การที่ รฟท. สรุปว่า “บีพีเอ็นพี” ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินคุณสมบัติ ประเด็นจดทะเบียน “นิติบุคคลใหม่” และ “ผลงานก่อสร้าง” ภายหลังการประกาศผลประกวดราคาไปแล้ว ถือเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่นำมาซึ่งความยุ่งเหยิงและซับซ้อนในขณะนี้
สืบเนื่องจากคำสั่ง “ศาลปกครองสูงสุด” เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 ให้ทุเลาการบังคับคำสั่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ที่พิจารณาให้ “บีพีเอ็นพี” บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด (กลุ่มบริษัท นภาก่อสร้างและพันธมิตรจากประเทศมาเลเซีย) มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการเข้าร่วมประมูล ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญาที่ 3-1 งานโยธา ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า มูลค่า 9.3 พันล้านบาท
ส่งผลให้ “ไชน่าเรลเวย์” บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด ซึ่งทำสัญญาร่วมค้าอันมีลักษณะเป็นกิจการร่วมค้ากับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อ “กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV” ที่เสนอ “ราคาสูงกว่า” เป็นผู้ชนะการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการดังกล่าว
แม้จะมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดออกมาเช่นนั้น แต่ก็มี “ข้อสังเกต” ที่น่าจะทำให้ประเด็นนี้เป็น “หนังยาว” ที่ไม่น่าจะจบลงง่ายๆ
เพราะหาก “ตัดจบ” เช่นนี้ จะเพิ่มน้ำหนักที่ “ครหา” ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เจ้าของสัมปทานกับ “ผู้รับเหมา” ที่แพ้การประกวดราคาร่วมกัน “รื้อ” ผลการประกวดราคาโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายหรือไม่
เพราะทาง “ผู้เสียหาย” อย่าง “บีพีเอ็นพี” ผู้เสนอ “ราคาต่ำสุด” และเป็น “ผู้ร้องสอด” ในคดีเดียวกัน ได้ทักท้วงไว้ว่า รฟท.ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 (พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ) จากกรณีที่ รฟท.ไม่ยอมรับผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ร้องเรียน ที่ตั้งขึ้นตามอำนาจมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ และไม่เรียก “ผู้ชนะประมูล” เข้าทำสัญญาตามกำหนด
โดยหลังจากการเปิดซองประมูลที่ปรากฎว่า “บีพีเอ็นพี” เสนอราคาต่ำสุด และเป็นผู้ชนะการประมูล ก็มีกระแสข่าวในทำนองว่า “การประมูลไม่โปร่งใส” ที่ถือเป็น “แท็กติก” ทั่วไป ภายหลังการประมูลงานระดับเมกะโปรเจ็คต์เช่นนี้
ทว่า รฟท.กลับ “รับลูก” โดยใช้อำนาจ “ผู้ว่าการ รฟท.” ตั้ง “อนุกรรมการ” ขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาคุณสมบัติผู้เข้าเสนอราคาใหม่ ทั้งที่กระบวนการดังกล่าวผ่านการพิจารณาของ “คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา” ของ รฟท.มาแล้ว
อีกทั้งตามกระบวนการก็มี “คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ” ของกรมบัญชีกลาง ที่มี “ปลัดกระทรวงการคลัง” เป็นประธาน อีกชุดหนึ่งหากเกิดประเด็นปัญหาขึ้น
การที่ รฟท. สรุปว่า “บีพีเอ็นพี” ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินคุณสมบัติ ประเด็นจดทะเบียน “นิติบุคคลใหม่” และ “ผลงานก่อสร้าง” ภายหลังการประกาศผลประกวดราคาไปแล้ว ถือเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่นำมาซึ่งความยุ่งเหยิงและซับซ้อนในขณะนี้
เพราะทำให้ “กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV” เป็นผู้ชนะการประมูลแทน
เมื่อ “บีพีเอ็นพี” ได้ยื่นอุทธรณ์ถึงคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนของ “กรมบัญชีกลาง” โดยยืนยันว่า มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วน และผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมกาาคัดเลือกฯมาแล้ว
หลังจากยื่น “โต้แย้ง” ไปที่ รฟท.แล้ว แต่ รฟท. “ไม่เห็นด้วย”
ผลปรากฎว่า คณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์ฯได้อนุมัติ “ยกเว้น” หลักเกณฑ์บางประการให้กับ “บีพีเอ็นพี” ทำให้มีคุณสมบัติเป็นผู้ชนะการประมูลตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาของ รฟท.ตามเดิม
โดยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนของกรมบัญชีกลาง นั้นมี “ปลัดกระทรวงการคลัง” เป็นประธานและกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ “อธิบดีกรมบัญชีกลาง-ผู้แทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี-ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา-ผู้แทนสำนักงบประมาณ-ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด-ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น-ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ-ผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน”
แต่ รฟท.ก็ไม่มีทีท่าจะดำเนินการทำสัญญากับ “บีพีเอ็นพี” ผู้ชนะการประกวดราคาแต่อย่างใด
ทั้งที่มาตรา 119 ของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “การวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด”
กระทั่ง “ไชน่าเรลเวย์” ไปยื่นฟ้อง รฟท.พ่วงด้วยคณะกรรมการ 2 ชุดของกรมบัญชีกลาง ต่อ “ศาลปกครอง” ให้ตัดคุณสมบัติ และตัดสิทธิ์ของ “บีพีเอ็นพี”
จนศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่ง “ทุเลาการบังคับ” คำสั่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนดังที่ระบุข้างต้น
อย่างไรก็ตาม ยังมี “ข้อสังเกต” ในกระบวนกาายื่นฟ้องต่อศาลปกครองอีกว่า “ผู้ฟ้องคดี” ไม่ใช่ “กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV” แต่เป็น “ไชน่าเรลเวย์” รายเดียว
การที่ผู้ฟ้องคดีมีเพียง “ไชน่าเรลเวย์” เพียง “ขาเดียว” ก็อาจเข้าข่าย “ไม่มีสิทธิ์” ฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ เนื่องจาก “ไม่ใช่คู่กรณี” และ “ไม่ใช่ผู้เสียหาย” รวมทั้ง “ไม่มีอำนาจ” ทำการแทน “กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV” เพราะในมาตรา 119 วรรคท้าย ของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ให้สิทธิฟ้อง “เรียกค่าเสียหาย” เท่านั้น
มาตรา 119 วรรคท้าย ของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ
ระบุว่า “ผู้อุทธรณ์ผู้ใดไม่พอใจคําวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หรือการยุติเรื่องตามวรรคสี่ และเห็นว่าหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกให้หน่วยงานของรัฐ ชดใช้ค่าเสียหายได้ แต่การฟ้องคดีดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างที่หน่วยงานของรัฐได้ลงนาม ในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างนั้นแล้ว”
เมื่อบทบัญญัติของกฎหมายไร้ความศักดิ์สิทธิ์ ก็นำมาซึ่งความยุ่งเหยิงและวุ่นวายเช่นนี้
น่าวิตกไม่น้อยว่า หาก “ผลแห่งคดีนี้” และ “ดุลยพินิจ” ของ รฟท.ในฐานะเจ้าของสัมปทาน กลายเป็น “บรรทัดฐาน” ต่อไปการประมูลโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐก็จะจบลงที่การฟ้องร้องทุกโครงการ
ย่อมส่งผลถึงบริการสาธารณะ และการกระตุ้นเศรษฐกิจจากเมกะโปรเจ็คต์ ต้องสะดุดหรือ หยุดชะงักลงไปด้วย.