ตามปกติในช่วงไตรมาสแรกของปียอดขายในอุตสาหกรรมรถยนต์ค่อนข้างจะคึกคัก เพราะแต่ละค่ายต่างพร้อมใจกันเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่กันอย่างเอิกเกริก บางค่ายแม้จะไม่มีโมเดลใหม่แต่ก็พยายามแต่งหน้าทาปากให้รถยนต์ของแบรนด์ตัวเองดูสดใหม่อยู่เสมอ แต่กลายเป็นว่าในปีนี้ทุกอย่างกลับตาลปัตรเพราะยอดขายที่เคยคิดว่าจะกอบโกยตั้งแต่ในช่วงแรกของปี กลายเป็นจะต้องประคองตัวอย่างไรให้พ้นวิกฤติโควิด-19 โรคระบาดที่ดึงเศรษฐกิจและธุรกิจในโลกนี้ให้พังไปตามๆ กัน
ตัวเลขยอดขายรถยนต์จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พบว่ายอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ในเดือนพฤษภาคม 2563 การผลิตจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนพฤษภาคม 2563 มีทั้งสิ้น 56,035 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2562 ร้อยละ 69.1 จากการผลิตเพื่อส่งออกลดลงร้อยละ 61.93 และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลงร้อยละ 76.89 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2563 ร้อยละ 126.76 เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่กลับมาเปิดทำการ และโรงงานเริ่มเปิดสายการผลิตรถยนต์
ลดลงทั้งยอดผลิต-ขายและส่งออก
จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 534,428 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2562 ร้อยละ 40.16 รถยนต์นั่ง เดือนพฤษภาคม 2563 ผลิตได้ 20,110 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2562 ร้อยละ 71.81
ด้านการผลิตเพื่อส่งออกเดือนพฤษภาคม 2563 ผลิตได้ 35,965 คัน เท่ากับร้อยละ 64.18 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2562 ร้อยละ 61.93 โดยเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2563 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 303,582 คัน เท่ากับร้อยละ 56.8 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2562 ระยะเวลาเดียวกัน ร้อยละ 35.85
ยอดการผลิตรถจักรยานยนต์เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 787,648 คัน ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 25.27 แยกเป็นรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) 606,696 คัน ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 25.74 และชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ (CKD) 180,952 คัน ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 23.63 โดยในเดือนพฤษภาคม 2563 ผลิตรถจักรยานยนต์ได้ทั้งสิ้น 78,949 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2562 ร้อยละ 62.42 แยกเป็นรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) 66,669 คัน ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 60.74 และชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ (CKD) 12,280 คัน ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 69.5
ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนพฤษภาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 40,418 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 54.12 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2563 ร้อยละ 34.24 ยอดขายภายในประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้นและการช่วยเหลือของรัฐบาลต่อผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19
ดัชนีความเชื่อมั่นแม้ดูดีแต่ยังน่าหวั่นใจ
แน่นอนว่าหลังจากภาครัฐสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้และมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในระยะที่1 และระยะที่ 2 รวมถึงการผ่อนคลายการห้ามออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว) จากเดิมเวลา 22.00-04.00 น. เป็น 23.00-04.00 น.ส่งผลดีต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้หลายโรงงานผลิตรถยนต์กลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจซื้อรถยนต์คือความเชื่อมั่นของคนจะยังคงไม่สู้ดีนัก เพราะแม้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2563 จะอยู่ที่ระดับ 78.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 75.9 ในเดือนเมษายน 2563
โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน รวมไปถึงภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (ธปท.) ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือร้อยละ 0.50 ต่อปี ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการลดลง แต่ในส่วนของตัวผู้ประกอบการเองนั้นยังมีความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งกระทบต่อการค้าการลงทุนและการจ้างงาน
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,157 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนพฤษภาคม 2563 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผู้ประกอบการร้อยละ 71.2 มีความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19, สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 47.7 โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 43.4 และราคาน้ำมัน ร้อยละ 32.5 ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง คืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 17.6
ส่วนดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 91.5 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 88.8 ในเดือนเมษายน 2563 เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่าการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐในระยะต่อไปจะส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่หลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เช่นกัน ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศกลับมาขยายตัว แต่อย่างไรก็ตามค่าดัชนียังต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังไม่ดี
พิษโควิด-19 ส่งผลดีต่อตลาดรถไฟฟ้า
สิ่งหนึ่งที่โควิด-19 ทำให้ผู้คนในสังคมมองเห็นไปในทิศทางเดียวกันนั่นคือการระวังและรักษาสุขภาพ ดังนั้นการใช้ชีวิตในยุค New Normal จึงกลายเป็นความปกติที่ต้องสร้างความเคยชินให้ได้ และต้องมองหาทางออกใหม่ๆ ให้กับตัวเอง โดยในงานสัมมนาทางออนไลน์ครั้งที่ 2 (ASE Webinar Series #2) ซึ่งจัดโดย อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ผู้จัดงาน ASEAN SUSTAINABLE ENERGY WEEK (ASE2020) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT)ในหัวข้อ “ผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 ต่อกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดในภูมิภาคเอเชีย” เพื่อระดมแนวคิดจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมและธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับการมุ่งสู่อนาคตของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน ภายหลังการคลี่คลายของวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลก ได้สรุปข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า
โควิดจะส่งผลกระทบด้านลบในระยะสั้นต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ทำให้ยอดขายลดลง แต่หากมองระยะยาว การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะกลับเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักๆ ไม่ใช่เพียงแค่ปัจจัยเรื่องการผันแปรของราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่เป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลแต่ละประเทศที่ยังคงให้ความสำคัญต่อความยั่งยืน และยังคงให้การอุดหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งแม้ว่ายอดการจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าในหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย จะลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นในบางตลาด เช่น เกาหลีใต้ อเมริกา และในทวีปยุโรปบางประเทศ
โดยผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าหลังจากปี 2563 ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด สัดส่วนการจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลกจะกลับมาเพิ่มขึ้น และจะมีสัดส่วนถึง 58% ในปี 2583 และสัดส่วนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในโลกก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกันเป็น 31% ในปี 2583 นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่าภูมิภาคที่จะมีการเติบโตของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นอย่างชัดเจน คือ อาเซียน โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย ไทยและฟิลิปปินส์
นอกจากนี้ด้วยการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้ในวันนี้ราคาแบตเตอรี่สำหรับใช้ขับเคลื่อนในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้ามีราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง อนาคตก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในแต่ละประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้าแบบ 2 ล้อ ยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้สำหรับเชิงพาณิชย์และยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อบริการสาธารณะ
บีโอไอส่งเสริมรถไฟฟ้าแบบไม่แคร์โควิด-19
แน่นอนว่าการจะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดในเมืองไทยอย่างเต็มรูปแบบนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ มีบทบาทอย่างมาก ซึ่งล่าสุด นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี ผู้อำนวยการกองพัฒนาและเชื่อมโยงการลงทุน บีโอไอ ได้เปิดเผยว่า แม้จะมีการระบาดของโรคโควิด-19 แต่รัฐบาลไทยจะยังคงให้การส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ได้สิทธิพิเศษทางภาษีได้สูงสุดถึง 8 ปี โดยปัจจุบันมีโครงการที่ขอเข้ามาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ากับบีโอไอแล้ว กว่า 30 โครงการ โดยโครงการส่วนใหญ่ได้เดินหน้าแล้ว และมีทั้งที่จะเริ่มดำเนินการในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งยังคงเป้าหมายเดิมไว้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแผนไปจากเดิมแม้จะมีโควิด
"แม้ว่าจะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด บีโอไอก็ยังคงเดินหน้าให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่สนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายผ่านทางบริการออนไลน์ ซึ่งมีทั้งบริการจับคู่ธุรกิจ บริการสัมมนาและอบรมออนไลน์ ผ่านโครงการ BUILD E-Linkage Business Matching Online และยังคงยืนยันที่จะจัดงาน SUBCON Thailand งานแสดงอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตเพื่อการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและงานจับคู่ธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง”
เช่นเดียวกับที่ นายกฤษฎา อุตตโมทย์ อุปนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ให้ความเห็นว่า แม้โควิดจะส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลง แต่คนได้เริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการปรับตัวสู่อนาคต ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ที่ต้องใส่ใจในเรื่องของอากาศ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งแม้โควิดจะส่งผลกระทบให้บางโรงงานผลิตต้องหยุดไปชั่วคราว แต่ผู้จำหน่าย ตัวแทน และศูนย์บริการของแต่ละแบรนด์ยังคงเปิดให้บริการในประเทศไทย และอีกไม่นานจากการที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ อุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งโรงงานผลิตรถยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าจะกลับมาเปิดอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะมาแรงหลังวิกฤตโควิดครั้งนี้
"รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายที่จะให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 250,000 คัน รถเมล์ไฟฟ้า 3,000 คันและจักรยานยนต์ไฟฟ้า 53,000 คันในปี 2568 แต่โควิด-19 ได้ทำให้เกิดหยุดชะงักชั่วคราว เพื่อธุรกิจจะรักษาสภาพคล่องไว้ แต่หากมีมาตรการในการสนับสนุนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะยังคงดำเนินตามแผนในการลด CO2 Emission ลดฝุ่น PM 2.5 รวมไปถึงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งไทยได้ประกาศเป้าหมายในการลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 20-25% จากระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งจะเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าช่วยตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง"
โควิด-19 อาจจะเป็นเสมือนสึนามิลูกหนึ่งที่เข้ามาทำลายล้างเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกยุคใหม่ ที่แม้จะบางอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบ แต่ก็จะมีอีกหลายๆ อุตสาหกรรมเกิดขึ้นใหม่ตามกาลเวลา ไม่ต่างอะไรจากตลาดรถไฟฟ้าที่แต่เดิมเราเคยคาดคิดว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรกว่าจะไปถึง แต่วันนี้ด้วยปัจจัยหลายๆ ด้านกลับกลายเป็นช่วยส่งเสริมให้คำว่าอนาคตก้าวเข้ามาถึงตัวเร็วขึ้น ใครปรับตัวเร็วก็รอด ปรับตัวช้าก็ต้องรับสภาพและลาหายจากตลาดไป