xs
xsm
sm
md
lg

Nissan Almera 1.0Turbo เบาสมราคา คุ้มค่าคือคำตอบ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





นิสสัน ในฐานะผู้บุกเบิกและสร้างบรรทัดฐานหลายประการให้กับโครงการอีโคคาร์ของประเทศไทย ผ่านมาจนครบ 10 ปี นับจากการเปิดตัวครั้งแรกของนิสสัน มาร์ช เมื่อปี 2010 และเมื่อปี 2019 นิสสัน เข้าสู่การลุยภายใต้โครงการอีโคคาร์เฟสสอง นำทัพโดยโมเดลแรกสุด นิสสัน อัลเมร่า 1.0 เทอร์โบ ที่สร้างกระแสฮือฮาได้ไม่น้อยหลังเปิดตัวเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2562




อัลเมร่า 1.0 เทอร์โบ นั้น นอกจากการเป็นความหวังของหมู่บ้านแล้ว ยังถือว่าเป็นความกล้าครั้งใหม่ของนิสสันในการเลือกเอาเทคโนโลยีเทอร์โบมาใช้ ซึ่งยังไม่รู้ว่า ผู้บริโภคจะตอบรับดีแค่ไหน ประกอบกับจังหวะเดียวกันนี้ ค่ายฮอนด้า เปิดตัวซิตี้ 1.0 เทอร์โบออกมาพร้อมๆกัน ทำให้เกิดผลกระทบทั้งดีและร้ายที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ผลกระทบด้านร้ายคือ การแย่งลูกค้ากัน จากเดิมที่ซิตี้ถูกวางตำแหน่งไว้คนละคลาสแต่เมื่อ ย้ายพิกัดมาอยู่ในคลาสเดียวกันจึงต้องทำตลาดแข่งกันตรงๆ ส่วนด้านดีคือ การสร้างความมั่นใจในแง่ของเทคโนโลยี เทอร์โบ ให้กับลูกค้าเพราะมีผู้เล่นอยู่ในระดับเดียวกันด้วย





ซึ่งทีมงานเอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง ได้ทดลองขับ ฮอนด้า ซิตี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถึงคิวของการลอง นิสสัน อัลเมร่า บ้างมาดูกันว่า ผลลัพธ์หลังขับเป็นอย่างไรบ้าง




ออฟชันเต็ม ดีไซน์ดี วัสดุสมราคา
การออกแบบภายนอกของนิสสัน อัลเมร่า นั้นคือร่างเดียวกับ นิสสัน เวอร์ซ่า ที่จำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมากับกระจังหน้าทรง V-motion ไฟหน้าแบบ LED ทรงบูมเมอแรง ไฟท้ายดีไซน์ใหม่สอดรับกับการออกแบบเสาหลังใหม่ ที่ทำให้ดูเหมือน หลังคาลอยอยู่




เครื่องยนต์เทอร์โบ ขนาด 1.0 ลิตร รหัส HRA0 ให้กำลังสูงสุด 100 แรงม้า ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 152 นิวตันเมตรที่ 2,400-4,000 รอบ/นาที โดยเป็นระบบฉีดนำ Indirect Injection ต่างจากฮอนด้า ซิตี้ที่เป็นระบบฉีดตรง Direct Injection ส่วนระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติแบบ Xtronic CVT

ออฟชันเสริมด้านความปลอดภัยคือสิ่งที่นิสสัน จัดมาให้อย่างเต็มที่สุดในคลาสนี้ โดยเฉพาะในรุ่นท็อปจะมี ถุงลมนิรภัย 6 จุด ระบบเบรก ABS , BA , EBD, ระบบควบคุมการทรงตัว VDC ,ระบบเตือนเมื่อมีความเสี่ยงต่อการชนด้านหน้าIFCWพร้อมระบบเบรกฉุกเฉิน IEB, กล้องมองรอบทิศทาง, ระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวรอบรถMOD ,ระบบเตือนจุดอับสายตา BSW และระบบจับวัตถุทางด้านหลังขณะถอยRCTA





ส่วนภายในห้องโดยสาร ดีไซน์คอนโซลหน้าดูล้ำสมัย แอร์อัตโนมัติใช้งานง่าย พวงมาลัยแบบD-shape ดูสปอร์ตดีแต่วัสดุหุ้มพวงมาลัยนั้นดูราคาถูกและลื่นไปสักหน่อย เบาะโดยสารนั่งแล้วกว้างขวางทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เบาะนั่งเป็นผ้ามีจุดดีคือไม่อมความร้อน แต่ไม่หรู การมีช่องเสียบ USB ที่ด้านหลังช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น




ระบบช่วงล่างหน้าเป็นแบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนหลังเป็นแบบทอร์ชันบีมพร้อมเหล็กกันโคลง ระบบเบรกหน้าดิสก์เบรก หลังดรัมเบรก ล้อขนาด 15 นิ้วเป็นมาตรฐานในทุกรุ่น โดยรุ่นท็อปและรองท็อปจะมีชุดซ่อมยางฉุกเฉินให้ในท้ายรถ ขณะที่รุ่นอื่นจะเป็นยางอะไหล่แบบชั่วคราว


































เร่งดีขึ้น แรงสมตัว เบาสมราคา
การขับนั้นทางนิสสัน วางเส้นทางให้เราขับจากภูเก็ตมุ่งหน้าไปยัง พังงา เส้นทางส่วนใหญ่เป็นถนนเรียบธรรมดา ไม่มีเนินชันหรือภูเขาแต่อย่างใด ซึ่งปัญหาของลูกค้า อัลเมร่าเดิมคือ รถมีกำลังไม่เพียงพอจะขึ้นทางชันๆ ดังนั้น เพื่อพิสูจน์ว่า เจ้ารุ่นใหม่ 1.0 เทอร์โบนี้จะมีปัญหาแบบนี้หรือไม่ เราจึงต้องนำรถออกไปวิ่งอีกครั้ง ก่อนจะไปถึงผลลัพธ์การขับขึ้นเขา มาเริ่มแบบเบาๆ กันสักหน่อยก่อน

เราเคยได้ลองขับแบบสั้นๆ เมื่อวันเปิดตัวมาแล้วครั้งหนึ่ง คราวนี้การขับจึงเน้นไปทางยาว ดูพละกำลังว่าเป็นอย่างไร สิ่งแรกที่สัมผัสได้คือ พวงมาลัยน้ำหนักเบามือเป็นอย่างดี แต่จะหนักขึ้นเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูงขึ้น ให้ความรู้สึกในการบังคับควบคุมที่ดีกว่ารุ่นก่อนหน้าอย่างมาก




คันเร่งเบาเท้า การออกตัว ตอบสนองทันใจกว่ารุ่นเดิม ค่อยๆ กดคันเร่งไล่ความเร็วขึ้นไป อัลเมร่า ทำได้เนียนดี เว้นแต่การออกตัวแบบกระแทกคันเร่งคิกดาวน์ จะยังมีความรู้สึกรอรอบทั้งจากเทอร์โบและเกียร์แบบซีวีทีที่ ดังแต่ท่อ ล้อไม่วิ่ง รอบเครื่องพุ่งทะลุไปกว่า 4,000 รอบ แต่รถยังค่อยๆ เพิ่มความเร็วขึ้นไป ไม่ต่างจากการไล่กดคันเร่งเพิ่มความเร็วปกติ ดังนั้น คำแนะนำเราคือ ไม่จำเป็นต้องคิกดาวน์ให้เปลืองน้ำมัน

บุคคลิกอย่างหนึ่งที่สัมผัสได้ชัดเจนมากคือ ในช่วงความเร็วราว 40-60 กม./ชม. การตอบสนองจะทันใจดีหากกดคันเร่งหนักเท้าเพื่อหวังจะแซง (ไม่ถึงคิกดาวน์) มั่นใจได้ แต่ย้ำอีกทีคือ ความเร็วจะค่อยๆ ขึ้น ไม่กระชาก หรือมีแรงดึงมากระทำกับเรา น้ำหนักเบรกทำได้พอเหมาะดีกับความแรงที่ให้มา หัวไม่ทิ่ม





ความเร็วที่เราใช้ส่วนมากอยู่ระหว่าง 90-120 กม./ชม. บางช่วงบางตอนที่เร่งแซงมีแตะถึง 140 กม./ชม. และความเร็วสูงสุดที่เราลองขับทำได้ที่ 160 กม./ชม. ซึ่ง ณ ความเร็วเกินกว่า 120 กม./ชม. เป็นต้นไป เสียงลมเริ่มดังรบกวนและหากขับทะลุเกิน 140 กม./ชม. จะมีความรู้สึกที่เราขอใช้คำว่า เบา แม้ตัวรถจะไม่สั่น ไม่ลอย และยังเกาะถนน ทรงตัวดี แต่ไม่หนึบ เรียกว่ารถไซส์นี้ขับได้ขนาดนี้ถือว่า ยอดเยี่ยมแล้ว

ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการเติมลมยางที่ทีมงานบอกว่า 38 ปอนด์สำหรับล้อหน้าและ 35 ปอนด์ สำหรับล้อหลัง นับว่าเติมลมแข็งอยู่ไม่น้อย






ระบบช่วงล่างดูดซับแรงสะเทือนได้สมกับราคาค่าตัว หากให้เทียบกับฮอนด้า ซิตี้ ต้องยอมรับว่า ซิตี้ทำได้ประทับใจเรามากกว่า แต่เมื่อหันไปมองส่วนต่างของราคารุ่นท็อปต่อรุ่นท็อปที่ 1 แสนบาท ผู้เขียนมองว่า เก็บส่วนต่างดังกล่าวแล้วไปหาซื้อชุดช่วงล่างเทพๆ มาใส่ น่าจะประทับใจไม่แพ้กัน แถมเงินยังเหลืออีก

สำหรับการนั่งเป็นผู้โดยสารทางด้านหลัง มีพื้นที่เหลือเฟือ กว้าง แต่ตัวเบาะสั้นไปสักหน่อย และไม่มีที่วางแขนตรงกลาง คุณภาพของวัสดุที่เป็นพลาสติก จับแล้วยังรู้สึกว่าเป็นพลาสติก แต่ส่วนคอนโซลหน้าที่เป็นหนังนั้นผิวสัมผัสเนียนตา ดูเรียบร้อยดี


อัตราการบริโภคน้ำมัน ตามการแสดงผลบนหน้าจอ หลังจากที่ขับไปกลับรวมระยะทางกว่า 200 กม. ระบุตัวเลข 16-17 กม./ลิตร กับการขับดังกล่าวถือว่า ประทับใจ เพราะหลายจังหวะที่เรากระแทกคันเร่งยาวๆ เพื่อลองอัตราเร่งแบบเต็มสปีด




หลังจบช่วงการทดลองขับปกติ เราจัดช่วงทดสอบพิเศษนำรถออกไปขับเส้นทางขึ้นลงเขาแบบชัน แถวๆ หาดในทอน พบว่า กำลังที่ให้มาเพียงพอแบบสบายๆ ไม่มีจังหวะไหนน่าห่วงแต่อย่างใด แม้ทางจะขึ้นสูงและชัน อัลเมร่า ขับผ่านได้แบบไม่ต้องกลัวแล้ว


ขณะที่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนให้ความเห็นแก่วิศวกรผู้พัฒนาของนิสสันไป เป็นเรื่องของแรงสั่นสะเทือนขณะรถจอดหยุดนิ่งแต่ติดเครื่องอยู่ ซึ่งรอบเดินเบานั้น มีแรงสั่นค่อนข้างชัด อันเนื่องมาจากการใช้เครื่องยนต์แบบ 3 สูบ โดยนิสสัน ลดการสั่นด้วยการใช้ตุ้มเหวี่ยงเพื่อถ่วงดุลเวลาลูกสูบหมุน ต่างจากฮอนด้า ที่ใช้การออกแบบการหมุนของลูกสูบทั้ง 3 ให้มีความสมดุล

อย่างไรก็ตาม ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มีความสงสัยและกังวลในแง่ของความทนทานของเครื่องยนต์ตัวนี้ เนื่องจากเมื่อมองถึงการจัดวางตำแหน่งของชิ้นส่วนต่างๆ แล้ว ความร้อนภายในห้องเครื่องน่าจะสูงและส่งผลกระทบทำให้ชิ้นส่วนที่เป็นยางหรือพลาสติกเสื่อมสภาพได้ไวกว่ารถที่ไม่มีเทอร์โบ ซึ่งผู้เขียนเองไม่สามารถหาคำตอบยืนยันในส่วนนี้ได้เพราะจะต้องใช้เวลานานนับหลายปีหรือวิ่งนับแสนกิโลเมตรแล้วจึงจะมีคำตอบที่แน่ชัดมาให้ได้




เหมาะกับใคร
ทุกคนคือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยเฉพาะรถคันแรกของครอบครัว ด้วยสนนราคาค่าตัวที่ย่อมเยากว่าคู่แข่งอย่างฮอนด้า ซิตี้ถึง 1 แสนบาท ทำให้ อัลเมร่า ตอบโจทย์ได้ตรงด้วยคำว่า คุ้มค่า โดยหากตัดเรื่องของแบรนด์และการบริการหลังการขายออกไป เราขอมอบคำว่า Best Value in class ให้กับ อัลเมร่า ได้อย่างไร้ข้อกังขา
















กำลังโหลดความคิดเห็น