จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในการถอนตัวของ เชฟโรเลต (Chevrolet) ในการทำตลาด รวมถึงขายโรงงานให้กับบริษัท Great Wall จากจีนให้รับช่วงต่อ คำถามที่ตามมาคือ เกิดอะไรขึ้นกับเจนเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors) หรือจีเอ็ม (GM) ที่เป็นบริษัทแม่ของเชฟโรเลต หรือว่าเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วซึ่งทำให้ GM ต้องเข้าสู่กระบวนการพิทักษ์สินทรัพย์ตามมาตรา 11 หรือ Chapter 11 กำลังจะกลับมาอีกครั้ง?
จีเอ็ม ถือเป็นหนึ่งในบิ๊กทรีของอุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกัน และเรียกว่าเป็นพี่เบิ้มของเมืองลุงแซมเลยก็ว่าได้ เพราะในบริษัทมีแบรนด์ย่อยๆ อยู่มากมาย เช่น Chevrolet Cadillac GMC และ Buick รวมถึงแบรนด์รถยนต์ต่างแดน เช่น Holden ของออสเตรเลีย Daewoo ของเกาหลีใต้ที่ถูกเปลี่ยนมาเป็น GM Korea ตามด้วย Wuling Baojun และ Jiefang ในจีน ซึ่งยอดขายรถยนต์ของเครือทั้งหมดมีมากกว่า 10 ล้านคันใน 6 ทวีปทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองจากภาพรวมของยอดขายรถยนต์ของ GM ทั่วโลก ณ ปัจจุบัน ตลาดใหญ่ของพวกเขาอยู่ที่จีน ซึ่งมียอดขายมากกว่า 4 ล้านคัน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาที่แต่เดิมเคยเป็นฐานที่มั่นหลักนั้นต้องบอกว่า ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ยอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าจากเดิมในปี 1999 ที่มียอดขายมากกว่า 5 ล้านคันนั้น ในปีที่แล้วจีเอ็ม มียอดขายเพียงแต่ 2.8 ล้านคันเท่านั้น
ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นกับจีเอ็ม ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา คือ พวกเขาประสบปัญหายอดขายลดลงในตลาดหลายแห่ง และนั่นทำให้จำเป็นต้องมีการปรับกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับบริบทที่เป็นอยู่ เช่น ในปี 2018 จีเอ็มมียอดขายลดลงถึง 54% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านั้น ผลคือจำเป็นต้องปิดโรงงานลงไปหนึ่งแห่งและเหลือเพียงแค่ 3 แห่งเท่านั้น และที่แย่ลงไปกว่านั้นคือ การประกาศถอนตัวของเชฟโรเลตในยุโรปเมื่อปีที่แล้วนั้นถือว่าสร้างผลกระทบต่อโรงงานในเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน
เพราะว่ารถยนต์ของเชฟโรเลตที่ขายอยู่ในยุโรปนั้นมาจากผลผลิตของ GM Korea รับหน้าที่ผลิตและพัฒนารถยนต์ขนาดเล็กเพื่อส่งให้กับเชฟโรเลตซึ่งเหตุการณ์นี้คล้ายๆ กับที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และส่งผลกระทบไปยังโฮลเด้น (Holden) ที่เป็นแบรนด์เก่าแก่ในออสเตรเลีย เพราะว่าในปัจจุบันปิกอัพของ โฮลเด้น ถูกประกอบและส่งออกจากโรงงานของจีเอ็มในระยอง ดังนั้น เมื่อไลน์ผลิตแห่งนี้ถูกปิด ปิกอัพของโฮลเด้นก็ต้องเลิกขายไปด้วยเช่นกัน เพราะ ณ ตอนนี้ โรงงานของโฮลเด้นในออสเตรเลียถูกปิดไปแล้วตั้งแต่ปี 2017 และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือจีเอ็มประกาศเลิกทำตลาดให้กับ โฮลเด้น ในปี 2021 เหมือนกับที่ก่อนหน้านั้นพวกเขาเลิกขายแบรนด์อย่าง Pontiac Hummer และ Saab
จากยอดขายที่ลดลงในหลายตลาดที่เคยเป็นแกนหลักในการสร้างตัวเลข บวกกับทิศทางที่เปลี่ยนไปในตลาดรถยนต์ซึ่งการเข้ามาของรถยนต์พลังไฟฟ้า และเทรนด์ของรถยนต์ขับเคลื่อนแบบไร้คนขับ หรือ Autonomous ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ GM ต้องปรับตัว และลดอะไรที่ไม่จำเป็นออกไปให้หมด เพื่อโฟกัสกับสิ่งที่ควรจะเป็น เพราะแน่นอนว่าพวกเขาคงไม่อยากที่จะซ้ำรอยกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2008 อย่างแน่นอน
จีเอ็มเห็นแล้วว่าการขยายตัวในตลาดเดิมๆ ไม่น่าจะเพียงพอต่อการอยู่รอด และอะไรที่ทำแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ก็จำเป็นจะต้องยุติบทบาทลงไป ซึ่งจีเอ็มมีประสบการณ์มาแล้วกับการล้มครั้งแรกเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว
ดังนั้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราจึงได้พบกับข่าวเรื่องของการขายกิจการหรือการถอนตัวของจีเอ็มอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2017 พวกเขาขายหน่วยงานของตัวเองในยุโรป ซึ่งก็รวมถึงแบรนด์ Opel และ Vauxhall ให้กับกลุ่ม PSA ของ Peugeot และ Citroen รวมมูลค่าถึง 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงยังมีการปลดคนงานในฐานการผลิตหลักที่มิชิแกน สหรัฐอเมริกา อีกมากว่า 1 พันอัตรา และแค่ปี 2017 เพียงปีเดียวพวกเขาเลย์ออฟคนงานไปแล้วถึง 4 ครั้งในปีเดียวกัน
นอกจากนั้น ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ หรือก่อนที่จะมีการประกาศถอนตัวออกจากประเทศไทย 12 วัน ทางด้าน CFO อย่าง Dhivya Suryadevara ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในวันที่ 1 กันยายน 2018 และเป็นอีกตำแหน่งใหญ่ของ GM ที่มีผู้หญิงเข้ามาบริหาร ก็กล่าวในการแถลงข่าวว่า พวกเขาจะทำการปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่นอกประเทศจีนเพื่อผลักดันให้บริษัทกลับมามีกำไร ซึ่งแม้ว่าจะเป็นแค่ตัวเลขหลักเดียวเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ก็เป็นตัวเลขหลักเดียวที่อยู่ในช่วงกลางๆ ไม่ใช่ช่วงต้นๆ ซึ่งการหันมาเน้นให้บริษัทกลับมามีกำไรอีกครั้งถือเป็นนโยบายที่ Mary Barra ประธานและ CEO ของจีเอ็ม ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับเรื่องที่พวกเขาจะต้องเดินหน้าไปสู่อนาคต
‘จีเอ็ม จะโฟกัสกับตลาดที่เราคิดว่าใช่ในการผลักดันตัวเองกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง และการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกของเราในตอนนี้จะมุ่งเน้นไปเรื่องของเทคโนโลยีการขับเคลื่อนแห่งอนาคต ที่เราให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก’
ถ้อยแถลงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ของ Barra ซึ่งเป็นประธานและ CEO หญิงคนแรกของ GM ที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2013 ถือว่าเป็นสิ่งที่ยืนยันให้เห็นทิศทางและความชัดเจนในการตัดสินใจครั้งนี้ของพวกเขา
ดังนั้น รถยนต์ไฟฟ้าและ Autonomous ดูแล้วน่าจะเป็นอนาคตที่จีเอ็ม คาดหวังเอาไว้อย่างมาก เพราะในเดือนตุลาคม 2018 ฮอนด้าเองก็ร่วมลงทุนกับจีเอ็ม ในการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับด้วยวงเงิน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลอดช่วง 12 ปีของการพัฒนา และในเดือนพฤศจิกายน 2019 ที่ผ่านมา ทางจีเอ็มก็ลงทุนร่วมกับทาง LG ในการสร้างโรงงานแบตเตอรี่มูลค่า 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับใช้กับรถยนต์พลังไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่กำลังจะเปิดตัวออกมาในอนาคต
ถึงวันนี้ต้องบอกว่า “จีเอ็ม” ยอมเจ็บตอนนี้เพื่อก้าวเดินต่อไปย่อมดีกว่า…แน่นอนว่าประสบการณ์ครั้งที่แล้วสอนพวกเขาเอาไว้เยอะ