กรมสรรพสามิตคาดงบปี 63 จัดเก็บภาษี 520,000 ล้านบาท หลังยอดขายรถยนต์เริ่มขยับ การใช้น้ำมันสูงขึ้น หลังโควิด-19 คลี่คลาย เตรียมเสนอคลังขยายเวลาผ่อนปรนภาษีเครื่องบิน
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตในรอบ 11 เดือน (ต.ค.62-ส.ค.63) ยอดรวม 503,882 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 35,185 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.53 รายได้ภาษีจัดเก็บสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 206,797 ล้านบาท ภาษีรถยนต์ 77,791 ล้านบาท ภาษีเบียร์ 73,352 ล้านบาท ภาษีสุรา 56,652 ล้านบาท และภาษียาสูบ 58,186 ล้านบาท
นายพชร กล่าวว่า จากเป้าหมายจัดเก็บภาษี 501,000 ล้านบาท เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ประชาชนออกเดินทางไปท่องเที่ยว มีการใช้น้ำมันสูงขึ้น สะท้อนได้จากยอดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพิ่มขึ้น และยอดจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้น แม้จะมีปัญหาช่วงโควิด-19 จึงคาดว่ายอดภาษีสรรพสามิตงบประมาณปี 2563 จัดเก็บได้ประมาณ 520,000 ล้านบาท ยอมรับว่าภาษีสรรพสามิตน้ำมันหากสูงมากเกินไปจะเป็นดาบสองคม ทำให้มีการลักลอบน้ำมันเข้าตามชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น กรมสรรพสามิตคาดว่าปีงบประมาณ 2564 จัดเก็บภาษีได้ประมาณ 534,000 ล้านบาท หากไม่มีเหตุการณ์ปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบอย่างรุนแรง
อธิบดีกรมสรรพสามิตยอมรับว่าในช่วงปัญหาโควิด-19 เมื่อรัฐบาลผ่อนปรนภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องบินไอพ่น (น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินฯ) สำหรับเที่ยวบินในประเทศ จากเดิม 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร กำหนดถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 กรมสรรพสามิตจึงเตรียมเสนอกระทรวงการคลังพิจารณา ยอมรับว่าแม้จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่เพื่อลดภาระต้นทุนให้แก่สายการบินส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงนี้ ส่วนการช่วยเหลือสภาพคล่องธุรกิจสายการบินภายในตุลาคมนี้ธนาคารออมสินเตรียมวงเงินซอฟต์โลนปล่อยกู้ผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะเวลา 60 เดือน เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาเร็วๆ นี้ เนื่องจากการท่องเที่ยวยังเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงปัญหาโควิด-19