สัมภาษณ์พิเศษ “กฤษฎา อุตตโมทย์” หลังเข้ารับตำแหน่ง นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย คนใหม่ล่าสุด กับภารกิจกำหนดนโยบายในการผลักดันให้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแจ้งเกิดได้อย่างเต็มตัว มาชมกันว่า วิสัยทัศน์ของนายกคนใหม่นี้เป็นอย่างไรบ้างกับคำถามแบบลงลึกทุกประเด็น
ทิศทางของยานยนต์ไฟฟ้าโลก
ส่วนใหญ่จะวางเป้าหมายไว้ที่ปี 2030 ซึ่ง Deloitte analysis ประเมินว่า ทั่วทั้งโลกจะมีรถยนต์ไฟฟ้า (xEV)ใช้งานประมาณ 2.5 ล้านคันในปี 2020 ต่อมาจะกลายเป็น 11 ล้านคันในปี 2025 และในปี 2030 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งอยู่ประมาณ 31 ล้านคันทั่วโลก ซึ่งหากคิดเป็นสัดส่วนในการขยายตัวของปริมาณรถยนต์แล้ว คาดว่าจะมียอดขายอยู่ราว 30% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั่วทั้งโลก
ซึ่งประเทศจีน จะเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด คาดว่าจะอยู่ประมาณ 49% ของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วทั้งโลก รองลงมาเป็นยุโรปที่ 27% และสหรัฐอเมริกา 14%
ภาพรวมรถยนต์ไฟฟ้าของไทย
เป็นไปในทิศทางเดียวกับยานยนต์ไฟฟ้าของโลก สำหรับปัจจุบันประเทศไทยมียานยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภททั้งสิ้น 177,617 คัน (ยอดจดทะเบียนสิ้นสุด 31 สิงหาคม 2563) แบ่งเป็นแบบ HEV/PHEV จำนวน 172,818 คัน และแบบ BEV 4,799 คัน
สำหรับยอดจดทะเบียนใหม่ ตั้งแต่ 1 มกราคม-31 สิงหาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 21,889 คัน แบ่งเป็นแบบ HEV/PHEV จำนวน 19,852 คัน และแบบ BEV 2,037 คัน นัยยะสำคัญของตัวเลขยอดจดทะเบียนรถใหม่นี้อยู่ที่การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าชนิด BEV ที่แม้จะยังไม่มากเมื่อเทียบกับยอดขายของรถทั่วไป แต่มีการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ เช่น MG ZS EV ที่มีราคาจับต้องได้
การส่งเสริมของภาครัฐ
ปัจจุบัน รัฐให้การสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าด้วยการลดอัตราภาษีสรรพสามิตเป็นหลัก สำหรับรถยนต์นั่งเรียกเก็บในอัตรา8-26% (ขึ้นอยู่กับไอเสียที่ปล่อยออกมา) ซึ่งต่ำกว่ารถชนิดอื่นๆ ที่เรียกเก็บระหว่าง12-40% และหากค่ายรถยื่นขอสนับสนุนโครงการจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) จะได้รับส่วนลดเพิ่มพิเศษ รถยนต์ไฟฟ้าชนิดใช้แบตเตอรี่จะเหลือพิกัดอัตราภาษีเพียง 2% เท่านั้น และหากเป็นรถไฮบริดจะได้รับส่วนลดครึ่งหนึ่งจากภาษีปกติ
ขณะที่รถเพื่อการพาณิชย์นั้นยังไม่ได้รับความสนใจเนื่องจากอัตราภาษีที่ประกาศออกมานั้นยังสูงกว่า อัตราภาษีปกติของรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ฉะนั้นจึงไม่เกิดแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนารถปิกอัพไฟฟ้า
นโยบายยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ
ล่าสุดรัฐบาลประกาศนโยบาย 30@30 คือการตั้งเป้าให้มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วน 30% ภายในปี 2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งในปัจจุบันอาจจะมีการปรับตัวเลขใหม่ให้สอดคล้องกับทิศทางของโลกอีกครั้ง หลังจากที่ตลาดเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากการแบนรถเครื่องยนต์ดีเซลในยุโรป ที่จะเป็นแรงผลักดันให้รถยนต์ไฟฟ้ามีสัดส่วนยอดขายเพิ่มสูงขึ้นขณะที่การขยายสถานีชาร์จจะส่งเสริมให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าในปี 2030 จะมีสถานีชาร์จไฟฟ้าจำนวน 100,000 แห่ง และกลายเป็น 200,000 แห่งภายในปี 2035 โดยในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 1,818 แห่ง
นโยบายของสมาคม
สมาคมมีสมาชิกที่เป็นองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกันมีทั้งสิ้น 152 องค์กร เช่น ค่ายรถยนต์เกือบทุกแบรนด์, การไฟฟ้า, กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, กลุ่มผู้ให้บริการชาร์จไฟฟ้า และบริษัทพลังงาน เป็นต้น ส่วนสมาชิกที่เป็นบุคคลจะมาจากนักวิชาการด้านต่างๆ ทั้งสิ้น 81 ท่าน เป้าหมายหลักของสมาคมคือการลดมลพิษทางอากาศให้ลดลงมากที่สุด และปรับปรุงพัฒนาการใช้พลังงานในภาคขนส่งให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด
การจำแนกยานยนต์ไฟฟ้า
แบ่งเป็น 3 ชนิดหลักๆ คือ ไฮบริด (HEV)ซึ่งสามารถแบ่งย่อยออกไปตามประเภทของระบบไฮบริดได้อีก โดยจะยังคงใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงหลักในการขับขี่ไม่สามารถชาร์จไฟได้ มอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามามีส่วนช่วยในการขับ , ปลั๊กอิน-ไฮบริด (PHEV) เป็นระบบที่สามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าได้ เติมน้ำมันได้ และ รถยนต์ไฟฟ้าชนิดแบตเตอรี่(BEV) ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าล้วนไม่มีเครื่องยนต์และไม่ต้องเติมน้ำมัน ใช้การชาร์จไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว
ขณะที่ยังมีรถอีกแบบหนึ่งคือ รถพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ซึ่งใช้ไฮโดรเจนในการสร้างกระแสไฟฟ้า เพื่อนำมาขับเคลื่อน นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของพลังงานสะอาดปราศจากมลพิษ
ปัจจัยที่ทำให้คนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
มีอยู่ 2 เรื่องหลักคือ ข้อแรกระยะทางวิ่ง หรือแบตเตอรี่ที่มีความจุมากเพียงพอ อีกสิ่งหนึ่งคือ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศรองรับ เช่นการหาที่ชาร์จไฟสะดวก เข้าถึงได้ง่าย หรือชาร์จที่บ้านได้โดยไฟฟ้าไม่ตกหรือดับ เมื่อทั้งสองอย่างนี้มีความพร้อม ผู้บริโภคจะหันมาใช้งานรถไฟฟ้ากันมากขึ้น
อุปสรรคของยานยนต์ไฟฟ้า
มีอยู่ด้วยกันหลายประเด็น เช่น จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าภาครัฐของไทยจะใช้หัวชาร์จแบบไหน แต่จากการศึกษาล่าสุดแนวโน้มชัดเจนที่สุดคงเป็นแบบ ไทร์ป ทู (Type 2) เป็นหลัก รวมถึงการยังไม่มีการอนุญาตให้เอกชนสามารถเรียกเก็บค่าชาร์จไฟฟ้าได้ โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการแม้จะมีการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าต้นทุนมาให้ผู้ประกอบการเรียบร้อยแล้ว แต่ผู้ประกอบการยังไม่สามารถเรียกเก็บได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
ทางสมาคมมีการนำเสนอข้อแนะนำให้ภาครัฐทั้งสิ้น 8 ประการ ได้แก่ การจัดทำแผนยานยนต์ไฟฟ้าแบบบูรณาการ , การปรับปรุงข้อกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง, การสิ่งเสริมให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ป้ายพิเศษเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า หรือ ส่วนลดที่ให้กับประชาชนที่ซื้อรถไฟฟ้าโดยตรง
รวมถึงการส่งเสริมการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะสามล้อและจักรยานยนต์ไฟฟ้า, ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย, จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง, เตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทั้ง 8 ประการนั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยไม่มีหัวข้อใดที่ภาครัฐประกาศเป็นนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม
“เราทำงานเพื่อให้การสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐเพื่อร่วมส่งเสริมการใช้และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย อันจะช่วยลดมลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมๆ ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้าต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้” กฤษฎา อุตตโมทย์ กล่าวตบท้าย