xs
xsm
sm
md
lg

โตโยต้า โคโรลล่า ครอส ลงตัวเพื่อครอบครัวเป็นใหญ่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กลายเป็นกระแสที่ร้อนแรงที่สุดในเวลานี้ของตลาดรถยนต์ไทย กับการปรากฎตัวของ “โตโยต้า โคโรลล่า ครอส” (Toyota Corolla Cross) ซึ่งเป็นการเปิดตัวโมเดลใหม่ล่าสุดครั้งแรกในโลกที่ประเทศไทย ทำให้กระแสข่าวก่อนหน้าการเปิดตัวจึงไม่แน่ชัดว่าเป็นรุ่นใด


เมื่อเปิดตัวแล้วยังคงมีเรื่องราวต่อเนื่องตามมาว่า โคโรลล่า ครอส นั้นอยู่ในพิกัดใด จึงขออนุญาตเล่าที่มาที่ไปของโมเดลนี้แบบเพื่อเล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของรุ่นนี้พัฒนาขึ้นมาจากตัว โคโรลล่า อัลติส ที่เป็นซีดาน ภายใต้โครงการไฮบริดเดียวกันกับที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอของไทย โดยชื่อในแผนถูกเรียกว่า C SUV ซึ่งถือว่าไม่แปลกแต่ประการใดเพราะ อย่างที่ทุกท่านทราบว่า โคโรลล่า อัลติส จัดเป็นรถในพิกัด C-Segment ขณะที่ชื่อรุ่น มีการถกกันว่าจะใช้ชื่อนั้น ชื่อนี้ ตามกระบวนการตั้งชื่อ แต่สุดท้ายชื่อ โคโรลล่า ครอส ถูกนำมาใช้ด้วยเหตุผลที่ว่า สอดคล้องกับที่มาและเป็นโมเดลที่จะขายทั่วโลก ดังนั้น ชื่อ โคโรลล่า จึงน่าจะเหมาะสมที่สุดในการใช้ทำตลาด เนื่องจากตำนานที่ยาวนานและเป็นที่รู้จักทั่วโลกในฐานะรุ่นรถที่ขายดีที่สุดของโตโยต้า






2 ทางเลือก ไฮบริด-เบนซิน




สำหรับหัวใจที่ใช้ในการทำตลาดมีให้เลือก 2 แบบคือ เบนซิน 1.8 ลิตร และไฮบริด โดยไฮบริดนั้นมีให้เลือกมากถึง 3 รุ่นย่อย แต่เบนซินธรรมดาเป็นตัวเริ่มต้นที่มีเพียงรุ่นย่อยเดียวเท่านั้น โดยการทดลองขับในคราวนี้ทีมงานได้รับรถเป็นรุ่นท็อปสุด ดังนั้นจึงขอลงสเป็กเฉพาะรุ่นท็อปเพื่อความกระชับของเนื้อหา




รุ่นท็อปสุดนั้นมีชื่อว่า Hybrid Premium Safety เพราะมีจุดที่แตกต่างจากรุ่นอื่นคือการเพิ่มระบบความปลอดภัยเข้ามามากกว่า เช่น ระบบความปลอดภัยก่อนการชน (PCS), ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลนพร้อมพวงมาลัยหน่วงกลับอัตโนมัติ (LDA), ระบบช่วยให้รถอยู่กลางเลน (LTA), ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติด้วยเรดาห์ และกลอ้งมองรอบคันแบบ 3D






ขณะที่ระบบความปลอดภัยมาตรฐานในทุกรุ่นจะมีครบทั้ง ถุงลมนิรภัย 7 จุด, ระบบควบคุมการทรงตัว, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน, ระบบป้องกันการออกตัวฉุกเฉิน, ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตา, ระบบช่วยเตือนขณะถอยรถ และระบบเบรก ABS ที่มาพร้อมกับระบบกระจายแรงเบรก EBD ระบบเสริมแรงเบรก  BA




สำหรับเครื่องยนต์ไฮบริดนั้นมากับรหัส 2ZR-FXE แบบ 4 สูบแถวเรียง DOHC ขนาด 1.8 ลิตร กำลังสูงสุดของเครื่องยนต์ 98 แรงม้า ที่ 5,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 142 นิวตันเมตร ที่ 3,600 รอบ/นาที มอเตอร์ไฟฟ้าขนาดกำลังสูงสุด 53 กิโลวัตติ แรงบิดสูงสุด 163 นิวตันเมตร ซึ่งเมื่อไฮบริดกันจะได้กำลังสูงสุด 122 แรงม้า











ระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติแบบ E-CVT พร้อมชิฟท์ล็อก ช่วงล่างหน้าเป็นแบบอิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัท และหลังเป็นแบบทคานแข็ง (Torsion Beam)  ซึ่งจะแตกต่างจากอัลติสที่เป็นแบบอิสระปีกนกคู่






ในส่วนของตัวถังนั้นอย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า พื้นฐานมาจาก โคโรลล่า อัลติส แต่เมื่อดูตามมิติตัวถังแล้วเปรียบเทียบขนาดกับคู่แข่งอย่าง ฮอนด้า ซีอาร์-วี และเอชอาร์-วี  (เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ) แล้วจะพบว่า โคโรลล่า ครอสนั้นอยู่ระหว่าง 2 รุ่นนี้แต่จะค่อนมาทาง ซีอาร์-วีมากกว่า






ทั้งนี้เมื่อเทียบกับซีอาร์-วี จะพบว่า ความยาวสั้นกว่า 11 ซม. แคบกว่า 3 ซม. เตี้ยกว่า 7 ซม. และระยะฐานล้อสั้นกว่า 2 ซม. เทียบกับ เอชอาร์-วี ความยาวยาวกว่า 11-16 ซม กว้างกว่า 3 ซม. สูงกว่า 2 ซม. และ ระยะฐานล้อยาวกว่า 3 ซม. เรียกว่าขนาดตัวถังนั้นเสียบตรงกลางระหว่าง 2 รุ่นดังกล่าว




สำหรับความสวยงาม เราออกตัวเสมอว่าเป็นเรื่องนานาจิตตังแล้วแต่ใครจะมอง แต่ถ้าถามความเห็นของเราด้านหลังของโคโรลล่า ครอส สวยกว่าด้านหน้า และการใช้ล้อ 18 นิ้ว ให้ความรู้สึกเต็มซุ้มกำลังดี















ตอบโจทย์ครอบครัวที่รัก






ในส่วนของการทดลองขับนั้นรอบนี้เราจัดเต็มทุกรูปแบบ พร้อมทีมงานครอบครัว 4 คน นั่งกันยาวๆ ไปรวมระยะทางกว่า 300 กม. เพื่อพิสูจน์เทียบความรู้สึกการนั่งเบาะโดยสารทางด้านหลังว่าเป็นอย่างไร แต่ก่อนจะไปถึงผลลัพธ์ดังกล่าว เรามาเริ่มกันที่การใช้งานแบบในเมืองกันก่อน






ความรู้สึกแรกหลังจากได้ขับแบบฝ่าพายุวิ่งรอบเมืองกรุงในวันศุกร์เย็นก่อนหยุดยาว ฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงเรื่องของสภาพการจราจรที่วิกฤตอย่างมาก เราอาศัยการวิ่งตามทางปกติแอบเข้าทางลัดบ้างซึ่งด้วยขนาดของตัวถังประมาณนี้ถือว่าคล่องตัวดีสำหรับการใช้งานในเมือง ไม่ใหญ่จนเกินไป ซอยเล็กๆ สามารถผ่านได้








การทรงตัวของรถและความนุ่มนวลคืออีกหนึ่งจุดเด่นที่ทำให้ผู้โดยสารเบาะหลังประทับใจอย่างมาก เรียกว่าทำให้มือวางการนั่งหลังของทีมงามเรานั้นหลับสบายตลอดการเดินทาง รวมถึงขนาดความกว้างที่พอดี และมีที่ท้าวแขนกลางช่วยจัดแบ่งพื้นที่ ทำให้ไม่ต้องทะเลาะกันอีกด้วย




ส่วนเบาะโดยสารทางด้านหน้า จะให้ความรู้สึกที่พอดี และมีข้อสงสัยว่าคอนโซลหน้าที่ยื่นออกมามากนั้นมีประโยชน์อะไร ถ้าปรับเป็นช่องเก็บของหรือที่วางแก้วน้ำจะได้คะแนนการออกแบบส่วนนี้เต็ม 100% ขณะที่คุณภาพของวัสดุภายในนั้น  90% ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีผิวสัมผัสดูนุ่มและเนียนดี มีเพียงแผงข้างประตูที่น่าจะปรับกับช่องเสียบ USB ทางด้านหน้าที่เราอยากให้เพิ่ม นอกนั้นเพียงพอต่อความต้องการแล้ว (ช่องเสียบ USB ด้านหน้ามีเพียง 1 และด้านหลังมี 2 จุด)




ประตูท้ายแบบเปิดปิดอัตโนมัติด้วยการใช้เท้าเตะ เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชันที่ได้ใช้งานบ่อยมากกับวิถีการขนของและการจับจ่ายซื้อของ เราไม่ต้องวางของแค่เพียงเตะเท้าแล้วรอนิดหน่อย ก็สามารถวางของได้ทันที ซึ่งหากแลกออปชันนี้กับ ระบบเบรกมือไฟฟ้าและระบบ AutoBrakeHold   ผู้เขียนเลือกประตูท้ายแบบเตะได้ แต่ถ้าเป็นไปได้ใส่มาให้หมดจะดีที่สุด




การขับผ่านพายุนั้น เราลุยน้ำรอระบายที่ความสูงเกือบถึงดุมล้อ โคโรลล่า ครอสขับผ่านได้อย่างฉลุย ไม่ต้องกังวลและผ่านมา 3 วันเรายังคงขับได้ปกติโดยไม่มีปัญหาใดๆ แม้จะลุยน้ำมาแล้ว ส่วนระดับการลุยที่ปลอดภัยคือ น้ำที่ไม่สูงเกินดุมล้อ ทีมงานโตโยต้าระบุว่า ปลอดภัยแน่นอน 100%






สำหรับรุ่นท็อปที่เราขับ มากับระบบเสริมความปลอดภัยเต็มรูปแบบและกล้องพร้อมการแสดงผลแบบ 3D ที่ขอชมอย่างออกนอกหน้าว่า ดีงามที่สุด หลังใช้งานแบบเข้าที่จอดในพื้นที่แคบตามห้างและลานจอดต่างๆ เรียกว่า ถ้างบไม่ใช่ปัญหา เลือกตัวท็อปจบในคราวเดียว




จังหวะออกตัวถือว่าเป็นหนึ่งในจุดเด่นเพราะเร่งทันใจดี ไม่มีอาการรอรอบแถมยังเงียบมาก เนื่องจากเครื่องยนต์ไม่ติดขึ้นมา ส่วนความเร็วปานกลางราว 50-60 กม./ชม. นั้นหากกดคันเร่งหนักเพื่อหวังแซงจะมีจังหวะที่ขึ้นช้ากว่าที่คาดไว้ ไม่ดึง รถจะค่อยๆ ไต่ระดับความเร็วขึ้น แต่เมื่อความเร็วทะลุไปแตะที่ 80-100 กม./ชม. ย่านความเร็วนี้เรียกว่าจัดจ้าน กดคันเร่งมีพุ่งทะยานได้






ความเร็วสูงสุดที่เราลองขับขี่ได้ตามพื้นที่จะเอื้ออำนวย คือ 160 กม./ชม. (เพื่อความปลอดภัย) พบว่ารถยังคงนิ่งดี เกาะถนนมั่นใจ เสียงลมปะทะจะเริ่มดังเมื่อความเร็วทะลุเกิน 130 กม./ชม. แต่โดยภาพรวมหากขับไม่เกิน 120 กม./ชม. แล้วรถจะค่อนข้างเก็บเสียงดีมาก (เมื่อเทียบกับรถในระดับเดียวกัน) เสียงเครื่องยนต์ดังเข้ามาน้อยมากหากไม่กดคันเร่งจนมิด





น้ำมันหายไปครึ่งถังวิ่งได้ระยะทางกว่า 300 กม.


อีกหนึ่งฟังก์ชันที่ใช้งานได้อย่างดีเยี่ยมและน่าชื่นชมคือ ระบบเตือนมุมอับสายตา ที่เราได้ใช้งานจริง ด้วยจังหวะจะเปลี่ยนเลนมองกระจกแล้วเห็นว่าว่างโล่ง แต่มีไฟกระพริบจากระบบเตือนว่ามีบางสิ่งอยู่ข้างๆ ซึ่งผู้เขียนมองไม่เห็น ขับมาอีกอึดใจหนึ่งด้วยความเร็วคงที่ก็ยังไม่เห็นรถอะไรอยู่ด้านข้าง จึงตัดสินใจชะลอความเร็ว วินาทีนั้น ภาพของรถมอเตอร์ไซค์กำลังแซงขึ้นหน้าไป ทำให้เรารู้สึกได้ทันทีว่า ถ้าไม่มีระบบนี้ งานเข้าแน่นอน








ภาพรวมการขับขี่และโดยสารทั้งการเดินทางยาวๆ และการใช้งานในเมือง ยังไม่มีเสียงบ่นใดๆ จากสมาชิกผู้ร่วมเดินทาง มีแต่เสียงชื่นชมและชอบในความนุ่มนวล รวมถึงระบบปรับอากาศที่สามารถสู้กับความร้อนของประเทศไทยได้อย่างน่าประทับใจ มิเสียดายเงินที่จ่ายไป






อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ อัตราการบริโภคน้ำมัน เรารีเซ็ตค่าก่อนออกเดินทาง 3 ครั้ง 3 รูปแบบ ได้ค่าเฉลี่ยตามการแสดงผลบนหน้าจอ แบบในเมืองรถติด 17.7 กม./ลิตร แบบนอกเมืองทางยาวๆ (วิ่งราว 90-120 กม./ชม,) 22.1 กม./ลิตร และแบบเฉลี่ยทั้งในและนอกเมือง 20.8 กม./ลิตร โดยน้ำมันราวครึ่งถังบนวิ่งได้ระยะทางประมาณ 310 กม. (ถังน้ำมันมีความจุ 36 ลิตร) ถือว่า ใกล้เคียงกับตัวเลขที่แสดงผลดังนั้นจึงยอมรับได้





ระบบพับกระจกอัตโนมัติและกระจกไฟฟ้า

ที่วางแก้วน้ำสะดวกสบาย






เหมาะกับใคร






รถสำหรับครอบครัวและนักเดินทาง ที่ต้องการความนุ่มนวลในการโดยสาร เน้นการเอาใจคนนั่งเบาะหลังเป็นหลัก ด้วยขนาดตัวถังที่ใช้งานในเมืองได้คล่องและออกต่างจังหวัดได้อุ่นใจ นี่คือโมเดลที่เข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่หายไปของไลน์อัพการขายของโตโยต้า และมากับราคาที่ต้องบอกว่า สะเทือนทั้งตลาดตัวท็อปสุด 1,199,000 บาท ได้ครบทั้งสมรรถนะและความประหยัด เหนือสิ่งอื่นใดคือ ความไว้วางใจ ตลอดการเดินทางกับศูนย์บริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศไทย





















ระบบเตะเปิดฝาท้ายโดยไม่ต้องใช้มือ

ระบบเรดาห์ มีเฉพาะในรุ่นท็อปสุดเท่านั้น

ระบบเตือนมุมอับสายตา มีเฉพาะในรุ่นท็อปและรองท็อปเท่านั้น ใช้งานได้ดีจริง

ช่องเสียบชาร์จ USB ทางด้านหลัง


กำลังโหลดความคิดเห็น