xs
xsm
sm
md
lg

LED ชิดซ้าย Laser มาแล้ว !!! Laserlight นวัตกรรมไฟหน้าจาก BMW

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไฟหน้ารถยนต์ เป็นเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และรวดเร็ว จากหลอด Halogen ที่ไม่ค่อยสว่าง ความร้อนสูง ความทนทานต่ำ หลอดขาดเป็นประจำ มาเป็น Xenon ที่ให้ความสว่างและความเข้มของแสงสูง กินไฟน้อย แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องการจุดสว่างครั้งแรกและอุปกรณ์ต่อพ่วงที่เยอะจนน่ารำคาญ จนมาถึงไฟ LED ที่มีข้อดีในทุกด้าน ทั้งความสว่างและความเข้มของแสงที่สูงกว่า กินไฟนิดเดียว แถมยังทนทาน แต่ล่าสุดมีดีกว่าออกมาแล้ว นั่นคือ Laser และผู้ที่อยู่แถวหน้าสำหรับเทคโนโลยีนี้ก็คือ BMW และ ดร.อับดุลมาเลก ฮานาฟี (Dr. Abdelmalek Hanafi)

ในศูนย์วิจัยและนวัตกรรมของ BMW ที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เป็นที่ตั้งของ ไลท์แล็บ (light lab) ซึ่งทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี Laser เพื่อใช้กับไฟหน้ารถยนต์ ภายใต้โครงการ Dynamic Laser-Light Program "แสง คือสิ่งที่ทำให้เราวัดขนาดของจักรวาลได้" ดร.ฮานาฟี เริ่มต้นการสนทนาอย่างน่าสนใจ


เสน่ห์แห่งแสง

"โฟตอนเดินทางด้วยความเร็วแสง หรือประมาณ 300,000 กิโลเมตรต่อวินาที ด้วยความเร็วและคุณสมบัติของแสง เราจึงวัดความกว้างใหญ่ของห้วงอวกาศได้" ดร.ฮานาฟี เอ่ยเรื่องทฤษฎีควันตัมเมคานิกส์ "แสงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ถ้าไม่มีแสง เราก็มองอะไรไม่เห็น"

ดร.ฮานาฟี สนใจเรื่องแสงมาตั้งแต่เรียนฟิสิกส์ที่ฝรั่งเศส โดยเฉพาะการพัฒนา Laser ก่อนมาร่วมงานกับ BMW เขาคือหนึ่งในผู้พัฒนา Laser เพื่อการสื่อสารในสหรัฐอเมริกา "ผมเก่งเรื่องโฟโตนิกส์ ควันตัมเมคานิกส์ และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า"

ที่ BMW ดร.ฮานาฟี และ ดร.เฮลมัต เอิร์ล (Dr. Helmut Erdl) ผู้เชี่ยวชาญด้านออปติคอล ได้ร่วมกันพัฒนาแหล่งกำเนิดแสงสีขาวความเข้มสูงโดยใช้พื้นฐานจาก Laser มีเป้าหมายเพื่อหาจุดที่ดีที่สุดสำหรับการขับรถในเวลากลางคืน ความสำเร็จของทั้งคู่เป็นการปฏิวัติไฟหน้ารถยนต์สู่อีกระดับ การใช้ Laser เป็นไฟสูงในไฟหน้ารถยนต์ ด้วยคุณสมบัติความเข้มของแสงที่สูงกว่า และไปได้ไกลกว่า หรือประมาณ 600 เมตร เทียบกับ LED ปกติ


Laserlight สวรรค์ของดีไซเนอร์

2014 BMW i8 คือรถ BMW รุ่นแรกที่ใช้ไฟหน้าแบบ Laser ซึ่งทาง BMW มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Laserlight จากนั้นจึงทยอยติดตั้งในอีกหลาย ๆ รุ่น รวมถึง BMW X7 และนอกจากจะช่วยเรื่องการมองเห็นในเวลากลางคืนให้ดีขึ้นแล้ว นักออกแบบและช่างเทคนิคยังปลื้มมากกับเทคโนโลยีนี้ "โคม Laserlight มีขนาดเล็กกว่าโคม Halogen และ Xenon"


ดร.ฮานาฟี อธิบายกลไกการทำงานของ Laserlight ว่า "เลเซอร์ไดโอดคือจุดกำเนิดแสงสีฟ้าความเข้มสูง เมื่อตกกระทบกับฟอสฟอรัสรีเฟลกเตอร์สีเหลือง แสงที่สะท้อนออกมาจะเป็นสีขาว" Laser จะมีพลังงานต่อหน่วยพื้นที่สูงกว่า ดังนั้น ณ ระดับที่ความสว่างเท่ากัน Laser จะใช้พลังงานเพียง 30% ของ LED เท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ Laser ให้ประสิทธิภาพในการมองเห็นสูงกว่า และยังไม่เป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่ที่สวนทางมา เพราะ Laser ให้ลำแสงที่แคบ ควบคุมง่าย และทำงานกับระบบไฟสูงอัตโนมัติได้อย่างราบรื่น

ดร.ฮานาฟี ได้สาธิตการใช้งานจริง โดยขับ BMW X7 ออกไปบนถนนตอนกลางคืนในเมืองมิวนิก ช่วงความเร็วต่ำระบบจะใช้ไฟต่ำที่เป็น LED ปกติ แต่เมื่อความเร็วถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระบบเปลี่ยนจากไฟต่ำเป็นไฟสูง ความรู้สึกขณะนั้นคือกลางคืนกลายเป็นกลางวัน สามารถมองไปได้ไกลกว่าครึ่งไมล์ เป็นประสบการณ์ใหม่ที่น่าประทับใจและน่าตื่่นเต้นอย่างยิ่ง


ก้าวต่อไป

นี่แค่จุดเริ่มต้นของ Laser ซึ่งพิสูจน์ว่ามันทำงานร่วมกับ LED ได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ แต่ "ยังมีงานต้องทำต่ออีกเยอะ เราต้องพัฒนาต่อ ทั้งเรื่องความปลอดภัย และประสบการณ์ในการขับขี่ที่ดียิ่งขึ้น" ดร.ฮานาฟี กล่าวถึงเป้าหมายของแผนก ซึ่งไม่ง่าย โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานร่วมกับเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งรวมหลาย ๆ ระบบเข้าด้วยกัน "รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ จะเรียกว่าหุ่นยนต์ก็ได้ ประกอบขึ้นด้วยหลาย ๆ ระบบที่ต้องทำงานประสานกัน ต้องมีการสื่อสารซึ่งกันและกัน และแน่นอน ต้องมีหลาย ๆ ปัญหาตามมา" ดร.ฮานาฟี กล่าว


Laserlight เป็นเพียงก้าวเล็ก ๆ ของทั้งหมด "เราเพิ่งเริ่มต้น" แต่เป็นการเริ่มต้นที่ทำให้เขามีความสุขที่สุด Laserlight เป็นการปฏิวัติโลกยานยนต์ไปสู่อีกระดับ สำหรับ BMW นี่คือนวัตกรรมใหม่ที่จะแพร่หลายไปทั่วโลกในไม่กี่ปีข้างหน้า และ สำหรับ ดร.ฮานาฟี นี่คือความสำเร็จก้าวเล็ก ๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นสู่ความสำเร็จก้าวถัดไป ที่ยังต้องใช้เวลาแสวงหาไปอีกหลายปีในโลกแห่งแสง

อ้างอิง : www.BMW.com


กำลังโหลดความคิดเห็น