BMW เคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ปั้นจีนเป็นฐานส่งออกรถหรูทั่วโลก ประเดิมด้วยการขึ้นสายการผลิตเอสยูวีไฟฟ้า iX3 ในโรงงานร่วมทุนที่เสิ่นหยางในอีกสองปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การเปิดตัวรถไฟฟ้าเต็มรูปแบบอย่างน้อย 12 รุ่นในปี 2025
บริษัทรถชื่อดังจากเยอรมันเปิดตัวต้นแบบ iX3 ในงานปักกิ่ง มอเตอร์โชว์ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 เมษายนถึง 4 พฤษภาคม โปรเจ็กต์นี้จะทำให้ BMW กลายเป็นผู้ผลิตรถหรูต่างแดนขนาดใหญ่แห่งแรกที่ส่งออกรถไฮเทคจากจีน และเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า จีนไม่ใช่ตลาดที่นิยมชมชอบแต่ของถูกอีกต่อไป
จนถึงตอนนี้ บริษัทรถต่างชาติที่ส่งออกรถเมด อิน ไชน่ายังมีเพียงจำกัดเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ผลิตเพื่อจำหน่ายในจีนแทนการนำเข้าที่ต้องเสียภาษีแพงมาก ตัวอย่างเช่นเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ที่ส่งออกคาดิลแลคและบูอิคเพียงไม่มากนัก ขณะที่วอลโว่ คาร์ที่ปัจจุบันเป็นของบริษัทจีน ส่งซีดาน S60 บางส่วนไปขายในอเมริกา ที่เคลื่อนไหวชัดเจนที่สุดในแง่ตัวเลขคือการตัดสินใจของฟอร์ด มอเตอร์เมื่อปีที่แล้วในการโอนการผลิตโฟกัสจากอเมริกาเหนือไปยังฉงชิ่ง ซึ่งคาดว่า จะช่วยประหยัดต้นทุนได้ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์
สำหรับ BMW จะใช้โรงงานในเสิ่นหยางที่ร่วมทุนกับบริลเลียนซ์ ไชน่า ออโตโมทีฟ โฮลดิ้งส์เป็นฐานป้อนเอสยูวีให้อเมริกา ตลาดใหญ่อันดับ 2 ของบริษัท แม้ความกังวลเรื่องที่วอชิงตันเงื้อง่าขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนยังลอยคว้างอยู่ก็ตาม
ปักกิ่งยืนยันว่า โครงการพัฒนา “เมด อิน ไชน่า 2025” จะช่วยให้บริษัทรถต่างชาติมั่นใจมากขึ้นว่า โรงงานที่ร่วมทุนกับผู้เล่นท้องถิ่นจะมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการส่งออก
ทิม เออร์กูฮาร์ต นักวิเคราะห์ด้านยานยนต์ของบริษัทวิจัยตลาด ไอเอชเอส มาร์กิต บอกว่า ผู้บริโภคคงไม่เกี่ยงว่า แหล่งที่มาคือที่ใดตราบที่รถผลิตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ ซึ่งชื่อชั้นระดับ BMW น่าจะรับประกันได้หายห่วง
อุตสาหกรรมจีนกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังจากเมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลประกาศว่า จะผ่อนคลายข้อจำกัดและอนุญาตให้บริษัทรถต่างชาติเข้าซื้อกิจการของหุ้นส่วนท้องถิ่นได้
การที่ BMW เลือกจีนเป็นสถานที่ผลิตเอสยูวีไฟฟ้ารุ่นแรกของบริษัทแต่เพียงแห่งเดียวในระยะแรกยังสะท้อนสิ่งที่อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังโฟกัสอยู่ในขณะนี้ ขณะเดียวกัน iX3 จะช่วยให้ BMW ที่ผลิตเอสยูวี X1 เวอร์ชันปลั๊ก-อิน ไฮบริดในจีนอยู่แล้ว ตอบสนองกฎการปล่อยไอเสียของจีนซึ่งเป็นตลาดอีวีใหญ่ที่สุดในโลกได้ดียิ่งขึ้น
มาร์ก ฟูลโทรบ จากไอเอชเอส บอกว่า ถึงอย่างไรบริษัทรถก็จำเป็นต้องผลิตอีวีในจีนอยู่แล้ว ขณะที่จีนเองกำลังเล็งเรื่องการส่งออก แม้จะหมายถึงการต้องแบ่งปันกำไรกับหุ้นส่วนในโครงการร่วมทุนก็ตาม
ปัจจุบัน BMW มีรถไฟฟ้าเต็มรูปแบบเพียงรุ่นเดียวคือซิตี้คาร์ i3 ที่เปิดตัวเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ส่วนมินิไฟฟ้าจะส่งลงโชว์รูมปีหน้า
สำหรับ iX3 นั้นวิ่งได้ระยะทาง 400 กิโลเมตรจากการชาร์จแบตเตอรี่หนึ่งครั้ง ติดตั้งมอเตอร์ที่ให้ขุมพลัง 270 แรงม้า ที่สำคัญชาร์จไฟในเวลาแค่ 30 นาทีในสถานีชาร์จขนาด 150 kWh เท่ากับเครือข่ายสถานีซูเปอร์ชาร์จของเทสลา นอกจากนั้นยังใช้ส่วนประกอบระบบขับเคลื่อนที่มีน้ำหนักเบาลง และโครงสร้างการออกแบบที่เป็นมาตรฐานสามารถใช้ได้หลากหลายรูปแบบ
iX3 จะลงเล่นในตลาดเอสยูวีไฟฟ้าพรีเมียมแข่งกับไอ-เพซของจากัวร์ และอี-ตรอนของอาวดี้ที่มีกำหนดส่งมอบปลายปีนี้ รวมทั้งอีคิว ซีของเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่จะออกสู่ตลาดปีหน้า
เอสยูวีไฟฟ้ารุ่นนี้อิงกับเอสยูวียอดนิยม X3 แต่ปรับกระจังหน้าและตัวถังให้เร้าใจขึ้น เพื่อประหยัดต้นทุนและเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของ BMW ในการเปิดตัวรถไฟฟ้าเต็มรูปแบบอย่างน้อย 12 รุ่นในปี 2025
BMW กำลังถูกกดดันให้ควบคุมต้นทุนการพัฒนาที่กำลังบานปลายและคาดว่า จะสูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้น 15% จากที่เพิ่มขึ้นไปแล้ว 18% ในปีที่ผ่านมา โดยมีตัวเลือกจำกัดในการกระจายต้นทุนเทคโนโลยีระหว่างแบรนด์ของบริษัทและแบรนด์ในเครือคือ มินิ เท่านั้น ขณะที่คู่แข่งที่ใหญ่กว่าอย่างโฟล์คสวาเกนมีแบรนด์ในเครือถึง 12 แบรนด์
กระนั้น การวางตำแหน่ง iX3 ในจีนจะทำให้เอสยูวีไฟฟ้ารุ่นนี้เข้าถึงใจกลางตลาดที่บลูมเบิร์ก นิว อิเนอร์จี ไฟแนนซ์ประเมินว่า มีสัดส่วนถึง 49% ของยอดขายรถไฟฟ้าทั่วโลก 1.1 ล้านคันเมื่อปีที่แล้ว