติดตั้งหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง B10 ในเส้นทางรถไฟหลักทั่วประเทศแล้ว โดย รฟท.อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ซึ่งจะมีการทดสอบเชื้อเพลิงกับเครื่องยนต์ Cummins ในเดือนกรกฎาคม 2564

รวมทั้งดำเนินการซ่อมปรับปรุงรถจักรและล้อเลื่อนให้สามารถรองรับ B20 การจัดหารถดีเซลรางและรถจักรเพิ่มเติม การปรับปรุงโบกี้ไฟฟ้ากำลังปรับอากาศ (บฟก.ป.) 20 คัน ซึ่ง รฟท.ดำเนินการแล้วเสร็จ 8 คัน และอยู่ระหว่างการประกวดราคาอีก 12 คัน รวมถึงการปรับปรุง/ดัดแปลงตู้รถโดยสารเพื่อใช้งานร่วมกับ รถ บฟก.ป. สำหรับนำเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ การจัดหารถจักรสับเปลี่ยน (ย่านสายสีแดง) การย้ายสถานที่ซ่อมรถโดยสารที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองจากโรงงานมักกะสันไปยังส่วนภูมิภาคแทน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในเขตกรุงเทพมหานคร

3. การดำเนินงานปรับปรุงตู้รถโดยสารเพื่อรองรับชานชาลาสูง 1.10 เมตร ซึ่งปัจจุบันดำเนินการปรับปรุงเสร็จแล้ว จำนวน 315 คัน จาก 1,071 คัน คิดเป็นร้อยละ 29 และอยู่ระหว่างปรับปรุงตู้รถโดยสารในส่วนที่เหลือ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2566

4. แนวทางการส่งเสริมการใช้แบตเตอรี่ในระบบขับเคลื่อนของ รฟท. (EV on Train) โดยรถดีเซลรางใหม่ที่ รฟท.จัดหาจะเป็น Hybrid Diesel Electric Multiple Units : Hybrid-DEMU) สำหรับกลุ่มรถจักรสับเปลี่ยน รฟท.อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลความเป็นไปได้ที่จะปรับปรุงรถจักร GEK จากระบบ Diesel Electric Locomotive เป็น Battery Locomotive (BL) ร่วมกับผู้ผลิตรถไฟ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา

ส่วนรถจักรที่ใช้ในเส้นทางหลัก ประกอบด้วย รถจักร Hybrid Electric Locomotive 20 คัน ที่ใช้วิ่งบนเส้นทางสายสีแดง รถจักร Hybrid Diesel Electric Locomotive 30 คันสำหรับขนส่งสินค้า รฟท.อยู่ระหว่างพิจารณาข้อมูลทางเทคนิคและวิเคราะห์ผลตอบแทนการลงทุนเพื่อขออนุมัติจากคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) ต่อไป นอกจากนี้ รฟท.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงรถจักรเก่าให้สามารถใช้แบตเตอรี่ในการขับเคลื่อนได้





นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.)

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง




กำลังโหลดความคิดเห็น