xs
xsm
sm
md
lg

ฮอนด้าตามรอยโตโยต้า เรียกคืนรถยนต์ 2.7 ล้านคัน จากปัญหา “ถุงลมนิรภัย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากรอยเตอร์
รอยเตอร์ - ฮอนด้า มอเตอร์ โค เมื่อวันอังคาร (21 ม.ค.) เปิดเผยว่าจะเรียกคืนรถยนต์รุ่นเก่าในสหรัฐฯ และอเมริกาเหนือ รวม 2.7 ล้านคัน จากความเป็นไปได้ที่จะมีความบกพร่องในระบบสูบลมของถุงลมนิรภัย ความเคลื่อนไหวซึ่งเกิดขึ้นในวันเดียวกับที่โตโยต้าเรียกคืนรถยนต์หลายล้านคัน จากปัญหาเกี่ยวกับถุงลมนิรภัยเช่นกัน

ความบกพร่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับระบบสูบลมของถุงลมนิรภัยทากาตะคนละรุ่นกับตัวที่เป็นต้นตอที่ทำให้เกิดการเรียกคืนด้านความปลอดภัยทั่วโลกครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในอุตสาหกรรมยานยนต์ก่อนหน้านี้ ในนั้นรวมถึงการเรียกคืนรถยนต์ 42 ล้านคันในสหรัฐฯ เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตรถยนต์ 19 ราย

การเรียกคืนครั้งใหม่ครอบคลุมรถยนต์ของทั้งแบรนด์ฮอนด้า และอาคูร่า รุ่นตั้งแต่ปี 1996 จนถึง 2003 โดยเบื้องต้นเป็นการเรียกคืนในสหรัฐฯ 2.4 ล้านคัน และในแคนาดา 300,000 คัน อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทฯ ยังไม่ได้สรุปจำนวนรถยนต์ที่จะดำเนินการเรียกคืนในประเทศอื่นๆ

ทากาตะ ประกาศแจ้งเกี่ยวข้องข้อบกพร่องใหม่นี้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน สำหรับตัวสูบลมถุงลมนิรภัยที่ติดตั้งในรถยนต์ของค่ายผู้ผลิต 4 แห่ง ในนั้นรวมถึงฮอนด้า

ฮอนด้าบอกว่า การเรียกคืนครอบคลุมรถยนต์ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยด้านหน้าคนขับซึ่งผลิตโดยไม่ใช้สารเคมีเอไซด์ และระบุว่าทุกการตรวจสอบและซ่อมแซมจะเริ่มขึ้นในราวๆ 1 ปี เนื่องจากซัปพลายเออร์เจ้าอื่นยังไม่มีอะไหล่มาทดแทน

บริษัท ฮอนด้า ระบุในถ้อยแถลง “แสดงความเสียใจต่อความไม่สะดวกและความยุ่งยากที่เกิดขึ้นกับลูกค้าของเราในระหว่างที่เรากำลังหาทางแก้ไขสถานการณ์ ฮอนด้าเชื่อว่าความเสี่ยงจากถุงลมนิรภัยบกพร่องที่ติดตั้งในรถยนต์ของเรายังอยู่ในระดับต่ำมาก แต่เราไม่อาจการันตีประสิทธิภาพหากเรียกคืนแค่บางส่วน”

ก่อนหน้านี้ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ค่ายรถสัญชาติญี่ปุ่นเช่นเดียวกับฮอนด้า แถลงเมื่อวันอังคาร (21 ม.ค.) ว่าจะเรียกคืนรถยนต์ 3.4 ล้านคันทั่วโลก สืบเนื่องจากข้อบกพร่องในระบบไฟฟ้าซึ่งอาจทำให้ถุงลมนิรภัยไม่ทำงานตอนประสบอุบัติเหตุ

การเรียกคืนครั้งนี้ซึ่งรวมถึงรถยนต์ 2.9 ล้านคันในสหรัฐฯ ครอบคลุมรถยนต์โคโรลลาปี 2011-2019, โตโยต้า แมทริกซ์ รุ่นปี 2011-2013, โตโยต้า อวาลอน รุ่นปี 2012-2018 และ โตโยต้า อวาลอน ไฮบริด รุ่นปี 2013-2018 หลังจากมีรายงานการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้น

กล่องควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (ECU) ในรถยนต์รุ่นเหล่านี้อาจไม่มีตัวป้องกันสัญญาณรบกวนไฟฟ้า (electrical noise) ซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่างการชนที่ดีพอ ซึ่งจะทำให้ถุงลมนิรภัยทำงานเพียงบางส่วนหรือไม่ทำงานเลย นอกจากนี้ยังอาจรบกวนการทำงานของเข็มขัดนิรภัยแบบดึงกลับ (seat-belt pretensioner) ด้วย

เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว สำนักงานความปลอดภัยจราจรทางหลวงแห่งชาติสหรัฐฯ (U.S. National Highway Traffic Safety Administration - NHTSA) ได้ขยายการสอบสวนโดยพุ่งเป้าไปยังถุงลมนิรภัยที่อาจมีความบกพร่องจำนวน 12.3 ล้านชิ้นในรถยนต์หลายยี่ห้อ รวมถึงรุ่นที่โตโยต้ากำลังเรียกคืน หลังได้รับแจ้งอุบัติเหตุการชนทางด้านหน้าที่รุนแรง 2 ครั้ง

NHTSA ระบุว่า มีรายงานผู้เสียชีวิต 8 รายที่อาจเชื่อมโยงกับความบกพร่องดังกล่าว

ทั้งนี้ ผู้จัดจำหน่ายของโตโยต้าจะทำการติดตั้งเครื่องกรองสัญญาณรบกวน (noise filter) ระหว่างกล่องควบคุมถุงลมนิรภัยกับสายไฟ (wire harness) หากมีความจำเป็น

โตโยต้าปฏิเสธที่จะระบุว่ามีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากความบกพร่องดังกล่าวมากน้อยเท่าไหร่ และเตรียมส่งหนังสือแจ้งไปยังเจ้าของยานพาหนะที่ต้องถูกเรียกคืนภายในช่วงกลางเดือนมีนาคม
กำลังโหลดความคิดเห็น