xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมตั้งเป้าเปลี่ยนรถสาธารณะเป็นไฟฟ้าใน 20 ปี-นำร่อง 6 จังหวัดและเรือไฟฟ้าใน กทม.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คมนาคม” วางแผนปรับรถขนส่งสาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าใช้เวลาเปลี่ยนผ่าน 20 ปี เผยยังมีอุปสรรค ทั้งต้นทุนสูง มาตรการภาษีและส่งเสริมการลงทุน สถานีชาร์จไฟ รวมถึงการกำจัดแบตเตอรี่หมดสภาพ ผุดโครงการนำร่องใน 6 จังหวัด และเรือไฟฟ้าใน กทม. 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือการศึกษายานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle:EV) ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณายานยนต์ไฟฟ้า สภาผู้แทนราษฎร ว่า เบื้องต้นคณะอนุกรรมาธิการพิจารณายานยนต์ไฟฟ้าได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอการขับเคลื่อนนโยบายของประเทศไทยซึ่งจะใช้ระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 15 ปี ในขณะที่กระทรวงคมนาคมศึกษาการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในรถสาธารณะ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 20 ปี  

เนื่องจากจะต้องศึกษาพิจารณาในเรื่องระเบียบกฎหมาย แผนส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยน เช่นมาตรการทางภาษี การส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนเนื่องจากพบว่ากรณีปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์จากดีเซลเป็นระบบไฟฟ้ามีต้นทุนสูงถึง 300,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงมาก นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ การบริหารจัดการแบตเตอรี่หลังจากหมดสภาพ 

จากการหารือพบว่าข้อมูลของคณะกรรมการฯ มีความสอดคล้องกับแผนงานและโครงการของกระทรวงคมนาคม เช่น การศึกษาการนำรถโดยสารสาธารณะด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้านำมาใช้ในเส้นทางนำร่องในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สาย 137 (รามคำแหง-ถนนรัชดาภิเษก), จ.เชียงใหม่ 
ระบบขนส่งมวลชนสายสีเขียว (สนามบินเชียงใหม่-ห้างฯ เซ็นทรัลเฟสติวัล) จ.นครราชสีมา ระบบขนส่งมวลชน (อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี-โรงเรียนสุรนารีวิทยา) 

จ.พระนครศรีอยุธยา รถโดยสารสาธารณะสายที่ 1 (วนซ้าย) และสายที่ 2 (วนขวา) เริ่มจากศาลากลางจังหวัด จ.ชลบุรี รถโดยสารสายที่ 1 (นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร-สถานีรถไฟชลบุรี) และ จ.ภูเก็ต เส้นทางรถสาย 1814 ผภูเก็ต-ป่าตอง 

ส่วนคมนาคมทางน้ำ กรมเจ้าท่ามีโครงการจัดหาระบบเรือโดยสารไฟฟ้าต้นแบบในคลองแสนแสบเพื่อประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มีความกังวลในเรื่องที่อาจจะกระทบต่อการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์มาอย่างยาวนาน (ดีทรอยต์) อาจจะถูกประเทศอื่นช่วงชิงไปได้เนื่องจากหลายประเทศที่เริ่มพัฒนาเพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแล้วทำให้มีความได้เปรียบประเทศไทย อาทิ บางประเทศมีแร่ในการทำแบตเตอรี่ เป็นต้น ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้มีการผลักดันและบีโอไอมีการส่งเสริมนักลงทุนในเรื่องดังกล่าวแล้ว 

ด้านสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่ได้ศึกษาแนวทางการผลักดันเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในการเดินทางนั้น พบว่ามีอุปสรรค 4 ข้อ คือ 1. ราคารถแพง มีต้นทุนนำเข้า การผลิตตัวรถและชิ้นส่วนมีราคาสูง จึงต้องมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและประกอบยานยนต์ไฟฟ้าจากบีโอไอ, ศึกษาราคาค่าไฟฟ้าสำหรับธุรกิจโดยสารสาธารณะที่เหมาะสม, ศึกษาความเหมาะสมในการดัดแปลงรถโดยสารดีเซลเป็นไฟฟ้า, บริหารจัดการแบตเตอรี่หลังหมดสภาพใช้งาน, พัฒนาอบรมบุคลากร 

2. ขาดจุดชาร์จไฟ 3. ขาดระเบียบรองรับเกี่ยวกับรถโดยสารไฟฟ้า 4. ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน 

ขณะที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ศึกษาในเรื่องมาตรการภาษีประจำปี การแยกข้อมูลเพื่อใช้วิเคราะห์แนวโน้มการพัฒนา การกำหนดเครื่องหมายยานยนต์ไฟฟ้า มาตรการส่งเสริมสร้างแรงจูงใจในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการขนส่งสาธารณะ



นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม


กำลังโหลดความคิดเห็น