ผ่านพ้นช่วงล็อกดาวน์มาได้สักพัก ตลาดรถยนต์เริ่มมีความกระปรี้กระเปร่ากันพอสมควร โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดเอสยูวีที่ออกตัวกันแรงตั้งแต่เริ่มครึ่งปีหลังกันแบบลูกค้าไม่ทันตั้งตัว บางค่ายสร้างความประหลาดใจด้วยการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ในเซ็กเมนต์เดิม เหมือนต้องการจะกินรวบตลาดด้วยการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า บางค่ายยังคงรักพี่เสียดายน้อง แม้จะมีรถยนต์รุ่นใหม่ออกมาแล้ว แต่ก็ยังคงขายรุ่นเก่าอยู่ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าต้องการระบายสต็อก ส่วนบางแบรนด์ก็เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับรถยนต์รุ่นเดิมด้วยการเพิ่มอุปกรณ์ที่เคยขาดไป ให้ลูกค้าได้พึงพอใจมากขึ้น
GLB เอสยูวีหรูบึกบึนตอบโจทย์สายลุยคันเล็ก
สำหรับเซ็นเมนต์รถยนต์ในกลุ่มพรีเมียม ไม่มีใครไม่รู้จักเอสยูวีขนาดกระทัดรัดของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในชื่อ GLA ด้วยการนำเสนอรถยนต์รูปทรงปราดเปรียวพร้อมลุยได้แบบเบาๆ สามารถพาไปเที่ยวได้ไกลมากกว่าในเมือง รถยนต์รุ่นนี้จึงได้รับการตอบรับที่ดี แต่ล่าสุดนี้ค่ายดาวสามแฉกได้เพิ่มทางเลือกให้มากขึ้นไปอีกด้วยการเปิดตัว GLB 200 Progessive เน้นทำตลาดกับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการพื้นที่ใช้สอยอเนกประสงค์ จากรถยนต์ SUV ขนาดเล็ก และดันให้ GLA ซึ่งน่าจะเปิดตัวรุ่นใหม่ได้ในไม่ช้านี้ เข้าไปจับลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์ที่โฉบเฉี่ยวมากกว่ามองเรื่องพื้นที่เก็บสัมภาระ
GLB ออกแบบมาในแนวรถยนต์ออฟโรด 7 ที่นั่ง ได้รับการพัฒนาบนพื้นฐานของรุ่น A-Class เน้นความแข็งแกร่ง บึกบึน มีการปรับลดระยะองศาระยะห่างระหว่างยางรถจนถึงปลายมุมกันชน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อเพิ่มมุมองศาสำหรับปีนป่ายอุปสรรคให้มากขึ้น ภายในห้องโดยสารออกแบบเพื่อสร้างความสะดวกสบายของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร โดยเบาะที่นั่งแถว 2 และ 3 สามารถปรับรูปแบบได้หลากหลายตามความต้องการ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการใช้สอย
GLB มาพร้อมระบบความปลอดภัยที่ครบครันทั้ง ถุงลมนิรภัย 9 จุด กล้องมองภาพด้านหลัง ระบบเบรก ABS ระบเสริมแรงเบรก ABA ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี ASR ระบบช่วยควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESP ระบบเบรก Adaptive Brake พร้อมฟังก์ชัน Hold และระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน Hill Start Assist พร้อมด้วยระบบช่วยนำรถเข้าจอดอัตโนมัติ (Active Parking Assist with Parktronic)วางจำหน่ายด้วยราคา 2,860,000 บาท
Corolla CROSS ขยายกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น
ปล่อยให้คู่แข่งเดินหน้าสร้างยอดขายในกลุ่ม Sub compact SUV กันแบบสนุกสนานต่อไปไม่ไหว ประกอบกับรถแนวล้ำยุคอย่าง C-HR ไม่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องพื้นที่ใช้สอยได้ดีนักเมือเทียบกับคู่แข่ง งานนี้โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จึงได้เดินหน้าเปิดตัว โตโยต้า โคโรลล่า ครอส (All New Corolla CROSS)ใหม่ที่ใช้โครงสร้างพื้นฐาน TNGA จากโคโรล่ารุ่นซีดานมาสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับตลาด และหวังจะแย่งชิงยอดขายในกลุ่มนี้ให้เพิ่มมากขึ้น
Corolla CROSS มากับหัวใจ 1.8 ลิตรธรรมดา และแบบไฮบริดที่ยกมาจากโคโรล่าทั้งชุด เปิดตัวในประเทศไทยเป็นแห่งแรกของโลก วางตำแหน่งทางการตลาดเป็น Sub compact SUV ที่เน้นพื้นที่ใช้สอยและมีความอเนกประสงค์มากกว่า C-HR ด้วยพื้นที่จุสัมภาระมากถึง 487 ลิตร ประตูด้านหลังขนาดใหญ่ช่วยให้ผู้โดยสารสามารถขึ้นและลงจากรถสะดวกสบาย และมีการออกแบบที่ว่างเหนือศีรษะให้สูงพอดี โปร่งโล่งสบาย ไม่อึดอัด ประตูท้ายเปิด-ปิดอัตโนมัติด้วยระบบไฟฟ้าพร้อมเซนเซอร์เปิด-ปิด ประตูท้ายแบบเตะเปิด
นอกจากความอเนกประสงค์แล้ว งานนี้โตโยต้ายังอัดความปลอดภัยมาเกือบเต็มพิกัด ทั้งระบบความปลอดภัยก่อนการชน (Pre-Collision System) ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลนพร้อมพวงมาลัยหน่วงอัตโนมัติ (Lane Departure Alert with Steering Assist) ระบบควบคุมและปรับลดความเร็วอัตโนมัติพร้อมช่วยควบคุมรถให้อยู่กลางเลน (Dynamic Radar Cruise Control with Lane Tracing Assist) และระบบควบคุมไฟสูงอัตโนมัติ (Automatic High Beams) เปิดตัวด้วยราคาเริ่มต้นที่ ราคา 989,000 บาท ในรุ่น 1.8 Sport แต่มีราคาพิเศษที่ 959,000 บาท (ณ วันเปิดตัวถึง 30 กันยายน 2563 มีจำนวนจำกัด )
มาสด้า CX-3 น้องใหม่มาแล้วแต่รุ่นพี่ก็ยังอยู่
กลายเป็นรักพี่เสียดายน้อง หรือแท้จริงแล้วอาจจะเป็นการระบายสต็อคที่ยังคงมีอยู่ เพราะค่ายมาสด้ายังเดินหน้าทำตลาดมาสด้า CX-3 ด้วยการไมเนอร์เชนจ์อีกครั้ง พร้อมปรับราคาลงกว่า 1 แสนบาท งานนี้ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าทำไม แต่มีเหตุผลที่พอจะฟังได้ว่า CX-3 นั้นจะเน้นลูกค้าวัยรุ่น คนเพิ่งทำงาน เน้นความคล่องตัวในเมือง ส่วนมาสด้า CX-30 จะเจาะกลุ่มลูกค้าตั้งแต่วัยรุ่น นักศึกษา ไปจนถึงคนที่เพิ่งหรือมีลูกคนแรก
CX-3 เจาะฐานลูกค้าที่ต้องการรถประเภท SUV เป็นคันแรกในบ้าน ด้วยราคาเริ่มต้นเพียง 700,000 กว่าบาท พร้อมดอกเบี้ย 0% และฟรีประกันภัยชั้นหนึ่ง Mazda Premium Insurance 1 ปี, ขยายการรับประกันคุณภาพเป็น 5 ปี หรือ 150,000 กิโลเมตร และฟรีค่าแรงเช็คระยะ 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อรวมกับรุ่นเดิมที่มีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็น CX-8, CX-5, CX-30 แล้วจะทำให้มาสด้ามีเอสยูวีมากถึง 4 รุ่น
แม้จะตัดราคาแต่มาสด้ายังคงให้ระบบความปลอดภัยที่มากกว่าคู่แข่งเสมอ ไม่ว่าจะเป็นถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง และม่านนิรภัย รวม 6 ตำแหน่ง, ระบบแสดงภาพ 360 องศา รอบทิศทาง พร้อมระบบเซ็นเซอร์กะระยะด้านหน้าและด้านหลัง, MRCC ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ, SBS ระบบเตือนการชนด้านหน้าและช่วยเบรกอัตโนมัติ และ SCBS ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติเป็นต้น
ซีอาร์-วี ไมเนอร์เชนจ์เพิ่มออปชันตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น
ตลาดในกลุ่ม SUV เป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง และคู่แข่งต่างมีอาวุธในมือกันครบทำให้นิ่งนอนใจต่อไปไม่ได้ ล่าสุด บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้ทำการเปิดตัว ฮอนด้า “ซีอาร์-วี ไมเนอร์เชนจ์ใหม่” ใส่เต็มในสิ่งที่ขาด ไม่ว่าจะเป็นหลังคาซันรูฟไฟฟ้าแบบพาโนรามาที่มาช่วยเพิ่มความสุนทรีย์ในการเดินทางที่มองโลกได้กว้างมากขึ้น เทคโนโลยีความปลอดภัยอัจฉริยะ ฮอนด้า เซนส์ซิ่ง (Honda SENSING) ช่วยให้ปลอดภัยมากกว่าเดิม และนวัตกรรมเชื่อมต่อเพื่อการสื่อสารระหว่างผู้ขับขี่และรถยนต์ ฮอนด้า คอนเนกต์ (Honda CONNECT) ครบครันด้วยเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกสบายล้ำสมัย
ซีอาร์วีใหม่ยังคงตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์การใช้งานทั้งแบบ 7 ที่นั่งและ 5 ที่นั่ง มาพร้อมขุมพลังการขับเคลื่อนทั้งเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร i-DTEC DIESEL TURBO และเครื่องยนต์เบนซินขนาด 2.4 ลิตร DOHC i-VTEC ซึ่งในส่วนเครื่องยนต์ดีเซลนั้นจะเหลือตัวเลือกขับเคลื่อนสี่ล้อ 7 ที่นั่ง เพียง 1 เดียวเท่านั้น ไม่มีตัวขับเคลื่อน 2 ล้ออีกต่อไป
สำหรับระบบ Honda SENSING ที่ใส่เพิ่มมาให้นั้นก็จะมาทั้งระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ Auto High-Beam, ระบบเตือน และ ช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ RDM with LDM, ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ LKAS, ระบบเตือนการชนรถและคนเดินถนน พร้อมระบบช่วยเบรก CMBS และระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน พร้อมปรับความเร็วตามคันหน้า Adaptive Cruise Control ACC with LSF Low Speed Following เป็นต้น
ตลาดรถยนต์ตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดอาจจะดูเหมือนว่าค่อนข้างเงียบเหงาในหลายเซ็กเมนต์ แต่ที่เป็นดาวเด่นและดูเหมือนจะได้รับความสนใจจากค่ายรถกันมากขึ้นก็คือกลุ่มรถอเนกประสงค์อย่างเอสยูวี ที่พอเปิดปฏิทินครึ่งปีหลังขึ้นมาก็พร้อมเปิดตัวกันอย่างคึกคัก แม้หลายรุ่นจะไม่ได้เป็นการปรับโฉมใหม่ทั้งหมด แต่ก็นับได้ว่าช่วยเพิ่มสีสันและทางเลือกให้กับลูกค้าได้มากขึ้น ทำให้ตลาดรถยนต์เมืองไทยดูไม่เงียบเหงา ซึ่งแต่ละค่ายต่างก็ใส่เทคโนโลยียุคใหม่เพิ่มเข้ามาเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และที่สำคัญเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนส่งผลดีต่อผู้บริโภค เพราะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยขึ้นไปอีกขั้น