xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเส้นทาง AIS 5G จากทดลองในแล็บสู่ทดสอบในอุตสาหกรรมจริง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ (คนซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กับ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
เพื่อให้ภาพของการนำ 5G ไปใช้งานมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ เอไอเอส เดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่อง คือการเข้าไปร่วมกับองค์กรธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ นำเทคโนโลยี 5G เข้าไปร่วมทดสอบ ทดลอง หลังจากในช่วงปี 2019 ที่ผ่านมา ได้มีการเดินสายนำนวัตกรรมไปจัดแสดงทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

พอเข้าสู่ปี 2563 ซึ่งทุกฝ่ายต่างตั้งใจว่าจะเปิดใช้งาน 5G ในประเทศไทยให้ได้ เพื่อให้ประเทศไทยไม่เสียเปรียบในการแข่งขัน และเป็นแต้มต่อสำคัญในยุคของอุตสาหกรรม 4.0 ที่จะดึงทั้งการลงทุน และการจ้างงานเพิ่มขึ้น และสร้างโอกาสทางธุรกิจด้วยการนำเทคโนโลยีไปช่วย

วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (จำกัด) มหาชน หรือ เอไอเอส ให้ข้อมูลว่า ช่วงปีที่ผ่านมาเอไอเอส ได้มีการเปิดพื้นที่อย่าง AIS Playground ที่จัดแสดงการนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้งานในภาคธุรกิจต่างๆ และเปิดให้องค์กรธุรกิจที่สนใจเข้ามาปรึกษาถึงแนวทางในการนำ 5G ไปช่วยเสริมประสิทธิภาพของธุรกิจ

'การให้บริการ 5G จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากผู้ให้บริการเครือข่ายเพียงอย่างเดียว เพราะต้องมีการนำเสนอโซลูชันที่เหมาะสมกับการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย ทำให้ที่ผ่านมา เอไอเอส ได้เข้าไปร่วมมือกับภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาที่ให้ความสนใจพัฒนาเทคโนโลยี 5G เพื่อพัฒนาโซลูชันร่วมกัน'


โดยหลังจากที่พัฒนาโซลูชันที่เป็นต้นแบบขึ้นมาแล้ว ก็จะเริ่มเห็นภาคธุรกิจเริ่มนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับความต้องการของธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งเพื่อให้การนำไปใช้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เอไอเอส จึงเดินหน้าลงนามบันทึกข้อตกลงในการร่วมมือทดลอง และทดสอบ ร่วมกับอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเตรียมไปสู่การนำไปใช้งานต่อไปในอนาคต

***ทดสอบใช้จริงในภาคอุตสาหกรรม

เริ่มจากการนำ 5G เข้าไปใช้กับอุตสาหกรรมจริงเป็นครั้งแรก ไม่ใช่แค่การทดสอบในพื้นที่ปิดอย่างการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ในการใช้โครงข่าย 5G ร่วมกับทาง เอสซีจี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโซลูชันรถควบคุมระยะไกลบนเครือข่าย 5G มาใช้งาน

ด้วยการนำโซลูชันดังกล่าวมาใช้งานร่วมกับรถขนปูนซีเมนต์ภายในโรงงานของเอสซีจี ที่สระบุรี โดยใช้การบังคับควบคุมจากสำนักงานใหญ่ที่บางซื่อ ทำให้ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเคลื่อนย้ายปูนซีเมนต์โดยใช้รถ Forklift ที่ควบคุมผ่านเครือข่าย 5G

แน่นอนว่า นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของภาคอุตสาหกรรมในการนำโซลูชัน 5G ไปใช้งาน ซึ่งในอนาคตทาง เอสซีจี ก็ได้เตรียมแผนที่จะต่อยอดการนำ 5G ไปใช้งานควบคู่กับการลงทุนทางด้านไอที เพื่อให้โรงงานผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างแท้จริง

อรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ผู้อำนวยการ โครงการระบบอัตโนมัติและอุตสาหกรรม 4.0 เอสซีจี กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เอสซีจี ได้มีการนำดิจิทัล ทรานฟอร์เมชัน เข้ามาช่วยในการปรับปรุง และเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า


ภายใต้วัตถุประสงค์เพิ่มประสิทธิภาพในทุกๆ ขั้นตอนของการทำธุรกิจ พร้อมไปกับการยกระดับโรงงานผลิต ให้เข้าสู่โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) อย่างการนำหุ่นยนต์ เข้ามาช่วยวิเคราะห์คุณภาพของวัตถุดิบ และสินค้าในกระบวนการ ทำให้ควบคุมคุณภาพได้ต่อเนื่อง และแม่นยำ เมื่อเทียบกับการใช้คน

โดยที่ผ่านมาได้มีการลงทุนพัฒนาในระบบตรวจสอบสภาพของเครื่องจักร (Smart Maintenance) ซึ่งได้ขยายบริการให้แก่ลูกค้าภายนอก จนถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กระบวนการขนส่งอย่าง Smart Dispatching ที่นำเครื่องจักรมาช่วยจ่ายสินค้าให้แก่ลูกค้า

'เมื่อนำเทคโนโลยี 5G เข้ามาประยุกต์ใช้ในโรงงาน เอสซีจี สามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการในแต่ละภาคส่วน จะมองเห็นโจทย์ในการนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้อย่างไร'

อย่างทาง เอสซีจี ก็จะนำ 5G มาใช้ร่วมกับการพัฒนาทักษะของพนักงาน ในการนำไปใช้งานคู่กับ AR / VR ให้ผู้อบรมได้ลองฝึกประสบการณ์ใช้งานจริงกับเครื่องมือต่างๆ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่หน้างานได้

ขณะเดียวกัน เอสซีจี กำลังศึกษาถึงการนำรถยนต์ และหุ่นยนต์ ควบคุมระยะไกลผ่านเครือข่าย 5G เข้าไปใช้เพิ่มเติมในการขุดเหมืองปูน เพื่อช่วยลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับบุคลากร จนถึงการนำหุ่นยนต์ที่ควบคุมไปใช้งานกับเตาเผาปูนซีเมนต์ที่มีความร้อนสูง


วสิษฐ์ กล่าวเสริมถึงรูปแบบการทำตลาดของ 5G จะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่มีการประมูลคลื่นความถี่เพื่อนำมาใช้ให้บริการ 5G ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งถ้าเอไอเอส ได้คลื่นความถี่มาก็พร้อมที่จะเดินหน้าทำตลาด และเริ่มให้บริการให้เร็วที่สุด

'การให้บริการ 5G ของเอไอเอสในภาคอุตสาหกรรมหลักๆ แล้วจะอยู่ภายใต้กลุ่มลูกค้าองค์กรที่พี่ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ดูแลอยู่ เนื่องจากต้องมีการผสมผสานทั้งเทคโนโลยี เครือข่าย และผู้ให้บริการโซลูชันต่างๆ เข้าไปตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า'

***ต่อยอดสู่สนามบินอัจฉริยะ

หลังจากความร่วมมือกับทางเอสซีจีแล้ว เอไอเอส ยังได้เดินหน้าต่อด้วยการเข้าไปทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ขยายการพัฒนา Smart Airport Terminal ร่วมกับการท่าอากาศยานอู่ตะเภาเพิ่มเติม จากที่ก่อนหน้านี้เข้ามร่วมพัฒนาดิจิทัล โซลูชัน สำหรับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 มาตั้งแต่กันยายน 2561

สำหรับความร่วมมือกับอู่ตะเภาในครั้งนี้ เกิดขึ้นเพื่อที่เอไอเอส จะนำเครือข่าย 5G เข้าไปศึกษา และพัฒนาโซลูชันที่เหมาะสมกับธุรกิจการบิน พร้อมกับนำหุ่นยนต์ AI เข้าไปช่วยบริการผู้โดยสาร เกี่ยวกับการให้ข้อมูลพื้นฐานต่างๆ

ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เอไอเอสได้ร่วมพัฒนาโซลูชันSmart Airport Terminal และเปิดให้บริการดิจิทัลไปแล้ว 2 ระบบ คือแอปพลิเคชัน Thailand Smart Airport และเทคโนโลยีทางด้านความปลอดภัย


ด้วยการนำระบบวิเคราะห์และประมวลผลภาพวิดีโออัจฉริยะ ใช้เป็นระบบตรวจจับและรับรู้ใบหน้าบุคคลและสิ่งของในพื้นที่อาคารสนามบิน, ตรวจจับวัตถุต้องสงสัย แจ้งเตือนกรณีมีวัตถุถูกวางทิ้งไว้เป็นเวลานานผิดปกติ

จากความร่วมมือล่าสุดนี้ จึงแสดงให้เห็นว่า เอไอเอส พร้อมที่จะเข้าไปร่วมมือกับภาครัฐและพันธมิตร เตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และเครือข่าย 5G เพื่อในอนาคตเมื่อ 5G มาถึงประเทศไทยจะพร้อมรองรับการร่วมพัฒนาและต่อยอดดิจิทัลโซลูชันต่อไป

สำหรับธุรกิจในสนามบินหวังว่าจะเป็นโครงการต้นแบบ 5G เพื่อภาคอุตสาหกรรมการบินต่อไป เหมือนที่ทำงานร่วมกับทางเอสซีจี เพื่อเป็นต้นแบบของการนำไปใช้งานจริงในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แม้ว่า เอไอเอส จะไม่ได้มีการเปิดเผยรายชื่อของพันธมิตรที่จะร่วมลงนามเอ็มโอยูในการร่วมพัฒนา 5G ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่เชื่อได้ว่า หลังจากนี้ จะเห็นแนวทางที่เข้าไปร่วมกับผู้นำ หรือรายใหญ่ในแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันพัฒนาโซลูชัน 5G มาใช้งานกันแน่นอน

เพราะจากที่ เอไอเอส ทำโชว์เคสนำโซลูชัน 5G มาใช้งาน ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่สามารถนำ 5G ไปประยุกต์ใช้งานได้ อย่างสาธารณสุข ที่เคยร่วมกับทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทดสอบการผ่าตัดทางไกลผ่านเครือข่าย 5G ที่นำหุ่นยนต์ผ่าตัดมาควบคุมระยะไกล ที่ต้องการทั้งความแม่นยำ การตอบสนองแบบทันทีทันใด หรือแม้แต่การควบคุมโดรนทางไกล ที่เชื่อมต่อไปยังอุตสาหกรรมการเกษตร การขนส่งและโลจิสติกส์, การเกษตร, ความปลอดภัยสาธารณะ,การกู้ภัยรวมถึงการนำไปใช้ควบคุมโดรนภายในเมืองอัจฉริยะได้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น