xs
xsm
sm
md
lg

ม.ธรรมศาสตร์ จับมือ ม. เชียงใหม่ แจงผลวิจัยชี้ EV เกิด ชิ้นส่วนทรุด แนะรัฐรอบคอบ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จับมือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิจัยผลกระทบของผู้ผลิตชิ้นส่วน หากรถยนต์ไฟฟ้า เข้ามาแทนที่รถใช้เครื่องยนต์ ระบุมีทั้งด้านดีและด้านลบ แต่โดยรวมด้านลบรุนแรงกว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องปรับตัว แนะนำรัฐบาลรอบคอบในการส่งเสริมและสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า



คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทำโครงการวิจัย “การวิเคราะห์ผลกระทบของโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) เพื่อพัฒนานโยบายการพัฒนาและปรับตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเพื่อรองรับ EV” โดยมีรถ รศ.ดร. รุธิร์ พนมยงค์ นำเสนอที่มาของโครงการ พร้อมทั้งผลกระทบและนโยบายการปรับตัวสู้รถยนต์ไฟฟ้า และรศ.ดร.อภิชาต โสภาแดง ร่วมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ร่วมงานทั้งภาครัฐและเอกชน

โครงการวิจัย “การวิเคราะห์ผลกระทบของโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้า(Electric Vehicle : EV) เพื่อพัฒนานโยบายการพัฒนาและปรับตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเพื่อรองรับ EV”






การดำเนินโครงการวิจัยดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ 15 มกราคม 2562 ถึง 14 มกราคม 2563 รวมระยะเวลาหนึ่งปี โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ, เอกชน, สถาบันการศึกษา ทั้งในและนอกประเทศรวมทั้งสิ้น 75 หน่วยงาน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการจำลองสถานการณ์และวิเคราะห์ผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย




ทั้งนี้ผลของการวิจัย ตั้งขึ้นบนสมมุติฐานสองส่วน ได้แก่ สถานการณ์ปกติ และ ได้รับการสนับสนุนความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ EV ซึ่งแบ่งเป็นสองช่วงเวลา 1-5 ปีแรก และ 6-10 ปีต่อมา









รศ.ดร. รุธิร์ พนมยงค์  นำเสนอที่มาของโครงการ พร้อมทั้งผลกระทบและนโยบายการปรับตัวสู้รถยนต์ไฟฟ้า






ส่งเสริม-เยียวยา-สร้างการรับรู้


สิ่งสำคัญที่คณะผู้วิจัยและกลุ่มผู้ให้ข้อมูลต่างยอมรับคือ สังคมรถยนต์ไฟฟ้าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เพียงแต่ว่าจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้าเพียงใด ยังไม่สามารถประเมินได้ เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นภาครัฐจึงควรมีนโยบายที่สอดคล้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง


การออกนโยบายที่ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนของภาคเอกชน เช่น จัดสรรงบสนับสนุนการวิจัยและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในกลุ่มนี้, ยกเว้นภาษีนิติบุคคล และส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้และถ่ายเทคโนโลยีด้านรถยนต์ไฟฟ้า


ส่วนการเยียวยา เป็นนโยบายที่ช่วยลดผลกระทบกับกลุ่มผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนในปัจจุบัน ไม่สร้างนโยบายที่ส่งผลเสียต่อผู้ประกอบการเช่น ขึ้นภาษีน้ำมัน หรือ ขึ้นภาษีการครอบครองรถยนต์ และส่งเสริมการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่ต้องการ












รศ.ดร.อภิชาต โสภาแดง อาจารย์ประจำคณะวิศวะ ม.เชียงใหม่ ท่านเป็นนักวิจัยร่วม






ผลวิจัยชี้ติดลบกระทบผู้ผลิตชิ้นส่วน


สำหรับผลของการวิจัยนั้น มีทั้งด้านบวกและลบ ซึ่งผลดีที่เป็นด้านบวกต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ กรณีปกติ (ไม่มีการส่งเสริมจากภาครัฐ) คือ การที่มีผู้ผลิตชิ้นส่วนเพิ่มมากขึ้น คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 2,374 ล้านบาท ในช่วงปีที่ 1-5 และจะขยับขึ้นเป็น 7,588 ล้านบาท ในปีที่ 6-10 จากที่มีผู้ผลิตเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า


ขณะที่ผลกระทบด้านลบต่ออุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 4,579 ล้านบาท ในช่วงปีที่ 1-5 และจะขยับขึ้นเป็น 14,650 ล้านบาท ในปีที่ 6-10 จากการผลิตชิ้นส่วนที่น้อยลงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหลักคือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนระบบส่งกำลังเช่นเกียร์ เพลา, ผู้ผลิตท่อไอเสีย, ลูกสูบและเทอร์โบ เป็นต้น
















รวมแล้วมูลค่าของอุตสาหกรรมจะหายไปเฉลี่ยนับหลายพันล้านบาทในช่วงเวลาสิบปีนับจากนี้ ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐตัวเลขมูลค่าเฉลี่ยจะขยับสูงขึ้นหลายเท่าตัว โดยมูลค่าของอุตสาหกรรมจะติดลบกว่า สองหมื่นล้านบาท ในช่วงเวลาสิบปี




โดยเฉพาะผลกระทบในส่วนของการจ้างแรงงานที่ผลวิจัยระบุว่า แรงงานจะตกงานมากกว่าสามพันคนในกรณีปกติ และถ้ามีการสนับสนุนให้รถยนต์ไฟฟ้าแจ้งเกิดเร็วขึ้นจะทำให้แรงงานมีโอกาสตกงานสูงถึงกว่าหนึ่งหมื่นอัตราในช่วงเวลาสิบปีข้างหน้านี้


ดังนั้นทางกลุ่มผู้วิจัยจึงมีความเห็นให้ภาครัฐพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนออกมาตรการสนับสนุนใดๆ พร้อมเสนอแนวทางในการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการสนับสนุนในการเปลี่ยนแปลงสู่การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้เป็นที่แพร่หลาย


















สำหรับการสร้างการรับรู้ ยอมรับ และเพิ่มความต้องการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งแบบผสมผสาน (ไฮบริด) และแบบไฟฟ้าล้วน (อีวี) โดยสามารถทำได้หลายทางเช่น ยกเว้นภาษีสรรพสามิต, ลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลของผู้ครอบครองรถยนต์ไฟฟ้า, ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนรถใช้เครื่องยนต์เป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วน, ลงทุนและส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยเพื่อรองรับการใช้งานไฟฟ้าที่มากขึ้น




ทั้งนี้ รวมถึง ปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสมและสนับสนุน C.A.S.E. นั่นคือ Connected การเชื่อมต่อ , Autonomous ระบบขับขี่อัตโนมัติ, Sharing การใช้งานรถยนต์ร่วมกัน, Electrification การใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานขับเคลื่อน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ภาครัฐควรมีการเตรียมความพร้อม














อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยนั้นมีการประเมินมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านบาทต่อปี จากความสามารถในการผลิตและส่งออกได้ถึงปีละ 2 ล้านคัน ซึ่งหากมีการเปลี่ยนเข้าสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้น แล้วประเทศไทยไม่มีความพร้อม ตัวเลขมูลค่าดังกล่าวอาจจะลดลง เนื่องจากหากกลุ่มประเทศลูกค้าต้องการยานยนต์ไฟฟ้าแต่ประเทศไทยไม่มีรถยนต์ไฟฟ้าส่งออก ประเทศไทยจะสูญเสียมูลค่าตลาดอย่างมหาศาล




ขณะเดียวกันยังมีผลกระทบด้านอื่นเช่น การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น ที่ถือว่า มีมูลค่ามหาศาลไม่แพ้กัน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการใช้งานที่ลดลง รวมถึงการประเมินการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และจะขยายกำลังการผลิตอย่างไรให้เพียงพอต่อการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทีมวิจัยเองยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้เพื่อทำการวิจัย



















ถึงบรรทัดนี้ เป็นที่ยอมรับกันในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แล้วว่า รถยนต์ไฟฟ้า กำลังจะเข้ามาแทนที่รถใช้เครื่องยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รอเพียงแค่เทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่พัฒนาไปถึงจุดที่รองรับการขับขี่และใช้งานได้ไม่ต่างจากรถใช้เครื่องยนต์ และเมื่อวันนั้นมาถึงแล้วประเทศไทยยังไม่มีการเตรียมความพร้อมใดๆ รับมือ ไทยจะสูญเสียอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนหลักของประเทศไปอย่างน่าเสียดาย




















ข้อมูลเพิ่มเติม

เป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์อันดับที่ 12 ของโลก โดยปี 2560 มียอดผลิตรวมกว่า 1.98 ล้านคัน โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนกว่า 5.8 % ของ GDP และสร้างมูลค่าการส่งออกในหมวดสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบได้สูงถึงกว่า 9.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 12 % มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยทั้งหมด




จาการศึกษาของสถาบันยานยนต์พบว่า มีผู้ประกอบที่เกี่ยวข้องกับอยู่ในโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยกว่า 1,800 ราย และเกี่ยวข้องกับแรงงานทางตรงกว่า 7.5 แสนคนโดยแบ่งเป็นผู้ประกอบรถยนต์หลัก 21 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วน Tier-1 720 ราย (เพียง 33 % เป็นบริษัทไทย) และผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ Tier-2 และ Tier-3 อีกกว่า 1,000 ราย (ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SME สัญชาติไทย) โดยผู้ประกอบการที่อยู่ในโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังคงมีทิศทางเติบโตขึ้นจากนโยบาย Local Content Requirements ประกอบกับทิศทางความต้องการยานยนต์ในไทยและตลาดโลกที่ยังคงมีสูงขึ้น

















ทั้งนี้ จากแนวโน้มวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำใหอุตสาหกรรมยานยนต์มีทิศทางปรับตัวสู่ยุคของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) ซึ่งกระแสรถยนต์พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า EV (Electric Vehicles : EV) รวมถึงรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicles) โดยตั้งความหวังให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญในภูมิภาค รวมทั้งผลักดันให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็น Product Champion ลำดับที่ 3 ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต โดยเริ่มต้นผลักดันให้มีการผลิตรถยนต์ ในกลุ่ม S-Curve ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายให้มีรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสม 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579




การเกิดขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จะส่งผลถึงผู้ประกอบการในโซ่อุปทานเดิมและสร้างให้เกิดผู้ประกอบการในโซ่อุปทานใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในส่วนของตลาด OEM (Original Equipment Manufacturer) เนื่องจากความต้องการชิ้นส่วนของผู้ประกอบรถยนต์และของผู้บริโภคจะมีการเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงความต้องการ Software รองรับระบบต่างๆ ที่เป็นนวัตกรรมในอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตไม่ว่าจะเป็น Autonomous Driving, Shared Mobility, Connected Mobility ที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ซับซ้อนมากขึ้น




















ทั้งนี้โครงการการวิเคราะห์ผลกระทบของโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles : EV) เพื่อพัฒนานโยบายการพัฒนาและปรับตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเพื่อรองรับ EV จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนโยบาย สถาบันเอกชนที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบรถยนต์ ผู้ประกอบการ และภาคการศึกษา เพื่อศึกษาจำลองสถานการณ์ และวิเคราะห์ผลกระทบเศรษฐศาสตร์ของโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อปรับเปลี่ยนเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และเพื่อพัฒนานโยบายที่เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของไทย
















กำลังโหลดความคิดเห็น