ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้ตลาดรถยนต์ของไทยตกลงอย่างหนักถึงกว่า 60% ซึ่ง โตโยต้า ในฐานะผู้นำตลาดจะมีการรับมืออย่างไรรวมถึงกลยุทธ์ในการขายนับจากนี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร โตโยต้ามีคำตอบผ่านวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร “สุรศักดิ์ สุทองวัน” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
ยอดขายรถเป็นอย่างไรบ้าง
จากตัวเลขภาพรวม 4 เดือนที่ผ่านมาเราเห็นว่าตลาดรถยนต์มีการหดตัวลงราว 60% ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิดรุนแรง พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง แต่มีจุดสังเกตุที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ยอดรถเก๋งลดลงมากกว่ายอดขายของรถปิกอัพ เทียบสัดส่วนแล้ว ปิกอัพตกน้อยกว่า ตลาดรวมคือ ตกลงราว 40% (รถเก๋งลดลงกว่า70%) ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นปัจจัยจากการที่ปิกอัพนั้นใช้สำหรับการส่งของ โดยเฉพาะช่วงที่ปิดมีการสั่งอาหารมาทานกันเยอะ ดังนั้นจึงยังมีส่วนช่วยพยุงตลาดได้อยู่
ปรับตัวอย่างไร
ตอนนี้โตโยต้า ประเมินแบบเดือนต่อเดือน ยังไม่สามารถที่จะคาดการณ์หรือบอกล่วงหน้าแบบชัดเจนได้ ทั้งนี้ขึ้นกับการปลดล็อกของภาครัฐด้วยว่าจะผ่อนปรนมากน้อยขนาดไหน อุตสาหกรรมรถยนต์นั้นถือว่า มีความสำคัญมากเพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ส่วนการช่วยเหลือของภาครัฐที่มีข้อเรียกร้องยื่นไปนั้นยังไม่สามารถให้ความเห็นได้
สถานการณ์ของโรงงานผลิต
โรงงานประกอบรถยนต์ของโตโยต้านั้นปัจจุบัน (11 มิถุนายน 2563) ได้กลับมาเริ่มต้นการผลิตตามปกติแล้ว โดยมีการปรับสัดส่วนการผลิตเหลือราว 60% ของการผลิตปกติ ซึ่งเป็นแนวทางตามหลัก Just in time ของโตโยต้า เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องรถค้างสต็อกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ไม่มีแผนการลดคนงานหรือปลดคนออกแต่อย่างใด
กลยุทธ์ในการทำตลาดต่อจากนี้
เชื่อว่าทุกแบรนด์ตั้งใจขาย ดังนั้นช่วงเวลานี้จะเป็นโอกาสของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ โดยกลยุทธ์ด้านราคาจะถูกนำมาใช้ก่อนในระยะสั้นเพื่อเรียกยอดขาย ส่วนในระยะยาวยังคงเป็นเรื่องของการบริการ ที่โตโยต้าและดีลเลอร์จะต้องสร้าง โดยในช่วงวิกฤตนี้ เราทำได้ดี ลูกค้าตอบรับดีและรู้สึกผูกพันกับดีลเลอร์มากกว่าเดิม หลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย มีลูกค้านำรถมาเข้าศูนย์บริการเพิ่มมากขึ้น
เป้าหมายด้านยอดขายของโตโยต้า
ปีนี้เรายังตั้งเป้าเหมือนเดิมคือ เป็นอันดับ 1 ด้านยอดขาย ส่วนจำนวนตัวเลขจะเป็นเท่าไหร่นั้นยังไม่สามารถประเมินได้ในขณะนี้ ส่วนปิกอัพอย่างรีโว่ ที่มีการเปิดตัวรุ่นปรับโฉมใหม่ มีราคาเพิ่มเฉลี่ยราว 20,000 บาทต่อรุ่น แต่โตโยต้าปรับเพิ่มอุปกรณ์ให้เป็นมูลค่ามากกว่าราคาที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มการรับประกันเป็น 5 ปี หรือ 150,000 กม. และฟรีค่าแรงเช็คระยะ เมื่อซื้อในช่วงแนะนำตัวนับเป็นแคมเปญที่คุ้มค่าสำหรับผู้บริโภค โดยคาดหวังยอดขายที่เดือนละประมาณ 10,000 คัน แต่คงต้องขึ้นกับสถานการณ์ของการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นสำคัญ
รถใหม่จะมีหรือไม่
การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่นั้นจะยังคงมีอยู่ตามแผนเดิมที่วางเอาไว้ ส่วน Kinto ธุรกิจใหม่ในการเช่าใช้ ลูกค้าให้ความสนใจดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะรถให้เช่าในระยะสั้น 3 เดือน ถึง 1 ปี มีผู้เช่าใช้ไปแล้วกว่า 50 คัน