จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดรถยนต์ทั่วโลกรวมถึงใประเทศไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็นการหยุดไลน์ประกอบรถยนต์ชั่วคราว การปรับรูปแบบการทำงานใหม่ โชว์รูมรถยนต์ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ โดยเฉพาะการขายรถยนต์นั้นลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ จนทำให้ค่ายรถยนต์ต่างต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับรูปแบบการดำเนินชีวิตใหม่ ท่ามกลางวิกฤตที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร
ทีมงาน "เอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง" รวบรวมแนวทางการปรับตัวและรับมือพร้อมกับการคาดการณ์ตลาดรถยนต์ในช่วงครึ่งปีหลังของค่ายรถยนต์แถวหน้าว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไรบ้าง
โตโยต้าคาดเป้ารวมปีนี้ 660,000 คัน
มิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า แผนการรับมือของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ในส่วนของโรงงานประกอบรถยนต์ มีการปิดไลน์ผลิตนานกว่า 1 เดือน ไม่มีการลดคนหรือปลดพนักงานออกแต่อย่างใด และใช้ช่วงเวลาดังกล่าวบำรุงดูแลเครื่องจักร-พัฒนาทักษะของพนักงาน ขณะเดียวกันให้ดีลเลอร์พยายามรักษาสถานะการจ้างงานของพนักงานทุกคน ให้พนักงานขายและพนักงานดูแลหลังการขายปรับการจัดการโดยให้ใช้ช่องทางออนไลน์ในการติดต่อลูกค้าแทน พร้อมเชิญลูกค้านำรถยนต์เข้ามาซ่อมบำรุงที่ศูนย์บริการหรือจัดให้มีบริการซ่อมบำรุงแบบเคลื่อนที่ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ยังคงมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เหมือนเดิม ได้แก่ โคโรลล่า ครอส และเปิดตัวรุ่นปรับโฉมของ ไฮลักซ์ รีโว่ และฟอร์จูนเนอร์ ถือว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นตลาดให้คึกคักได้มากขึ้น รวมถึงกิจกรรมบ้างรายการอย่างการจัดแข่งรถ 4 ภูมิภาค “Toyota Gazoo Racing Motorsport 2020” ยังคงทำอยู่ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่
ขณะที่ยอดขายในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โตโยต้าคาดการณ์ตลาดรถยนต์รวมในประเทศปี 2563 อยู่ที่ 940,000 คัน และตั้งเป้าหมายการขายรถยนต์โตโยต้าไว้ที่ 310,000 คัน แต่ทว่านับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมา การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการของตลาดลดลงอย่างฉับพลัน ทั้งตลาดรถยนต์ในประเทศและตลาดการส่งออก “โตโยต้าปรับเป้าหมายยอดขายในปี 2563 ใหม่เป็น 220,000 คัน ลดลง 33.8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งทางการตลาด 33.3% ส่วนตลาดรวมนั้นคาดว่าจะมียอดขายประมาณ 660,000 คัน”
อีซูซุ ชี้ครึ่งปีหลังหดตัวเท่ากับครึ่งปีแรกคือ ลดลง 38%
ทาเคชิ คาซาฮาระ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าวว่า ครึ่งแรกของปีนี้ตลาดรถยนต์รวมได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ยอดขายรวมลดลงไปประมาณ 38% โดยทุกเซกเมนท์หดตัวลง อีซูซุได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกันโดยในช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคมที่ผ่าน เป็นช่วงที่วิกฤตยังรุนแรงอยู่ ทำให้ลูกค้าไม่มาโชว์รูม จึงมีการปรับเปลี่ยนใช้ช่องทางออนไลน์ติดต่อกับลูกค้ามากขึ้น ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีมาก ประกอบกับอีซูซุมีการปรับรูปแบบในโชว์รูมทั่วประเทศใหม่ ใส่ใจเรื่องสุขอนามัยของลูกค้ามากกว่าเดิม ทำให้ลูกค้าผ่อนคลายและมาโชว์รูมมากขึ้น
ในส่วนของยอดขายรถอีซูซุ 6 เดือนแรกรวมทุกประเภทขายได้ 76,054 คัน เฉพาะปิกอัพขายได้ 67,625 คัน แต่ถ้าเทียบกับครึ่งปีแรกของปีที่แล้ว ยอดขายปิกอัพอีซูซุลดลง 12% ขณะที่ยอดขายรวมรถอีซูซุทุกประเภทลดลง 15% ถือว่าหดตัวน้อยกว่าตลาดรถยนต์โดยรวมเป็นอย่างมาก โดยครึ่งปีแรกของปี 2020 อีซูซุมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 45.2% และมีส่วนแบ่งตลาดรวม 23.3%
“ช่วงครึ่งปีหลัง คิดว่ายังมีปัจจัยลบเยอะมาก เพราะสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ยังมองไม่เห็นทางออกที่จะคลี่คลาย ผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว การส่งออก และอัตราคนว่างงานก็ยังเป็นเช่นเดิม และที่น่าเป็นห่วงอีกอย่าง คือ NPL หรือหนี้เสีย ซึ่งจะมองเห็นชัดในช่วงครึ่งปีหลัง ดังนั้นตลาดรถในครึ่งปีหลังอย่างดีที่สุด คือ หดตัวเท่ากับครึ่งปีแรก นั่นคือ ลดลง 38%”
ส่วนยอดขายรถในปี 2020 นี้ อีซูซุ ประเมินว่าคาดการณ์ได้ยากมาก เพราะมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนหลายอย่าง แต่หากเทียบยอดขายรวมของปีที่ก่อน แล้วหักสัดส่วนที่ลดลง 38% น่าจะมียอดขายราว 600, 000 กว่าคัน
ฮอนด้า มองทิศทางตลาดรถเริ่มฟื้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด“เรามองว่าทิศทางของตลาดรถยนต์เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นแบบชัดเจน แต่จะเป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งดีกว่าที่คาดไว้ในช่วงแรก ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของภาครัฐที่จัดการกับวิกฤตการณ์นี้ได้ดี ส่วนการแข่งขันในตลาดเวลานี้รุนแรงมาก โดยฮอนด้าจะพยายามรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้”
ที่ผ่านมา ฮอนด้า มีการปิดโรงงานเป็นระยะเวลา 1 เดือนในช่วงการระบาดหนักของไวรัสโควิด-19 เพื่อลดภาระการสต็อกรถของดีลเลอร์ โดยมีการปรับรูปแบบการบริการหลังการขายใหม่ ใช้การจองผ่านออนไลน์ บริการช่วยเหลือนอกสถานที่ หรือนำรถมาจอดทิ้งไว้เพื่อรับบริการ รวมถึงการดูแลรถยนต์ให้ถึงบ้าน
ส่วนเป้าหมายการขายปีนี้ตั้งธงไว้ที่ 95,000 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาดราว 30% ของตลาดรถยนต์นั่ง โดย 6 เดือนแรก ฮอนด้า มียอดขายทั้งสิ้น 41,326 คัน ขณะที่ตลาดรถยนต์รวมคาดว่าทั้งปีมียอดขายประมาณ 680,000 คัน และตลาดรถยนต์นั่งมียอดขายราว 304,000 คัน
สำหรับแผนงานต่างๆ ทั้งการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่นั้น ขณะนี้ยังคงดำเนินการตามกำหนดการเดิม การแพร่ระบาดของไวรัสไม่ส่งผลกระทบจนถึงขั้นต้องเลื่อนแต่อย่างใด ส่วนการขยับเวลาบังคับใช้มาตรฐานไอเสียให้ยาวขึ้นไปนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ภาคเอกชนมีเวลาปรับตัวได้ทัน
มาสด้า ปรับเป้าใหม่ คาดครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้น
นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การปรับตัวของมาสด้านั้น ปัจจุบันโรงงานประกอบรถยนต์มีการลดกำลังการผลิตเหลือ 50% ของกำลังการผลิตสูงสุด และมีการเปิดโครงการสมัครใจลาออกเพื่อลดต้นทุนเนื่องจากยอดขายที่ลดลงเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมกับการส่งเสริมให้ดีลเลอร์ยกระดับการบริการหลังการขายให้ดีขึ้นและเพิ่มการบริการในลักษณะจุดเดียวเบ็ดเสร็จ
สำหรับยอดขาย 6 เดือนแรกของปีมาสด้าทำได้ 15,408 คัน ครองอันดับ 6 สัดส่วนการตลาด 4.8% โดยในปีนี้ตั้งเป้าหมายการขายไว้ที่ 40,000-42,000 คัน สัดส่วนการตลาดราว 6% จากการประเมินว่าตลาดรถครึ่งปีหลังจะมีทิศทางทางที่ดีขึ้นและสามารถทำยอดขายรวมทั้งปีได้ในระดับ 650,000-700,000 คัน
“เดิมเมื่อต้นปีเราตั้งเป้าขายปีนี้ 60,000 คัน แต่สถานการณ์เปลี่ยนไป ทำให้ต้องปรับเป้าใหม่ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ไตรมาสแรกหดตัว 1.8% แต่การใช้จ่ายครัวเรือนกลับดีขึ้น บวก 3% ซึ่งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ภาครัฐทำได้ดีกับการควบคุมการระบาด ทำให้เราคาดหมายว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้แบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะเราได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว โดยครึ่งปีหลังตลาดรถยนต์รวมน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก”
ขณะที่แผนงานในอนาคตเกี่ยวรถไฟฟ้าไฮบริดที่ยื่นขอการสนับสนุนจากบีโอไอ ทางมาสด้าได้รับการอนุมัติเรียบร้อยแล้วเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีกำหนดระยะเวลา 3 ปีในการดำเนินการ ซึ่งทางมาสด้าอยากให้ภาครัฐยืดหยุ่นด้วยการขยายระยะเวลาเริ่มต้นโครงการออกไปเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 นั้นยังไม่สามารถประเมินได้
เอ็มจี ยันแผนงานอนาคตเหมือนเดิม รถใหม่ -รถไฟฟ้า
นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ของไทยหดตัวอย่างรุนแรง โดยช่วงครึ่งปีแรกนั้นมียอดจำหน่ายลดลงเกือบ 40% เฉพาะเดือนเมษายน นี้ มียอดขายตกต่ำที่สุด แต่ทางเอ็มจีมีการปรับตัวเพิ่มด้วยการเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และจัดให้มีรถบริการนอกสถานที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าไม่ต้องขับรถเข้ามาที่โชว์รูม
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปัจจุบันเริ่มดีขึ้น ยอดขายเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน รวมถึงการจัดงานแสดงรถยนต์มีส่วนช่วยให้ตลาดคึกคักมากขึ้น แม้ยอดจองในงานจะลดลงกว่าเดิมราว 20-30% ก็ตาม แต่ถือว่าช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี
“แนวโน้มเศรษฐกิจน่าจะทรงตัวพอๆ กับปีที่ผ่านมา ส่วนตลาดรถยนต์คาดว่าไตรมาส 4 จะเข้าสู่ภาวะปกติได้ ถ้าไม่มีปัญหาอื่นมากระทบเพิ่มขึ้น และสิ้นปีน่าจะทำยอดขายรวมได้ราว 700,000 คัน ลดลงจากปีก่อน 30% ถือว่าดีขึ้นจากเดิมที่เคยประเมินว่าจะลดลงถึง 40%”
เป้าหมายการขายปีนี้ของเอ็มจีตั้งไว้ที่ 30,000 คัน โดยครึ่งปีแรกมียอดขายรวมทั้งสิ้น 10,902 คัน ส่วนแผนงานในอนาคตจะมีรถยนต์รุ่นใหม่เปิดตัวปีนี้อย่างแน่นอน และรถไฟฟ้าจะเริ่มประกอบในประเทศไทยได้ราวปลายปีหน้าหรืออย่างช้าต้นปี 2022
ฟอร์ด มั่นใจโควิดไม่ระบาดรอบ 2 ผลลัพธ์น่าจะดี
นายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดรถยนต์รวมตกลงราว 38% โดยตลาดรถยนต์นั่งหดตัว 42% และรถปิกอัพหดตัว 33% ซึ่งเดือนเมษายนคือช่วงที่ตลาดรถยนต์ตกต่ำที่สุด ฟอร์ดรับมือกับสถานการณ์นี้ด้วยการมีโปรแกรมให้พนักงานสมัครใจลาออกเพื่อปรับจำนวนพนักงานให้เหมาะสมกับการผลิต รวมถึงมีการหยุดการผลิตในช่วงระยะเวลาหนึ่งโดยปัจจุบันกลับมาผลิตเป็นปกติทั้ง 2 แห่งเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ยอดขายของฟอร์ครึ่งปีแรกมียอดขาย 11,534 คัน โดยตั้งเป้าทั้งปีเอาไว้ที่ 20,000-30,000 คัน เนื่องจากคาดว่าจะไม่มีการระบาดรอบสอง และตลาดปิกอัพมีทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ภาคการขนส่งนั้นยังเติบโตและช่วยพยุงเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้
“มองภาพตลาดรถยนต์ครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งแรก ซึ่งถือว่าเป็นปกติแบบนี้ทุกปี ฉะนั้นจึงคาดว่าครึ่งปีหลังจะขายได้ราว 330,000 คัน และเมื่อรวมทั้งปีน่าจะเห็นตัวเลขราว 650,000 คันได้ไม่ยาก ทั้งนี้ ภาพรวมของการจัดการกับการแพร่ระบาดนั้นคนไทยรักกันและร่วมมือกันจึงได้ผลลัพธ์ที่ดีออกมาอย่างที่เห็นในเวลานี้”
ส่วนแผนงานฟอร์ดมีการจัดมอเตอร์โชว์ออนไลน์ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้ชม และแผนงานต่างๆ เกี่ยวกับการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ที่วางไว้นั้นจะดำเนินการตามปกติ ไม่มีการเลื่อนแต่อย่างใด ขณะที่ดีลเลอร์ จะมีการช่วยเหลือด้วยการจัดการสต็อกรถให้เหมาะสมและลดค่าใช้จ่าย รวมถึงทำการจ่ายเงินให้ดีลเลอร์เร็วขึ้น เพื่อรักษากระแสเงินสดของดีลเลอร์ให้อยู่ในภาวะสมดุล สำหรับลูกค้าจะมีการออกแพคเกจส่งเสริมการขายและสินเชื่อที่เหมาะสมเพื่อให้ลูกค้าสามารถเป็นเจ้าของรถฟอร์ดได้อย่างสบายใจ