xs
xsm
sm
md
lg

ซีพี ลุยเต็มสูบ ปั้นโฟตอน-เอ็มจี ชูธงรถ EV เตรียมเปิด HS PHEV และ Ei5

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ธนากร เสรีบุรี
เปิดแผนงานกลุ่มซีพี (CP) หลังเข้ามาลุยตลาดยานยนต์ในไทยผ่านร้อนหนาวมากว่า 5 ปี กับแบรนด์เอ็มจี และล่าสุดร่วมทุนกับโฟตอน ของจีน ซึ่งการเข้ามาทำธุรกิจนี้มีความตั้งใจจริงพร้อมเป้าหมายใหญ่คือการ “ผู้นำในตลาดรถยนต์พลังงานทดแทน” ซึ่งจะมีรถรุ่นใดเข้ามาบ้างและเขย่าตลาดได้ขนาดไหนต้องจับตา


SAIC-Motor CP เทเม็ดเงินหมื่นล้านสร้างโรงงาน


การร่วมทุนครั้งใหญ่ของกลุ่มซีพีและเอสเอไอซี มอเตอร์ ค่ายรถยนต์ยอดขายอันดับหนึ่งของประเทศจีน ซึ่งใช้เม็ดเงินลงทุนมากกว่า 10,000 ล้านบาท กับการสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย เพื่อเป็นฐานการผลิตรถพวงมาลัยขวาของแบรนด์ เอ็มจี รองรับการส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก


ปัจจุบันยอดขายเอ็มจีในประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงามด้วยยอดขายที่เติบโตขึ้นทุกปี โดยในปีที่แล้วมียอดจำหน่ายประมาณ 30,000 คัน และมีศูนย์บริการมากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ภายในเวลาการทำตลาดเพียง 5 ปีเท่านั้น

MG ZS EV รถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในไทย

ขอเป็นผู้นำรถยนต์พลังงานทดแทน


หนึ่งในรถที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชมคือ กระแสตอบรับที่ดีเกินคาดของรถยนต์ไฟฟ้า MG ZS EV ด้วยยอดจำหน่ายและส่งมอบเกินกว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้ ส่งผลให้กลยุทธ์ต่างๆ นับจากนี้จะก้าวไปในทิศทางของรถยนต์ไฟฟ้า


ธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม(จีน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ หัวเรือใหญ่ของกลุ่มซีพี ต่อทิศทางของตลาดรถยนต์และกล่าวต่อว่า “จีนเขาคิดแล้วว่าถ้าทำรถที่ใช้เครื่องยนต์ เขาจะตามยุโรปและญี่ปุ่นไม่ทันแน่ แต่ถ้าเขาทำรถยนต์ไฟฟ้า ทุกคนเริ่มต้นพร้อมกัน เขาจึงมองเห็นว่านี่คือโอกาส ฉะนั้นจีนจึงส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าทั้งการผลิตและการใช้งานของผู้บริโภค เพราะไม่ว่าอย่างไรอนาคตตลาดรถยนต์จะต้องมาในทิศทางนี้แน่นอน”


“ขอตำหนิรัฐบาลไทย มีแต่ราคาคุย ไม่ทำอะไรที่เป็นรูปธรรม ถ้าหากไทยช้า รถยนต์ไฟฟ้าจะไปเกิดที่เวียดนาม รัฐต้องทุ่มเต็มที่ อย่าห่วงกำไรของบริษัทรถยนต์มากจนเกินไป ส่วนบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน ถ้าได้ผลิตชิ้นส่วนในปริมาณมากจะทำให้ต้นทุนถูกลง เราได้เปรียบเพราะถ้าเทียบค่าแรงกันตอนนี้ค่าแรงจีนไม่ถูกแล้ว ดังนั้นรัฐควรเร่งส่งเสริมให้เกิดรถยนต์ไฟฟ้า”



สำหรับปัจจัยที่จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดได้นั้น เหมือนไก่กับไข่ คือ ผู้ประกอบการสถานีชาร์จต่างเรียกร้องให้มีรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาก่อน ส่วนผู้ผลิตรถยนต์ก็ต้องการให้มีสถานีชาร์จ มิฉะนั้นจะทำตลาดลำบากเพราะลูกค้าไม่สะดวกในการหาที่ชาร์จไฟ


ซึ่งประเด็นนี้ภาครัฐเพิ่งจะได้ข้อสรุปให้กับเอกชนที่จะลงทุนทำสถานีชาร์จว่า สามารถทำได้และอนุมัติการจัดเก็บค่าไฟฟ้าที่หน่วยละ 2.99 บาท โดยให้บวกเพิ่มค่าชาร์จได้ตามที่เอกชนกำหนด ทำให้ทางเอ็มจีเริ่มโครงการจัดตั้งสถานีชาร์จขึ้น



ประเดิม 30 สถานีชาร์จ


แผนจัดสร้างสถานีชาร์จวางเป้าหมายไว้ภายในปีนี้จะมีจุดชาร์จแบบไวจำนวน 30 แห่งทั่วประเทศ โดยเริ่มที่หัวเมืองใหญ่เช่น นครราชสีมา, หัวหิน และพัทยา ซึ่งจะใช้เงินลงทุนกว่า 50 ล้านบาท (ต้นทุน 1.5-2 ล้านบาทต่อหนึ่งหัวชาร์จแบบไว) โดยจะตั้งในทำเลที่ดีซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-eleven หรือ โชว์รูมรถยนต์เอ็มจี


“เราจำเป็นต้องทำเพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดได้ แม้จะรู้ว่าขาดทุนแน่นอนสำหรับการทำสถานีชาร์จ แต่เราเอากำไรจากการขายรถยนต์ไฟฟ้ามาถัวเฉลี่ยช่วย ซึ่งในปีนี้ทางเอ็มจี จะมีรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ออกมาทำตลาดอีก 2 รุ่น คือ MG HS PHEV และ อีกหนึ่งรุ่นคือ Ei5 EV Stationwagon” ธนากร กล่าวเมื่อถูกถามถึงรถยนต์รุ่นใหม่




MG HS PHEV รถแบบปลั๊กอินไฮบริด
จ่อคิว รุ่นต่อไป MG HS PHEV


สำหรับ MG HS PHEV เป็นรถแบบปลั๊กอินไฮบริด ที่ประกอบในประเทศไทยจากโรงงานของ SAIC-CP ที่จังหวัดระยอง โดยแนวโน้มราคานั้นทางผู้บริหารของซีพีระบุว่า จะใกล้เคียงกับเอชเอสรุ่นเครื่องยนต์ปกติ ให้ผู้บริโภคสามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายอย่างแน่นอน

ภายในของ MG HS PHEV หรูหราและมาในโทนสีฟ้า
ส่วนสเปกนั้นเช็คข้อมูลจากรถที่จำหน่ายในประเทศจีนจะใช้เครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.5 ลิตรเทอร์โบ กำลังสูงสุด 166 แรงม้า ผสานกับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 90 กิโลวัตต์(120 แรงม้า) ซึ่งเมื่อผสานกำลังทำงานในโหมดไฮบริดจะมีกำลังสูงสุดถึง 291 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 480 นิวตันเมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติชุดใหม่แบบ 10 สปีด ขับเคลื่อนล้อหน้า

เทคโนโลยีการขับเคลื่อน
แบตเตอรี่เป็นแบบลิเธียม ไอออน จากCATL ขนาดความจุ 16.6 kWh สามารถวิ่งได้ด้วยไฟฟ้าล้วนเป็นระยะทางสูงสุด 75 กิโลเมตร ทำให้เคลมอัตราการบริโภคน้ำมันเฉลี่ยไว้ที่ระดับต่ำเพียง 76.9 กม./ลิตร อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 5.8 วินาที MG HS PHEV มีราคาจำหน่ายในจีนเริ่มต้นที่ประมาณ831,000-985,000 บาท หลังการได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ส่วนในไทยอดใจรออีกไม่นาน

Ei5 ในประเทศจีนทำตลาดด้วยแบรนด์ Roewe ส่วนในไทยรอชมว่าจะใช้ชื่อว่าอะไรภายใต้แบรนด์ MG
Ei5 EV Stationwagon เตรียมนำเข้าจากจีน



ส่วนของ Ei5 นั้น จะนำเข้ามาจำหน่ายจากประเทศจีนภายใต้สิทธิประโยชน์ทางภาษีระหว่างอาเซียนกับจีน โดยเวอร์ชันที่จำหน่ายในประเทศจีนจะอยู่ภายใต้แบรนด์ Roewe ซึ่งอยู่ในเครือของ SAIC-Motor ด้วย


Ei5 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าชนิดใช้แบตเตอรี่ ในรูปแบบสเตชันแวกอน ขนาดของตัวถังจัดอยู่ในระดับคอมแพค สเปกที่จีนนั้นจะใช้แบตเตอรี่ขนาด 52.5 kWh สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลสุดราว 344 กม.ต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้ง กำลังสูงสุดจากมอเตอร์ไฟฟ้า 114 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 255 นิวตันเมตร ขับเคลื่อนล้อหน้า ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 150 กม./ชม. ซึ่งรถรุ่นนี้จะส่งไปจำหน่ายที่ยุโรปและอังกฤษด้วยเช่นเดียวกับ MG ZS EV ที่ส่งไปจำหน่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


ดังนั้นทันทีที่มีการขึ้นไลน์ประกอบรถพวงมาลัยขวา ประเทศไทยจึงได้รับสิทธิ์ในการทำตลาดด้วยอย่างแน่นอน เพราะตามแผนระยะยาวแล้ว โรงงานของ SAIC-CP ในไทยจะกลายเป็นฐานการผลิตรถพวงมาลัยขวาส่งออกไปทั่วโลก


ราคาจำหน่ายของ Ei5 ในประเทศจีนเริ่มต้นที่ประมาณ 580,000- 720,000 บาท หลังได้รับการเงินสนับสนุนราคาจากรัฐบาล ส่วนจะทำตลาดในไทยด้วยชื่อรุ่นใดยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้

แบตเตอรี่ของ CATL ที่อยู่ใน Ei5
ขณะที่เอ็มจียังมีอีกหนึ่งรุ่นที่จะทำตลาดในประเทศไทยจะเป็นรถในระดับหรูหราอย่าง Roewe 950 ที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาตลาด รวมถึงรถปิกอัพอย่างเอ็กซ์เทนเดอร์ ซึ่งอนาคตจะมาในรูปแบบของการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเช่นเดียวกัน




ซีพี-โฟตอน จับมือขาย รถบรรทุกไฟฟ้า


แบรนด์โฟตอนในประเทศไทย ไม่ถือว่าเป็นน้องใหม่เนื่องจากทำตลาดในไทยมานานกว่า 10 ปีแล้ว และล่าสุดทางกลุ่มซีพีได้เข้ามาถือหุ้นในส่วนของบริษัทฯด้านการขาย 51% และถือหุ้นในส่วนของโรงงานที่มีแผนจะดำเนินการ 49% โดยส่วนที่เหลือจะเป็นฝ่ายหุ้นส่วนจากจีนที่ถือร่วมกัน เป็นการแบ่งงานกันทำตามสิ่งที่ถนัดของแต่ละฝ่าย

CP Foton Aumark I-Blue รถบรรทุกไฟฟ้า มีใช้งานในประเทศจีนแล้ว
นายธนากรกล่าวถึงทิศทางของรถบรรทุกไฟฟ้าในอนาคต “เราเชื่อว่า รถบรรทุกไฟฟ้าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนและเกิดก่อนรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลด้วย เพราะรถบรรทุกขนส่งด้วยระยะทางที่แน่นอน จึงไม่ต้องกังวลเรื่องของการชาร์จไฟ รวมถึงค่าดูแลรักษาที่ถูกกว่า และค่าไฟฟ้าถูกกว่าค่าน้ำมันถึง 4 เท่าตัวทำให้ต้นทุนการขนส่งถูกลง เชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ภายในปี 2025 ราคารถยนต์และรถไฟฟ้าจะเท่ากัน”



สำหรับเป้าหมายระยะยาวของ ซีพี-โฟตอนช่วงแรกจะเป็นการนำเข้ามาจำหน่ายจากประเทศจีน และต่อไปภายใน 3 ปีข้างหน้าจะตั้งโรงงานประกอบรถบรรทุกขึ้น โดยยังไม่สามารถระบุเม็ดเงินลงทุนได้ในเวลานี้ ส่วนเป้าหมายการขายในปีนี้ตั้งไว้ที่ 450 คัน ปีหน้า 600-800 คัน และในปีที่ 3-5 จะอยู่ที่ระดับ 2,000 คัน ปัจจุบันยอดขาย 6 เดือนแรกของปีนี้ทำได้แล้ว 100 คัน


นายธนากรกล่าว “ปัจจัยที่ทำให้ซีพี-โฟตอนเติบโตแบบก้าวกระโดดได้นั้นมาจากการตั้งราคาที่เหมาะสมโดยถูกกว่ารถในระดับเดียวกันราว 20% และมีการบริการหลังการขายที่ดี อะไหล่เพียบพร้อม โดยตั้งเป้าเป็นหนึ่งในสามของผู้นำตลาดรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ของไทย”




ทั้งนี้ รถบรรทุกที่จะมาเปลี่ยนทัศนคติของผู้ประกอบการไทยคือ รถบรรทุกไฟฟ้า ของโฟตอน ที่สามารถนำเข้ามาทำตลาดได้ทันที รอเพียงความพร้อมของสถานีชาร์จที่ครอบคลุมเท่านั้น คาดว่าจะเป็นช่วงปีหน้า โดยมีราคาจำหน่ายในประเทศจีนเพียง 1,200,000 บาท และมีการวิ่งใช้งานจริงแล้วในเวลานี้


“สิ่งที่อยากได้จากรัฐบาลคือ นโยบายที่ชัดเจน อยากเห็นความแน่นอน เพื่อที่ว่าภาคเอกชนจะได้ลงมือทำงานรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ส่วนการจะทำให้รถใช้ไฟฟ้าแจ้งเกิดได้รัฐบาลเห็นตัวอย่างในต่างประเทศอยู่แล้วว่า เขาสนับสนุนอย่างไร เพียงแค่ทำตาม ประเทศไทยจะกลายเป็นผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้าได้ทันที” นายธนากรกล่าวทิ้งท้าย



ถึงบรรทัดนี้ การเลือกเข้ามาลุยธุรกิจรถยนต์ของซีพี ที่หลายคนสงสัยว่าเพราะเหตุใด ฉะนั้นเมื่อพิจารณาถึงเป้าหมายที่มองไปข้างหน้าของผู้บริหารซีพีแล้วแล้ว จะเห็นว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้ากำลังกลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่ของโลก และซีพีกำลังมุ่งไปทางนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใด ซีพี จึงประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ เพราะเขามองเห็นอนาคตและโอกาสก่อนใครอื่น


กำลังโหลดความคิดเห็น