xs
xsm
sm
md
lg

รัฐเดินหน้า มุ่ง “ยานยนต์ไฟฟ้า” วาดแผนเป็นฐานผลิต ปั้นขาย750,000 คันใน10ปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดรายละเอียดแผนงานของรัฐบาลไทย วาดฝันดันไทยเป็นฐานการผลิตยายนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน ผ่านปาฐกถาของ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่กล่าวไว้ในงานมอบรางวัลรถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปีประจำปี 2020ของสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย ระบุชัดในอีก 10 ปีข้างหน้าดันยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าถึง 30% พร้อมเปิดส่งเสริมการลงทุนเฟสสอง


อุตฯ ยานยนต์พระเอกส่งออก


เป็นที่ทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมูลค่าของอุตสาหกรรมคิดเป็นประมาณ 6.8% ของ GDP (หรือประมาณ 11% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม)


ในปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์ที่สำคัญของโลกโดยในปี 2562 ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก โดย 50% ของการผลิตเป็นการส่งออกไปยัง 170 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท


รถยนต์เป็นสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดของสินค้าส่งออกของไทย ซึ่งตามโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ประกอบด้วยผู้ผลิตรถยนต์ 19 ราย ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ 10 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วนมากกว่า 2,300 ราย รวมแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 750,000 คน


จุดเกิดวิกฤตยานยนต์


ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้เผชิญกับปัจจัยทั้งภายใน ภายนอกประเทศ ที่มีความรุนแรง มีพลวัตสูง และมีความซับซ้อน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด (Disruption) ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหรือโลกร้อน (Global Warming) ปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 ที่มีต้นกำเนิดมาจากไอเสียของการเผาไหม้จากยานยนต์ในการเดินทางและขนส่ง

ล่าสุดคือ วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของทุกประเทศทั่วโลก ทั้งด้านความต้องการซื้อรถยนต์ (Demand) ที่ลดลง และด้านการผลิตที่ชะลอตัวเนื่องจาก โรงงานประกอบรถยนต์และโรงงานผลิตชิ้นส่วนหยุดสายการผลิตตามมาตรการ Lockdown ของแต่ละประเทศ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ยานยนต์ไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตและการค้าของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยานยนต์ไฟฟ้าทางออกแก้วิกฤต


ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมมีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ทิศทางยานยนต์สมัยใหม่ของโลกพัฒนาไปสู่การขับขี่สู่ความยั่งยืน (Sustainable Mobility) ซึ่งหมายถึง รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (Motor Driven) ที่มีคุณสมบัติ “สะอาด ประหยัด ปลอดภัย”

รถยนต์ประเภทนี้มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก ดังนั้น ภาครัฐจึงได้กำหนดนโยบายสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือเรียกสั้นๆ ว่า xEV โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินมาตรการเพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งในปัจจุบันเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE ที่สำคัญของโลก พัฒนาและเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐาน การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าโดยเร็ว



มาตรการส่งเสริมรอบด้าน


สำหรับมาตรการที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอ ประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมการลงทุน (Supply Side) มาตรการกระตุ้นตลาดภายในประเทศ (Demand Side) การเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ศูนย์ทดสอบ และสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) รวมทั้ง การบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว


ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการติดตามการดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง พบว่า BOI ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในส่วนของรถยนต์นั่งทั้งสิ้น 13 โครงการ โดยมีกำลังการผลิตรวม 125,000 คันต่อปี ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในประเทศประมาณ 15,600 ล้านบาท และได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนการผลิตรถบัสไฟฟ้า 2 โครงการอีกด้วย


ถึงแม้ว่า จะมีนักลงทุนมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย แต่ในภาพรวม ยังไม่ได้สร้างให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย รวมถึง ยังมิได้ทำให้เกิดความเป็น ฐานการผลิต ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแท้จริง ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน หรือเพิ่มเติมมาตรการเข้าไป ประกอบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยมีแหล่งกำเนิดหลักมาจากการปล่อยมลพิษของยานยนต์ ซึ่งการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวได้


คลอดนโยบาย เร่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้า


7 กุมภาพันธ์ 2563 “พลเอก ประยุทธ์ จันท์โอชา” นายกรัฐมนตรี ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเพื่อเป็นกลไกในการกำหนดนโยบาย เร่งรัด และติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผนงานและเป้าประสงค์ ตลอดจน ให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว


สำหรับคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ มี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธาน การประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา มีความเห็นว่า ประเทศไทยต้องพัฒนาไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแน่นอน ตามทิศทางการพัฒนายานยนต์ของโลก และต้องทำให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายใน 5 ปี เพื่อรองรับการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งหากมีการสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศใดในภูมิภาคอาเซียนแล้ว ประเทศอื่นจะไม่มีโอกาสผลิตอีกเลย


ดังนั้น ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการฯ จึงได้กำหนดเป้าหมายใหม่เป็น ในปี 2573 จะมีการผลิตรถยนต์ xEV 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งหากในปี 2573 มีการผลิต ยานยนต์ 2.5 ล้านคัน จะต้องเป็นการผลิต xEV ประมาณ 750,000 คัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยในแต่ละระยะได้มีการกำหนดเป้าหมายการผลิตอย่างชัดเจน และครอบคลุมรถยนต์ประเภทต่าง ๆ ได้แก่ รถยนต์นั่ง รถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า และรถบัสสาธารณะ


เปิดการส่งเสริมxEVรอบสอง


ตามมติคณะกรรมการนโยบายไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อเร่งให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ที่ส่งผลให้ผู้ผลิตมีการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนและเร่งการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 โดยที่ประชุมเห็นชอบให้เปิดให้การส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานพาหนะไฟฟ้า (EV) รอบใหม่ หลังจากหมดระยะเวลาการยื่นคำขอรับการส่งเสริมไปตั้งแต่ปี 2561


สำหรับการเปิดการส่งเสริมการลงทุนในรอบนี้ เป็นแบบเปิดกว้างส่งเสริมยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งรถยนต์, รถจักรยานยนต์, รถสามล้อ, รถโดยสารและรถบรรทุก รวมถึงเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า จากเดิมที่มีการส่งเสริมเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าและรถโดยสารไฟฟ้า


ประกอบกับรัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยมีการจัดทำแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด – 19 พ.ศ. 2564 – 2565 ภายใต้แนวคิดการพัฒนาประเทศในการพร้อมรับ ปรับตัว และเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อม เติบโตอย่างยั่งยืน (Cope, Adapt, Transform: CAT)


ซึ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รวมทั้งสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการและแรงงาน ปัจจัยเกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งระเบียบ กฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน และอุปสงค์ของผู้บริโภคในประเทศให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และผู้ให้บริการซ่อมแซมและบำรุงรักษาที่อาจได้รับผลกระทบในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เป็นต้น


กระตุ้นภาคผู้ผลิตเร่งปรับตัว


นโยบายของภาครัฐดังกล่าว เป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ควบคู่ไปด้วย ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ภายในประเทศต้องยอมรับและเตรียมความพร้อมที่จะปรับตัวให้เติบโตต่อไป


ทั้งนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ควรมองเรื่อง การเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี “เป็นโอกาส” ไม่ใช่อุปสรรค สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในชิ้นส่วนหลักของยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนที่มีความสำคัญด้านประสิทธิภาพ ชิ้นส่วนด้านความปลอดภัยของรถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ Connected Vehicle ซึ่งสามารถเชื่อมต่อการเดินทางในรูปแบบต่าง ๆเพื่อไปสู่ยานยนต์อัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) ภายใต้แนวคิดยานยนต์สมัยใหม่ว่า CASE (Connected Automated Shared mobility and Electrified)


ดังนั้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนจำเป็นต้องมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานและมุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไปพร้อมกับผู้ผลิตรถยนต์ (OEM) อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องมีการพัฒนาระบบอุปกรณ์ตรวจจับ (Sensor) เพื่อติดตั้งในยานยนต์อัตโนมัติ โดยในการการยกระดับมาตรฐานและการวิจัยนั้น จำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาที่สำคัญ คือ ศูนย์ทดสอบ


ศูนย์ทดสอบยานยนต์พร้อม


คณะกรรมการฯ และกระทรวงอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการยกระดับมาตรฐานและการวิจัย เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และให้ไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์สมัยใหม่ของภูมิภาคอย่างยั่งยืน จึงได้ให้การจัดสรรงบประมาณสำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาที่สำคัญ คือ ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center หรือ ATTRIC) ณ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา


ศูนย์ทดสอบ ATTRIC แห่งนี้ถือเป็นศูนย์ทดสอบด้านยานยนต์แห่งแรกในภูมิภาค ASEAN ซึ่งจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนและยกระดับประเทศไทยให้เป็นคลัสเตอร์ด้านยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อย่างแท้จริง ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ (Product) มาตรฐาน (Standard) และนวัตกรรม (Innovation)


เนื่องจาก ศูนย์ทดสอบเป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญที่จำเป็นในการต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรม ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายของการลงทุนในการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต ตลอดจนเอื้อให้เกิดการลงทุนในกิจกรรมการวิจัยพัฒนาทดสอบสมรรถนะยานยนต์ต้นแบบ และชิ้นส่วนยานยนต์ต้นแบบในภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย


ถึงบรรทัดนี้ เริ่มเห็นแนวทางที่ชัดเจนของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ที่ภาครัฐนั้นออกโรงเดินหน้าสนับสนุน “ยานยนต์ไฟฟ้า” เช่นเดียวกับทิศทางของตลาดโลกอย่างชัดเจน ส่วนจะสามารถบรรลุได้ตามเป้าหมายหรือไม่ จะได้เห็นกันในไม่ช้าอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น