จั่วหัวมาแบบนี้ ต้องมีคำถามตามมามากมายอย่างแน่นอน ขอให้เก็บคำถามเหล่านั้นเอาไว้ แล้วตั้งใจอ่านก่อน เพราะคำตอบอาจจะอยู่บรรทัดใด หรือย่อหน้าใดย่อหน้าหนึ่งในบทความชิ้นนี้ก็เป็นได้ ฮอนด้า ซิตี้ โฉมใหม่ นับเป็นเจเนอเรชันที่ 5 ของรุ่น ซึ่งเราได้ทดลองขับแบบสั้นไปหนึ่งครั้งหลังเปิดตัวเมื่อปลายปี
การขับขี่ในคราวนี้เป็นแบบขับเต็มรูปแบบ บนถนนจริง ในเส้นทางเชียงราย-เชียงของ ได้ลองขับและนั่งชนิดครบถ้วน กับระยะทางรวมกว่า 200 กม. ไปชมกันว่า ขับแล้วเป็นอย่างไรบ้าง
RS - SV
เริ่มกันที่สเปกเบื้องต้นของฮอนด้า ซิตี้ กันก่อน ขอเล่าแบบย่อๆ เพราะเขียนมาหลายครั้งแล้วลองย้อนกลับไปอ่านเพิ่มเติมได้ เครื่องยนต์ตัวนี้หยิบมาจาก ฮอนด้า ซีวิคที่ทำตลาดในยุโรป แล้วมาปรับปรุงให้เข้ากับเงื่อนไขของโครงการอีโคคาร์ เฟสสอง ที่ต้องการ ไอเสียต่ำกว่า 100 กรัม /กม. และประหยัดมากกว่า 23 กม./ลิตร แน่นอนว่า ซิตี้ เทอร์โบ ทำได้สบาย
สำคัญของเครื่องยนต์ชุดนี้คือ การใช้อินเตอร์คูลเลอร์แบบน้ำช่วยลดความร้อนที่มาจากเทอร์โบ ทำให้ได้กำลังที่สูง บวกกับการใช้ระบบ Dual VTC เพิ่มลดองศาการเปิด-ปิดวาล์วทั้งไอดีและไอเสีย รวมถึง การใช้ระบบฉีดตรง โดยผสานการทำงานกับเกียร์อัตโนมัติแบบซีวีทีที่ออกแบบใหม่หมด ซึ่งมีระบบอุ่นน้ำมันเกียร์ช่วยให้การเปลี่ยนเกียร์และการออกตัวหลังติดเครื่องยนต์มีความราบรื่น
ส่วนภายในห้องโดยสาร มีการออกแบบใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะรุ่น RS ที่ถือว่าเป็นตัวท็อปใหม่ ได้รับการติดตั้งเบาะนั่งหนังกึ่งผ้า รูปทรงที่เหมาะสมรับกับสรีระร่างกาย นั่งแล้วรู้สึกถึงความสบายอย่างมาก ทั้งทางด้านหน้าและด้านหลัง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเอาระบบพับเบาะออกไป ทำให้สามารถออกแบบวัสดุของเบาะให้หนาขึ้นได้
ซึ่งตัวเบาะของรุ่น SV นั้น มีความแตกต่างจากรุ่น RS จากการคุยกับวิศวกรและคำบอกเล่าของสื่อมวลชนท่านอื่นที่ได้ลองขับในคราวนี้ ทำให้ผู้เขียนต้องไปพิสูจน์ว่าแตกต่างกันจริงหรือไม่ แค่เพียงแรกเห็นตัววัสดุหุ้มก็แตกต่าง และแม้จะมีรูปทรงที่เหมือนกัน แต่เมื่อได้ทดลองนั่ง จะพบถึงความแตกต่างที่บรรยายได้ยาก บอกได้เพียงว่า รุ่น RS นั้นนั่งสบายกว่า ไม่ได้หวังให้เชื่อ แต่อยากให้ท่านที่กำลังสนใจจะจอง จงไปลองนั่งเปรียบเทียบดูก่อนว่าแบบไหนถูกใจกว่ากัน
ด้านของอุปกรณ์ต่างๆ นั้น ตัว RS จะมีให้มากกว่า SV เช่น ล้อขนาด 16 นิ้ว, ไฟหน้า LED , ระบบเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย, ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ, พนักท้าวแขนพร้อมที่วางแก้วเบาะหลัง, ลำโพง 8 จุด, ม่านถุงลมนิรภัย และระบบเชื่อต่อ Honda Connect โดยจ่ายแพงกว่ากัน 74,000 บาท (ดูตารางประกอบ)
ทำไมเราจึงนำสองรุ่นย่อยนี้มาเปรียบเทียบให้ทุกท่านทราบ เหตุผลคือ สัดส่วน 80% ของยอดจองฮอนด้า ซิตี้โฉมนี้นั้น ถูกจองอยู่สองรุ่นย่อยนี้ โดย RS มีสัดส่วน 35% SV 45% และอีกสองรุ่นย่อยที่เหลือ 20% ทั้งนี้การที่รุ่นท็อปและรองท็อปขายดีที่สุด แสดงให้เห็นว่า ปัจจัยเรื่องราคา ไม่สำคัญเท่ากับอุปกรณ์เสริม ยินดีจ่ายแพงกว่าเพื่อให้ได้มากกว่า
200 กม./ชม. วิ่งนิ่ง ไม่สั่น ไม่โม้
ทดลองขับในคราวนี้ เหมือนเช่นทุกครั้งของฮอนด้า มีการกำหนดเส้นทางเรียบร้อยและให้เราขับตามสบาย คันที่เราขับนั้นเป็นรุ่น RS เช็คลมยางเติมไว้ที่ 32 ปอนด์ กำลังดีไม่มาไม่น้อยเกินไป ส่วนน้ำมันที่ใช้เป็นแก๊สโซฮอล์ 95 ซึ่งวิศวกรแนะนำให้ใช้น้ำมันชนิดนี้ แม้ว่าจะเติม E20 และ 91 ได้
ความรู้สึกแรกหลังพวงมาลัย เบามือดี หลายสิ่งที่เราได้ลองสัมผัสมาแล้วเมื่อครั้งไปขับในโรงงาน คราวนี้ได้พิสูจน์แบบเต็มนิสัยการขับของผู้เขียน กดคันเร่งคิกดาวน์ ลองหลายครั้ง หลายย่านความเร็ว พบว่า เร่งได้ทันใจทุกครั้ง รถมีอาการพุ่งแบบเนียนๆ ไม่กระชาก กดคันเร่งตัวรถจะตอบสนองแบบทันท่วงที ไม่มีอาการรอรอบแต่อย่างใด ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวต้องขอบคุณการส่งกำลังของระบบเกียร์อัตโนมัติซีวีที ที่ได้รับการออกแบบใหม่ ให้มีความละเอียด แตะตอบสนองได้อย่างนุ่มนวลและทันใจ
ช่วงล่างคือหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เราประทับใจ รถวิ่งได้นิ่งดีแม้จะใช้ความเร็วสูง เช่นเดียวกับการดูดซับแรงสะเทือนทำได้ประทับใจ จนเรายอมยกคำว่าสบาย ในทุกย่านความเร็วให้ได้อย่างไม่ขัดใจ น่าจะถูกใจทุกคนได้ไม่ยากโดยเฉพาะคนมีครอบครัวไม่ว่าใครจะใช้คงไม่มีเสียงบ่น แต่จะมีเพียงเรื่องของเสียงยางบดพื้นถนนและเสียงลมที่กรอบกระจกจะค่อนข้างได้ยินชัด แม้ว่าฮอนด้าจะบอกว่ามีการเพิ่มวัสดุดูดซับเสียงมากขึ้นกว่าเดิมแล้วก็ตาม
พวงมาลัย อาจจะไม่ถึงกับคมมากเหมือนรถสปอร์ต แต่ก็ควบคุมได้ดั่งใจ เบามือ ให้การขับขี่เป็นเรื่องสบาย ปุ่มต่างๆ ที่อยู่บนพวงมาลัยนั้นใช้งานง่ายสะดวกดี ทัศนวิสัยชัดเจนทุกมุมมอง ซึ่งเป็นผลมากจากการออกแบบให้คนขับนั้นอยู่ในตำแหน่งที่นั่งเป็นแนวเส้นตรง
สำหรับสิ่งที่ประทับใจเรามากที่สุดคือ เบรก ขอชมแบบให้คะแนนเต็มสำหรับระบบเบรกที่ทำน้ำหนักการเบรกได้ประทับใจ ผิดนิสัยเบรกของรถฮอนด้ารุ่นก่อนๆ เทียบเคียงได้กับ เรือธงอย่างฮอนด้า แอคคอร์ด ที่เบรกแล้วไม่มีอาการหัวทิ่ม หรือส่ายและเหมือนจะเอาไม่อยู่แต่อย่างใด
ความเร็วสูงสุดที่เราแอบลอง (ในพื้นที่ปิด ที่ปลอดภัย) คือสามารถวิ่งไปแตะบนหน้าปัดได้ที่ 210 กม./ชม. เช่นเดียวกับสื่อมวลชนหลายท่านในทริปต่างก็สามารถขับไปแตะที่ตัวเลขระดับกว่า 200 กม./ชม.ได้ ซึ่งเมื่อสอบถามทีมวิศวกร บอกว่า มีการล็อกความเร็วไว้ที่ 200 กม./ชม.
ทำไมต้องขับเร็วถึงขนาดนั้น คำตอบคือ เพียงแค่อยากลองดูว่าจะทำความเร็วสูงสุดได้เท่าไหร่ ความรู้สึกของช่วงล่างเป็นอย่างไร คำตอบที่ได้คือประทับใจมาก หลายโค้งเราเข้าด้วยความเร็วสูงกว่า 120 กม./ชม. โดยเป็นการเข้าตามไลน์ปกติ เลี้ยงพวงมาลัยแบบเนียน ให้ความรู้สึกที่สบาย และขับสนุกทุกย่านความเร็ว
ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งคือ การเข้าโค้งแบบเรซซิ่งไลน์ จะมีแรงเหวี่ยงโยนมากกว่า ดังนั้นถ้าคุณมีพฤติกรรมการขับแบบเรซซิ่ง แนะนำว่า ควรเปลี่ยนยาง เพราะยางที่ให้มามีหน้าที่แคบเพราะสเปกคือ 185/55 R16 สำหรับรุ่นRS ซึ่งการใช้สเปกนี้เนื่องจากเพื่อให้ผ่านมาตรฐานการประหยัดน้ำมันระดับที่มากว่า 23 กม./ลิตร
มีคำแนะนำว่า ควรล็อกไว้ที่ 180 กม./ชม. ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของฮอนด้า ซิตี้ นั้นมีทุกเพศทุกวัย โดยฮอนด้า ขอรับไว้พิจารณา อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า คันเร่งอยู่ที่เท้าของเรา ดังนั้น ทุกอย่างย่อมต้องอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ขับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หลายช่วง มีการขึ้นลงภูเขา รถตอบสนองด้วยพละกำลังที่เหลือเฟือมาก จังหวะการส่งกำลังราบรื่น รวมถึงการเกาะถนนที่ไม่ผิดหวัง ซึ่งขาขับกลับนั้นเราได้ลองนั่งทางเบาะหลัง ขอฟันธงด้วยคำว่า สบาย ไม่แตกต่างจากคนขับ ไร้อาการเวียนหัวแม้จะขับบนเส้นทางคดเคี้ยวขึ้นลงเขาแบบนี้ก็ตาม
อัตราการบริโภคน้ำมัน จากการขับของเราที่เร่งเต็มสปีด พร้อมกับการลองหาอัตราเร่งในทุกย่านความเร็วและมีการขับแช่ความเร็วสูงกว่า 140 กม./ชม. เป็นส่วนใหญ่ (รวมการขับหาความเร็วสูงสุดด้วย) ระยะทางราว 100 กม. ตัวเลขระบุ 10.4 กม./ลิตร สำหรับผมถือว่าประทับใจ ส่วนอัตราการบริโภคน้ำมันแบบขับทั่วไป 90-120 กม./ชม. นั้น เราเห็นตัวเลขประมาณ 15-16 กม./ลิตร
เหนือสิ่งอื่นใด วิศวกร ยืนยัน 100% ว่า รถฮอนด้า ซิตี้ เทอร์โบ สามารถดับเครื่องยนต์ได้ทันที โดยไม่ต้องห่วงเรื่องของเทอร์โบจะได้รับความเสียหายจากความร้อนสะสม และสิ่งนี้เราก็ได้พิสูจน์มาเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า แม้จะขับแช่ความเร็วสูงมานานๆ ก็สามารถดับเครื่องได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะพังแต่อย่างใด ส่วนในระยะยาวนั้น มีปัจจัยอื่นมาเป็นตัวแปรที่มากกว่า เช่น การเปลี่ยนถ่ายของเหลวต่างๆ ตามระยะ
เหมาะกับใคร
ทุกเพศทุกวัย ฮอนด้าตั้งใจทำรถมาตอบสนองคนทุกกลุ่มรวมถึง การเป็นรถคันแรกในชีวิตของใครบางคนด้วย สำหรับเราหากให้เลือก ยืนยันว่า RS เป็นคำตอบสุดท้าย แม้ว่าจะแพงกว่าก็ตาม ด้วยเหตุผลง่ายๆ “ขับแล้วสบาย” ไม่มีใครบ่นแน่นอน
5 ตัวเลขน่ารู้กับ Honda City Turbo
40,000 กม. คือระยะเปลี่ยนถ่ายนำน้ำเกียร์
8,000 กม.ขึ้นไป คือ ระยะทางเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ขึ้นกับระบบที่จะแจ้งเตือน
95 คือ น้ำมันที่แนะนำให้เติม
4.3 กิโลกรัม คือ น้ำหนักที่เบาลงของโครงสร้างตัวถัง
3 ปี คือระยะเวลาของการพัฒนาซิตี้ในประเทศไทย