xs
xsm
sm
md
lg

ลองทางยาว “นิสสัน คิกส์” แรงแบบไฟฟ้า ประหยัดเท่าอีโคคาร์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เรียกว่าเป็นหนึ่งในโมเดลแห่งความหวังสูงสุด “นิสสัน คิกส์” ที่มากับเทคโนโลยีใหม่อย่าง “อี-พาวเวอร์” (e-Power) แต่ต้องมาผจญกับวิบากกรรมหลายซับหลายซ้อนทั้งจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ต้องเลื่อนการเปิดตัวไปจนถึงการเลื่อนลงโชว์รูม จนถึงขั้นต้องบอกว่า ลูกค้าที่ยังรอซื้อคิกส์อยู่ นิสสันควรจะต้องดูแลเขาเหล่านั้นในระดับเทพ เพราะเขาคือ ลูกค้าที่มั่นใจในนิสสันอย่างหาที่สุดมิได้

สำหรับนิสสัน คิกส์ หลังเปิดตัวลงโชว์รูมและเริ่มส่งมอบเรียบร้อย สื่อมวลชนจึงได้มีโอกาสทดลองขับแบบทางยาวๆ ในลักษณะของการใช้งานจริง โดยก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสทดลองขับแบบสั้นๆ ในสนามปิดมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้จะแตกต่างออกไป เพราะเป็นการขับที่มีทั้งขึ้นและลงเขา แม้จะไม่ชันมากแต่เพียงพอต่อการนำเสนอในสิ่งที่ใครหลายคนอยากทราบ


แรงแบบไฟฟ้า

ทบทวนความเข้าใจเบื้องต้นของระบบ อี พาวเวอร์ ในนิสสัน คิกส์ กันสักเล็กน้อยก่อน ประเด็นที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้หรือเถียงกันไม่จบคือ เจ้าระบบนี้แท้จริงแล้วคืออะไร เราขอทำความเข้าใจแบบนี้ โดยหลักการทำงานอธิบายแบบสั้นๆ คือ เอาเครื่องยนต์มาปั่นไฟ เพื่อนำกระแสไฟไปปั่นมอเตอร์ไฟฟ้า โดยที่เครื่องยนต์ไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับระบบขับเคลื่อน

ซึ่งในความรู้พื้นฐานที่โลกนี้ถ่ายทอดกันมา เราจะเรียกลักษณะของการทำงานแบบนี้ว่า ไฮบริดแบบซีรี่ส์ ซึ่งก็จะตรงกับการยื่นขอสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐของนิสสัน ที่ทำภายใต้เงื่อนไขไฮบริด และตรงกับการเสียภาษีสรรพสามิต รวมถึงการจดทะเบียนระบุอัตราภาษีเป็นไฮบริด


ขณะที่นิสสัน เรียกนิสสัน คิกส์ว่าเป็นรถไฟฟ้าที่ไม่ต้องชาร์จไฟ ซึ่งถือว่าไม่ผิดแต่อย่างใด เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบคือ คิกส์ นั้นใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนชุดเดียวกับ นิสสัน ลีฟ รหัส EM57 แต่มีการปรับแต่งให้มีกำลังเหมาะสมกับการใช้งาน แต่จะต่างจากลีฟ ตรงที่ คิกส์ อี พาวเวอร์ ไม่ต้องหาที่ชาร์จไฟ เพราะมีเครื่องยนต์มาปั่นไฟไว้ให้แล้ว ดังนั้นแบตเตอรี่จึงทำให้มีขนาดเล็กลงได้ ไม่จำต้องใช้ขนาดใหญ่ ตัดปัญหาในเรื่องของการหาที่ชาร์จและระยะเวลาการชาร์จนาน รวมถึงน้ำหนักตัวที่มากของรถออกไปได้

ฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะเรียกแบบใด สุดท้ายขอให้วัดกันที่ประสิทธิภาพและการใช้งานว่าจะตอบโจทย์ได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคหรือไม่จะดีกว่า


ส่วนพิกัดกำลัง นิสสัน คิกส์ มากับกำลังสูงสุดจากมอเตอร์ไฟฟ้า 129 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 260 นิวตันเมตร ระบบส่งกำลังแบบเกียร์เดียว แบตเตอรี่ลิเธียมขนาด 1.57 kWh เครื่องยนต์ทำหน้าที่ปั่นไฟเพียงอย่างเดียว ขับเคลื่อนล้อหน้า

โหมดการขับขี่มีให้เลือก 3 แบบ Normal, Smart และ Eco อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 10 วินาที ความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม อัตราบริโภคน้ำมันเคลมตามอีโคสติกเกอร์ 23.8 กม./ลิตร ขณะที่โหมดการขับแบบEV คือใช้ไฟฟ้าล้วน กรณีแบตเตอรี่เต็มจะวิ่งได้ระยะทางสูงสุดราว 5 กม. โดยเครื่องยนต์จะทำงานทันทีเมื่อแบตเตอรี่หลือปะจุไฟ 40%


















ขับสนุกประหยัดเท่าอีโคคาร์

การขับในคราวนี้ จุดใหญ่ใจความของผู้เขียน คือการทดลองหาประสบการณ์การขับขี่แบบถนนจริง และหาคำตอบในเรือง Engine Brake ที่ยืนยันตามหลักการขับรถไฟฟ้าว่า ไม่มีเครื่องยนต์ช่วยเบรก แต่จะมีระบบ Regenerative Braking เข้ามาช่วยแทน ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าดีกว่าแน่นอน

เริ่มกันเรื่องของ Engine Brake จากการสอบถามหัวหน้าทีมวิศวกรผู้พัฒนาและทีมงานนิสสันทุกคน ยืนยัน ตรงกันว่า “คิกส์ ไม่มี Engine Brake” แต่จะมีระบบ Regenerative Braking ทำงานแทน โดยจะใช้มอเตอร์ช่วยหน่วงเวลาที่รถขับลงทางลาดชันหรือลงเขา แล้วนำพลังงานจากการปั่นของล้อนั้นกลับมาเป็นไฟฟ้า เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนต่อไป ซึ่งมีผลดีสองอย่างคือ ได้ทั้งการเบรก และไฟฟ้ามาใช้งาน


เจ้าของรถยนต์นิสสัน คิกส์ หลายท่านที่ได้รับรถไปแล้วและลองใช้งานจริง ด้วยการลองขับแบบลงเขา พบว่า เครื่องยนต์นั้นติดขึ้นในระหว่างที่ลงเขา ทำให้เข้าใจว่า นิสสัน คิกส์ นั้นมีการใช้เครื่องยนต์มาช่วยเบรก แต่ความจริงแล้ว ที่เครื่องยนต์ติดขึ้นมานั้นมีหน้าที่สำคัญอื่น ดังคำอธิบายต่อไปนี้

เมื่อคุณขับรถลงเขา ระบบ Regenerative Braking จะทำงานชาร์จไฟกลับเข้าไปในแบตเตอรี่ และเมื่อแบตเตอรี่ถูกชาร์จจนเต็มแล้ว จะเกิดปัญหาว่า ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากการทำงานของระบบเบรกดังกล่าวจะยังคงมีอยู่ และเพื่อความปลอดภัยทำให้ไม่สามารถชาร์จเข้าแบตเตอรี่ต่อไปได้ จึงต้องหาทางให้พลังงานไฟฟ้าดังกล่าวมีที่ไป


ดังนั้นทีมวิศวกรจึงได้ออกแบบให้ กระแสไฟฟ้าส่วนเกินนั้นถูกนำไปใช้งานโดยเครื่องยนต์แทน เพื่อให้ระบบ Regenerative Braking ทำงานและปั่นไฟต่อไปได้ (ช่วยชะลอรถเวลาลงเขาโดยไม่ต้องเหยียบเบรกตลอดเวลา) ทั้งหมดเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่

จึงเป็นที่มาของ เครื่องยนต์ติดขึ้นเมื่อขับรถลงเขา อย่างไรก็ตาม การที่เครื่องยนต์ติดขึ้น จะไม่มีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแม้แต่หยดเดียว เพราะใช้ไฟฟ้าในการทำงานแทน คือกลับข้างการทำงานปกติที่ใช้เครื่องยนต์มาปั่นไฟนั่นเอง

ซึ่งในการขับคราวนี้มีเส้นทางขึ้นลงเขาแบบสั้นๆ และไม่ชันเพียงพอที่จะทดลองการทำงานของระบบดังกล่าวได้ แต่เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่า เมื่อขับคิกส์ลงเขา จะมีแรงหน่วงช่วยเบรก โดยไม่ต้องเหยียบเบรก ดังนั้นขอให้มั่นใจได้ แม้จะไม่มี Engine Brake แต่ระบบ Regenerative Braking ช่วยทำงานแทนได้อย่างไม่แตกต่าง


อีกหนึ่งฟังก์ชันที่เราตั้งใจมาทดลองขับในคราวนี้คือ ระบบ One Pedal คือ ระบบที่ใช้แค่แป้นคันเร่งเพียงอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องใช้แป้นเบรก ในการขับขี่ โดยระบบนี้จะทำงานได้ต้องเปลี่ยนมาใช้โหมด S หรือ ECO เท่านั้น

ลักษณะของการทำงานคือ ใช้การปล่อยคันเร่งแทนการเบรก โดยผู้ขับกะระยะเบรกเหมือนการเหยียบเบรก แต่ใช้การถอนคันเร่งแทน ซึ่งจะสะดวกมากหากใช้งานจนชินหรือขับขี่แบบในเมืองที่มีการจราจรติดขัด และไม่ต้องห่วงเมื่อระบบนี้ทำงานจะมีไฟเบรกที่ด้านท้ายติดขึ้นด้วย จึงสบายใจได้ในแง่ของความปลอดภัย

น่าห่วงเพียงอย่างเดียวคือ หากคุณใช้งานคันเร่งเดียว ในนิสสัน คิกส์ จนชินแล้วต้องไปขับรถคันอื่นที่ไม่มีระบบนี้ อาจจะลืมกดแป้นเบรกก็เป็นได้


สำหรับการขับขี่ทางยาวๆ รอบนี้ผู้เขียนขับรวดเดียว 300 กม. ความเร็วที่ใช้ส่วนมากอยู่ราว 100 กม./ชม. ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทีมงานสรุปข้อมูลให้ฟังเบื้องต้นว่า คิกส์จะมีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อใช้งานที่ความเร็วระหว่าง 80-120 กม./ชม.

อัตราเร่ง ทั้งการออกตัวและเร่งแซง คิกส์ทำได้อย่างประทับใจ ไม่มีข้อตำหนิ ให้ความรู้สึกไม่ต่างจากการขับรถยนต์ไฟฟ้า แต่จะมีแค่เพียงเมื่อกดคันเร่งหนักๆ จะมีเสียงเครื่องยนต์ดังเข้ามารบกวนในห้องโดยสาร หากขับแบบสบายๆ ไม่กดคันเร่งหนักเท้า หรือไม่ขับดัวยความเร็วสูง รถจะค่อนข้างเงียบดีทีเดียว


ความเร็วสูงสุดในการขับคราวนี้ เราลองวิ่งได้แตะที่ 165 กม./ชม. ซึ่งตามสเปคจะทำได้ 160 กม./ชม. ถือว่าปกติ เพราะเข็มไมล์ในรถจะอ่อนกว่าความเร็วจริงเล็กน้อย ขณะที่ขับด้วยความเร็วสูงแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่ประทับใจเราคือ ช่วงล่าง ให้ความรู้สึกมั่นใจ รถวิ่งนิ่ง ไม่มีการแกว่งหรือออกอาการลอยให้สัมผัสได้

นอกจากช่วงล่างที่โดดเด่นเป็นพิเศษแล้ว ยังมีเรื่องของพวงมาลัยที่ค่อนข้างเบามือ เหมาะกับคุณผู้หญิงใช้งานได้อย่างสบาย ทัศนวิสัยชัดเจนทุกมุมมอง ส่วนการนั่งเบาะหลังทำได้ดีไม่น้อยหน้ารถในระดับเดียวกัน นั่งยาวๆ ได้โดยไม่ออกอาการเวียนหัว


สิ่งเดียวที่ผู้เขียนติงสำหรับนิสสัน คิกส์ คือ คุณภาพของวัสดุภายในห้องโดยสาร เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในระดับเดียวกันที่จะเป็นวัสดุแบบสัมผัสนุ่ม Soft Touch กันเกือบหมดแล้ว แต่นิสสันเลือกใช้วัสดุร่วมกันกับรถรุ่นอื่นๆ ของนิสสัน แม้ผู้เขียนไม่บอก เชื่อว่าทุกท่านทราบเป็นอย่างดีว่า คิกส์ ใช้วัสดุร่วมกับรุ่นใด

ด้านระบบเสริมความปลอดภัยใส่มาให้ครบในแบบที่ใช้งานได้จริง ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติหรือICC ใช้งานได้จริง แต่มีขีดจำกัดในเรื่องความเร็วและทางโค้งอยู่บ้าง

ส่วนอัตราการบริโภคน้ำมันช่วงระยะทาง 100 กม.แรก แบบมีการใช้งานในเมืองร่วมด้วยนั้น หน้าจอระบุตัวเลข 17.9 กม./ลิตร และเมื่อขับแบบทางยาวๆ มีเร่ง มีผ่อน ไปจนถึงที่หมายรวมระยะทาง 300 กม. หน้าจอระบุ 15.1 กม./ลิตร


เหมาะกับใคร

นี่คือเทคโนโลยีสำหรับการเปลี่ยนผ่าน ใครที่อยากลองใช้รถยนต์ไฟฟ้าแต่กังวลเรื่องของที่ชาร์จไฟ นิสสัน คิกส์ จะตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุดที่สุด หรือคนที่ชอบขับรถเองอยากได้เอสยูวีขนาดเล็ก สมรรถนะเร่งทันใจ เกาะถนนหนึบ และประหยัดน้ำมันเท่าอีโคคาร์ คิกส์จะไม่ทำให้ผิดหวัง รวมถึงการใช้งานในเมืองเป็นหลัก คุณจะได้ความประหยัดที่มากกว่าขับทางยาวๆ ในราคาที่พอคบหาได้


















กำลังโหลดความคิดเห็น