“เอสซีจี” ผนึก “เอไอเอส” และ “ม.อ.” ปักหมุดสร้างต้นแบบ 5G ในภาคอุตสาหกรรมได้สำเร็จ รายแรก! หลังทดสอบใช้งานจริง 5G ควบคุมรถยกผ่านทางไกล เพิ่มความปลอดภัยในงานที่มีความเสี่ยง สะท้อนศักยภาพผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมนำประเทศไทยสู่ยุค 5G ขับเคลื่อน Thailand 4.0
นับเป็นก้าวสำคัญด้านเทคโนโลยีของประเทศ เมื่อ“เอสซีจี”และ“เอไอเอส” พร้อมด้วย“มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” ผนึกกำลังร่วมทดลองทดสอบการใช้งานจริง 5G ในภาคอุตสาหกรรมได้สำเร็จ เป็นรายแรกของไทย ภายใต้การสนับสนุนของ กสทช. ด้วยการนำเทคโนโลยี 5G มายกระดับอุตสาหกรรม 4.0 โดยร่วมกันพัฒนา “รถยกต้นแบบ” ให้สามารถ “ควบคุมผ่านระยะไกลบนเครือข่าย 5G” จากเอสซีจีสำนักงานใหญ่บางซื่อในกรุงเทพฯ ไปที่โรงงานของเอสซีจีในจังหวัดสระบุรี โดยผู้ควบคุมรถยกไม่ต้องอยู่ที่เดียวกับรถ แต่สามารถควบคุมรถให้เคลื่อนย้ายสิ่งของจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดที่ต้องการได้แบบเรียลไทม์และแม่นยำ ช่วยเพิ่มผลิตผลให้ธุรกิจ สามารถต่อยอดไปสู่การฝึกอบรมพนักงานทางไกล และเพิ่มความปลอดภัยในงานที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งถือเป็นต้นแบบให้อุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงกับธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้
พร้อมกันนี้ “เอสซีจี” และ “เอไอเอส” ยังร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในการร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเครือข่าย 5G ในโครงการอื่นๆ ตลอดจน ร่วมพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพพร้อมแข่งขันบนโลกยุคดิจิทัล เป้าหมายเพื่อร่วมกันสร้าง 5G Ecosystem ของการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืน ช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย และคุณภาพชีวิตของคนไทยไปอีกขั้น มุ่งขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0
๐ ความร่วมมือครั้งสำคัญ
อรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ผู้อำนวยการ โครงการระบบอัตโนมัติและอุตสาหกรรม 4.0 เอสซีจี กล่าวถึงความร่วมมือครั้งสำคัญนี้ว่า เอสซีจีมุ่งปรับเปลี่ยนการดำเนินงานด้านต่างๆ ในทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง แพคเกจจิ้ง และเคมิคอลส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้องค์กรเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยจัดตั้งคณะทำงานด้าน Mechanization, Automation and Robotics (MARs) และ Industry 4.0 ขึ้น ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับกระบวนการผลิตให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ด้วยการนำเทคโนโลยีด้าน MARs และ Industry 4.0 มาผสมผสานกัน
โดยใช้เงินลงทุนกว่า 860 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 จนออกมาเป็นโซลูชันต่างๆ อาทิ การแจ้งเตือนเครื่องจักรก่อนการซ่อมบำรุง (Smart Maintenance) การใช้หุ่นยนต์ในห้องปฏิบัติการด้านการตรวจวัด (Smart Laboratory) การทำระบบจ่ายปูนให้ลูกค้าแบบอัตโนมัติ (Smart Dispatching) และการเชื่อมโยงข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ทุกคนเห็นข้อมูลเดียวกันที่ถูกต้องและนำมาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ รวมทั้งตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น
“เอสซีจีให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จได้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับเอไอเอสในครั้งนี้ เพื่อให้ลูกค้าของเราได้รับสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น”
สำหรับโครงการ “การพัฒนารถ Forklift ขับเคลื่อนระยะไกลด้วยเครือข่าย 5G”เริ่มดำเนินการที่โรงงานของเอสซีจี ใน จ.สระบุรี เป็นแห่งแรก เพราะมีการเคลื่อนย้ายทั้งวัตถุดิบและสินค้าโดยใช้รถ Forklift เพื่ออำนวยความสะดวกจำนวนมาก อีกทั้งรถ Forklift ยังเป็น material mobility ที่ควบคุมได้ง่ายที่สุด ก่อนจะต่อยอดไปทดลองกับเครื่องมืออื่นๆ ในอนาคต ซึ่งการนำเครือข่าย 5G ที่มีความรวดเร็วในการตอบสนองแบบเรียลไทม์ และมีความแม่นยำในการส่งผ่านข้อมูลที่จำเป็นสำหรับระบบอัตโนมัติขั้นสูงมาใช้ จะช่วยตอบโจทย์ของเอสซีจี ทั้งการมีผลิตผลที่มากขึ้นเพราะพนักงานสามารถควบคุมรถจากที่ใดก็ได้ อีกทั้งยังสามารถฝึกอบรมการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ให้กับพนักงานที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปที่หน้างาน
อรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ผู้อำนวยการ โครงการระบบอัตโนมัติและอุตสาหกรรม 4.0 เอสซีจี
ส่วนทิศทางของเอสซีจีในการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้เสริมขีดความสามารถของธุรกิจในอนาคต สามารถเป็นไปได้ทั้งการเพิ่มความปลอดภัยในงานที่มีความเสี่ยง เช่น การทำงานของเครื่องจักรบริเวณเหมืองและเตาเผาปูนซีเมนต์ การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เช่น การเพิ่มความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลขนาดใหญ่จากโรงงานในหลากหลายพื้นที่มายังศูนย์ควบคุมส่วนกลางเพื่อให้บริหารจัดการข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ และการเสริมประสิทธิภาพให้ธุรกิจโลจิสติกส์ การตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดีขึ้น เช่น การเสริมประสิทธิภาพของ IoT ในบ้าน ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและปลอดภัยในการอยู่อาศัยมากขึ้น หรือ Smart Home รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาตามแนวทาง Industry 4.0 ได้อย่างแท้จริง
๐ 5G เทคโนโลยีพลิกโฉมสังคมไทย
วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส กล่าวว่า 5G คือเทคโนโลยีที่จะเข้ามาพลิกโฉมสังคมไทย และยกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไปอีกขั้น พร้อมขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น Thailand 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนอำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารของผู้ใช้บริการโดยทั่วไป จากคุณสมบัติ 3 ส่วน คือ ความเร็วที่เพิ่มขึ้น, ขีดความสามารถการเชื่อมต่อ IoT และเครือข่ายที่ตอบสนองได้รวดเร็วและเสถียร
วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส
เอไอเอสทดลองทดสอบ 5G ครบแล้วทั่วไทย โดยเปิดพื้นที่ให้นักพัฒนา นักวิจัย นิสิตนักศึกษา และประชาชนได้ร่วมศึกษา ทดลอง ทดสอบการใช้งาน 5G ในหลากหลายมิติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยี 5G ว่ามีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างไร ตลอดจนมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือในการสร้าง Ecosystem ของการพัฒนานวัตกรรม
ความร่วมมือระหว่างเอไอเอส, เอสซีจี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของการทดสอบ 5G ในภาคอุตสาหกรรมไทย จากการร่วมคิดค้นและพัฒนาโซลูชั่นในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตด้วย 5G ทดลองทดสอบในสภาพแวดล้อมจริง บนคลื่นความถี่ 2.6 GHz ภายใต้การสนับสนุนของ กสทช. เป็นครั้งแรกที่จะได้เห็น Use Case จริงที่สามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงในอนาคต ผ่านการสาธิตการบังคับรถยกของ Forklift ขับเคลื่อนระยะไกล จากกรุงเทพฯ - สระบุรี เป็นครั้งแรกของภาคอุตสาหกรรมของไทย ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า เทคโนโลยี 5G จะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจของไทยได้เป็นอย่างดี
รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ผู้อำนวยการ โครงการอินโนเวชั่น ฮับส์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม การพัฒนานวัตกรรม 5G ยังมีองค์ประกอบและปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆ อีกหลายด้าน ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใน Ecosystem ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม 5G เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันในเวทีโลก พร้อมช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป
๐ Innovation hub สนับสนุนทุนวิจัย
รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ผู้อำนวยการ โครงการอินโนเวชั่น ฮับส์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล ทำงานวิจัยและพัฒนาอย่างใกล้ชิดกับ ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันศึกษา ทดลอง และทดสอบเทคโนโลยี 5G ในมิติต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความพร้อมมากที่สุด เพื่อส่งมอบต่อให้กับภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้งานได้จริง ส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม สำหรับงานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก Innovation hub กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อนำ platform ระบบสมองกลฝังตัวขั้นสูงสำหรับยานยนต์ ผสมกับระบบควบคุม latency ต่ำ ผ่านทางไกลบนเครือข่าย 5G AIS นำไปใช้จริงในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมได้ในอนาคต
ความร่วมมือระหว่าง SCG AIS และ PSU สร้างต้นแบบ 5G ในภาคอุตสาหกรรม โดยมี "สมชัย เลิศสุทธิวงค์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส (ที่ 3 จากซ้าย) และ "รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส" กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี (ที่ 4 จากซ้าย) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ