xs
xsm
sm
md
lg

มาสด้า จ่อเลื่อนไฮบริด-ปิกอัพ BT-50 พร้อมปรับกลยุทธ์รับพิษโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มาสด้า เจอพิษโควิด-19 กระทบหนัก จ่อเลื่อนแผนไฮบริดหลังได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนเรียบร้อย ยื่นขอขยายระยะเวลา เหตุจากกำลังซื้อลดลง ยอดขายตลาดรถหดตัว ระบุปิกอัพใหม่ ใช้ชื่อ “บีที-50” แน่นอน แต่ยังไม่ฟันธงจะเปิดตัวได้เมื่อไหร่คาดราวปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ขึ้นกับสถานการณ์



นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ตลาดรถยนต์ไทยได้รับผลกระทบโดยตรงยอดขายรถยนต์รวมทั้งตลาดช่วง 6 เดือนแรกทำได้ราว 320,000 คันลดไป 38% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน


นายชาญชัย ตระการอุดมสุข
ขณะที่มาสด้ามียอดขายทั้งสิ้น 15,408 คัน ครองอันดับ 6 สัดส่วนการตลาด 4.8% โดยในปีนี้ตั้งเป้าหมายการขายไว้ที่ 40,000-42,000 คัน สัดส่วนการตลาดราว 6% จากการประเมินว่าตลาดรถครึ่งปีหลังจะมีทิศทางทางที่ดีขึ้นและสามารถทำยอดขายรวมทั้งปีได้ในระดับ 650,000-700,000 คัน

“เดิมเมื่อต้นปีเราตั้งเป้าขายปีนี้ 60,000 คัน แต่สถานการณ์เปลี่ยนไป ทำให้ต้องปรับเป้าใหม่ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ไตรมาสแรกหดตัว 1.8% แต่การใช้จ่ายครัวเรือนกลับดีขึ้น บวก3% ซึ่งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ภาครัฐทำได้ดีกับการควบคุมการระบาด ทำให้เราคาดหมายว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้แบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะเราได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว โดยครึ่งปีหลังตลาดรถยนต์รวมน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก” นายชาญชัยกล่าว



สำหรับการจัดแสดงรถยนต์ในงานมอเตอร์โชว์นั้นถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ลูกค้าเริ่มกลับมาเข้าสู่การเลือกซื้อรถอีกครั้ง ซึ่งช่วงที่ผ่านมานั้นลูกค้าชะลอการตัดสินใจ ประกอบกับสถานบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีสัดส่วนการอนุมัติสินเชื่อผ่านราว 65% ขณะที่ไม่ผ่านมากถึง 35%



นายชาญชัยกล่าวว่า ในส่วนของรถยนต์รุ่นใหม่ในปีนี้ ยังไม่สามารถตอบอย่างชัดเจนได้ว่า ปิกอัพ บีที-50 นั้นจะสามารถเปิดตัวได้ทันในปีนี้ตามแผนเดิมหรือไม่ หรืออาจจะต้องเลื่อนไปเป็นช่วงต้นปีหน้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ว่าจะเป็นไปอย่างไร

“การเปิดตัวมาสด้า บีที-50 นั้นมีขึ้นที่ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกเนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ของภูมิภาคนี้ โดยเป็นรถที่ส่งไปจากประเทศไทย จากโรงงานประกอบรถยนต์ของอีซูซุ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของมาสด้าและอีซูซุ ส่วนรายละเอียดต่างๆ และกำหนดการเปิดตัวของบีที-50ที่จะจำหน่ายในประเทศไทยนั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณาตามความเหมาะสม ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนได้ในขณะนี้”



ขณะที่การปรับตัวด้านกลยุทธ์จะหันไปส่งเสริมให้ดีลเลอร์ยกระดับการบริการหลังการขายให้ดีกว่าเดิม พร้อมกับการขยายขอบเขตการให้บริการที่คลอบคลุมในลักษณะของบริการเบ็ดเสร็จในจุดเดียว ซึ่งดีลเลอร์ที่มีความพร้อมในด้านสถานที่อาจจะต้องลงทุนเพิ่มในส่วนของศูนย์ซ่อมสีและตัวถัง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการดึงลูกค้าให้เข้ารับบริการมากขึ้นอย่างชัดเจน




ด้านนายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย กล่าวว่า จากสถาการณ์วิกฤตไวรัสที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนของทุกบริษัท รวมถึงมาสด้าด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากสภาพของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่หดตัว จึงต้องมีการปรับแผนหลายประการ เช่นในส่วนของโรงงานที่มีการปรับปริมาณกำลังการผลิตให้เหมาะสมกับยอดขาย เป็นต้น


อนึ่ง โรงงานประกอบรถยนต์เอเอทีที่มาสด้าใช้ร่วมกันกับฟอร์ดในสัดส่วนการผลิต 50-50 มีกำลังการผลิตรวม ทั้งหมด130,000 คัน ปัจจุบันลดกำลังการผลิตเหลือเพียง 50% ของกำลังการผลิตสูงสุด และมีการเปิดโครงการสมัครใจลาออกเพื่อลดต้นทุนเนื่องจากยอดขายที่ลดลงเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา



นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์
สำหรับการยื่นขอสนับสนุนการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ภายใต้โครงการรถยนต์ไฮบริดนั้น มาสด้า ได้รับอนุมัติใบอนุญาตเรียบร้อยเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งมีกำหนดตามเงื่อนไขคือ การเริ่มต้นผลิตและจำหน่ายภายในกรอบระยะเวลา 3 ปีนับจากได้รับอนุญาต

“อย่างที่ทราบกันดีว่า วิกฤตไวรัสโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดรถยนต์เป็นอย่างมาก ดังนั้นเราจึงอยากขอให้บีโอไอทบทวนเรื่องของเงื่อนไขระยะเวลาในการเริ่มดำเนินโครงการ เนื่องจากจำนวน 3 ปีนั้นอาจจะเร็วเกินไป หากขยับเวลาให้ยาวขึ้นหรือยึดหยุ่นได้มากกว่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีโอกาสปรับตัวได้อย่างเหมาะสม” นายธีร์ กล่าว



ขณะที่การขอสนับสนุนด้านนโยบายจากภาครัฐนั้น มีสองประเด็นสำคัญที่อยากให้ทำอย่างเร่งด่วน ได้แก่ หนึ่งเร่งรัดการเบิกใช้งบประมาณของภาครัฐ และการปรับความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อลง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ และจะทำให้ภาคประชาชนฟื้นตัวอย่างรวดเร็วด้วยเช่นเดียวกัน



นายธีร์ เปิดเผยว่า สำหรับโชว์รูมของมาสด้านั้นปัจจุบันมีทั้งสิ้น 138 แห่ง แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 37 แห่งและต่างจังหวัด 101 แห่งกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ส่วนการขยายโชว์รูมนั้นยังดำเนินการตามแผนเดิมที่มีเป้าหมายให้ดีลเลอร์มีกำไรดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ไม่เน้นในเรื่องของจำนวน แต่จะมุ่งเน้นเรื่องของคุณภาพการบริการหลังการขาย และเพิ่มขีดความสามารถในการดูแล เช่น การเพิ่มศูนย์ซ่อมสีและตัวถังให้มากขึ้น



“ประเด็นเรื่องของค่าแรงที่ไม่เท่ากันในแต่ละศูนย์บริการนั้น เป็นนโยบายของมาสด้าที่ให้อิสระแต่ละแห่งในการคิดค่าบริการเนื่องจาก ต้นทุนของแต่ละแห่งไม่เท่ากัน และ จะเป็นการช่วยยกระดับการให้บริการลูกค้าที่ดีขึ้นด้วยอีกทางหนึ่ง ส่วนราคาอะไหล่นั้นเรามีการปรับลดลงหลายรายการจากการเจรจากับผู้ผลิตอะไหล่ป้อนให้มาสด้า เพื่อให้ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายต่ำลงในการบำรุงดูแลรักษารถยนต์มาสด้า” นายธีร์ กล่าวตบท้าย




กำลังโหลดความคิดเห็น