“เราขอเรียนเชิญทุกท่านมาเยี่ยมชมและสัมผัสว่า เมื่อโตโยต้ากลายเป็นองค์กรแห่งการขับเคลื่อนแล้วนั้น จะเป็นอย่างไร เรานำเสนอหลากหลายผลิตภัณฑ์และบริการที่แสดงให้เห็นถึงความคิดที่ล้ำหน้า และมีความทันสมัย โดยหวังว่าจะมิใช่เพียงนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการ หากยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ยาวนาน และนำมาซึ่งคุณประโยชน์ในสังคมโดยรวม ขอเชิญมาเยี่ยมชมและสัมผัสด้วยตัวท่านเองนะครับ” คำกล่าวของ บุรุษหมายเลขหนึ่ง “อากิโอะ โตโยดะ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ 2019
ทันทีที่เข้าไปในส่วนจัดแสดงของโตโยต้าภายในงาน โตเกียว มอเตอร์โชว์ครั้งนี้ แน่นนอนว่าหลายคนสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นกับ โตโยต้า เนื่องจากไม่มีรถยนต์รุ่นใหม่หรือรถที่จำหน่ายในปัจจุบัน มาจัดแสดงแม้แต่คันเดียว สิ่งนี้คือ คำยืนยันการประกาศชัดถึงทิศทางของ คำว่า “องค์กรแห่งการขับเคลื่อน” ซึ่งโตโยต้า จะใช้เป็นแนวคิดหลักในการพัฒนารถในอนาคต เรามาถอดรหัสตีความกันแบบเข้าใจง่ายๆ กัน
ในคำกล่าวของ โตโยดะ สิ่งทื่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่สุดคือ “การเชื่อมต่อ” (Connected) ซึ่งหมายถึงการเชื่อมต่อระหว่างคนด้วยกัน ท่ามกลางบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นมิตร โดยโตโยต้าจะเป็นผู้นำพาในเรื่องของการเชื่อมต่อดังกล่าว ผ่านทางสิ่งประดิษฐ์แนวคิดทั้ง 9 ที่จัดแสดงในงานนี้
การเชื่อมต่อนี้ ไม่ได้หมายถึงการติดต่อสื่อสาร แต่เป็นการมีประสบการณ์ร่วมกัน การอยู่ร่วมกันในสังคม ที่มีการเกื้อหนุนดูแลกัน เช่น อี-พาเลตต์ ยานยนต์ที่เป็นได้ทั้งออฟฟิศ, ร้านค้า หรือแม้แต่โรงแรม ที่จะเดินทางไปหาคุณโดยอัตโนมัติ และจะพร้อมให้บริการนำร่องได้ปีหน้า ในช่วงโอลิมปิก ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในพาหนะสำหรับการขนส่งนักกีฬา
สำหรับ การนำ 9 สิ่งประดิษฐ์มาแสดงให้ผู้เข้าชมงานได้มีส่วนร่วมและสัมผัสอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่มีรถยนต์ที่จะขายแม้แต่คันเดียว สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของโตโยต้า ในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ที่อยากให้ผู้คนจดจำ ส่วนรถที่จะจำหน่ายนั้นถูกนำไปจัดแสดงไว้ทางด้านนอกพื้นที่งาน โดย โตโยต้า ยาริส ใหม่ที่เปิดตัวในงานนี้ถูกนำไปโชว์ในห้างสรรพสินค้าแทน
การปรับเปลี่ยนให้เป็นองค์กรเพื่อการขับเคลื่อน ไม่ได้แปลว่า โตโยต้า จะเลิกผลิตหรือเลิกขายรถ แต่เป็นการขยายบทบาทและการทำหน้าที่ขององค์กรให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ซึ่งถือว่าเป็นการทำนายอนาคต แน่นอนว่าอาจจะมีทั้งถูกและผิด
ทั้งนี้ช่วงหนึ่งของการกล่าว โตโยดะ ได้พูดถึง การถือกำเนิดขึ้นของรถยนต์นั้นทำให้ม้าถูกลดบทบาทลงไป ในปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่รถยนต์ก็จะถูกลดบทบาทลง ดังนั้น รถยนต์จึงต้องมีการปรับตัวให้เหมาะสม โดย เปรียบเทียบว่า รถยนต์จะต้องกลายเป็นเหมือน “ม้าอันเป็นที่รัก” (Beloved Horse) ซึ่งจะไม่มีอะไรมาแทนที่ได้ เพราะม้าสามารถหลบหลุมได้ กระโดดข้ามสิ่งกีดขวางได้ รวมถึงหยุด เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้เอง
อย่างไรก็ตาม แม้ โตโยดะ จะไม่ได้กล่าวตรงๆ แต่ สิ่งที่พูดมานี้คือ แนวคิดของรถยนต์อัตโนมัติ ที่กำลังพัฒนากันอยู่ ขณะเดียวกันยังมีการกล่าวถึงปรัชญาที่ถือว่าเป็นเสาหลักค้ำยันในการผลิตรถยนต์ของโตโยต้า ซึ่งมีสองส่วนคือ "Intelligent automation" and "Just-in-time"
ระบบอัตโนมัติอัจฉริยะ (Intelligent automation) คือ ระบบการผลิตที่สามารถหยุดการทำงานได้อย่างทันท่วงที เมื่อมีการตรวจเจอปัญหาในการผลิต เพื่อป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพ (Defected) ส่วนระบบทันเวลา (Just-in-time) คือ การผลิตแบบทันท่วงที ทำให้ผลิตรถได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า
ดังนั้น เมื่อมองถึงปรัชญานี้ การผลิตรถยนต์แต่ละรุ่นของโตโยต้า ที่ออกมาจำหน่ายนั้น จึงต้องมีความพิถีพิถันกว่าจะสำเร็จ ทำให้บางคนมองว่า โตโยต้า ช้ากว่าค่ายอื่นๆ โดยเฉพาะในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าในเวลานี้
แต่ความเป็นจริง หลายท่านยังไม่ทราบ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าชนิดแบตเตอรี่ โตโยต้า เคยมีจำหน่ายมาก่อนแล้วด้วยรุ่น ราฟ4 อีวี ในอเมริกา โดยรุ่นแรกทำตลาดตั้งแต่ปี 1997-2003 ในแบบเช่าซื้อ แต่ไม่ประสบความสำเร็จด้านยอดขาย ก่อนจะมาลองตลาดอีกครั้งในเจเนอเรชันที่ 2 ช่วงปี 2012 และยุติการทำตลาดไปเมื่อปี 2014
ปัจจัยส่วนหนึ่งเป็นเพราะ การปล่อยสินค้าที่ล้ำหน้าเกินไป ตลาดไม่ตอบรับ ฉะนั้นเมื่อแผลเก่ายังบาดเจ็บไม่ทันหาย หากโตโยต้าคิดจะทำรถยนต์ไฟฟ้าอีกครั้ง โตโยต้าจะไม่ซ้ำรอยเดิม จึงต้องหันมาพัฒนาสิ่งใหม่ที่จะมาเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการขับเคลื่อนของโลกใบนี้ และ “โซลิด สเตท แบตเตอรี่” (Solid State Battery) คือชื่อของเทคโนโลยีดังกล่าว
ซึ่งทีมงานเอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง ได้รับคำยืนยันอย่างเป็นทางการจากผู้บริหารระดับสูงของโตโยต้าว่า ในปีหน้า ค.ศ.2020 เราจะได้เห็นรถยนต์รุ่นแรกที่ใช้เทคโนโลยีโซลิด สเตท แบตเตอรี่ เปิดตัวสู่สายตาชาวโลก โดยคุณสมบัติเบื้องต้นของ โซลิด เสตท แบตเตอรี่ นั้น ว่ากันว่าจะใช้เวลา ชาร์จไฟเพียง 8 นาที สามารถเดินทางได้ 500 กม.
ถึงบรรทัดนี้ ภาพของ องค์กรแห่งการขับเคลื่อน และ ทิศทางรถยนต์โตโยต้า ชัดเจนว่ามุ่งไปสู่ การสร้างยานยนต์ไฟฟ้าที่ทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้อย่างครบถ้วนที่สุด แล้วคุณเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงแล้วหรือยัง...