สวีเดนเปิดใช้ถนนไฟฟ้าสายแรกของโลก เตรียมต่อยอดติดตั้งรางพิเศษที่ช่วยให้รถไฟฟ้าสามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ขณะขับบนทางหลวงทั่วประเทศ รวมระยะทาง 20,000 กิโลเมตร อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบขนส่งทั้งหมดภายในปี 2030
รางไฟฟ้าสำหรับชาร์จอีวี (electric vehicle) ติดตั้งอยู่บนถนนสาธารณะจากสนามบินอาร์แลนดาไปยังศูนย์ลอจิสติกส์นอกเมืองสตอกโฮล์มเป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร ซึ่งช่วยคลี่คลายปัญหาสำคัญที่สุดข้อหนึ่งเพื่อทำให้ถนนปลอดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลกลายเป็นความจริง
ข้อได้เปรียบของถนนไฟฟ้า คือ การใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วแทนการสร้างถนนใหม่สำหรับรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ และการลดการปล่อยไอเสียโดยมีการปรับแต่งน้อยที่สุด ที่สำคัญระบบนี้ยังช่วยให้รถไฟฟ้าใช้แบตเตอรี่ขนาดเล็กลง จึงช่วยลดต้นทุนการผลิตอีวีลงได้
ถนนไฟฟ้าทำงานด้วยการส่งพลังงานจากรางสองรางกลางเลนผ่านแขนที่เคลื่อนที่ได้ที่ติดตั้งอยู่ใต้ท้องรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถบรรทุกไฟฟ้า
เมื่อรถวิ่งผ่านราง แขนที่ว่าจะตรวจจับตำแหน่งและเคลื่อนเข้าหารางโดยอัตโนมัติ และในทางกลับกันแขนจะเลื่อนเก็บโดยอัตโนมัติเมื่อรถออกจากถนนดังกล่าว
ในส่วนรางบนถนนไฟฟ้านั้นเชื่อมต่อกับโครงข่ายกระแสไฟฟ้า ซึ่งแบ่งเป็นส่วนๆ และระบบจะจ่ายกระแสไฟฟ้าเฉพาะส่วนที่รถวิ่งผ่านทีละส่วนเท่านั้น
ระบบยังคำนวณการใช้พลังงานของรถแต่ละคันที่วิ่งผ่านรางเพื่อเรียกเก็บเงินไปยังเจ้าของรถ โดยขณะนี้ถนนไฟฟ้ายังอยู่ระหว่างการทดสอบโดยรถบรรทุกไฟฟ้าที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับโครงการนี้
สวีเดนนั้นเป็นประเทศที่มียอดขายรถไฟฟ้าสูงสุดอันดับ 3 ของโลกเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขายรถทั้งหมดประจำปี รองจากเนเธอร์แลนด์และนอร์เวย์ ด้วยยอดขายอีวี 1 ใน 3 ของยอดขายรถใหม่ทั้งหมด เทียบกับยอดขายรถไฟฟ้าในอเมริกาที่เป็นสัดส่วนแค่ 1 ใน 7
นอกจากนั้น เมื่อ 3 ปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีสเตฟาน เลอเวน ยังประกาศไว้ว่า สวีเดนจะเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ของโลกที่ยุติการพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิล
ถนนไฟฟ้าที่เปิดตัวล่าสุดซึ่งดำเนินการโดยกิจการค้าร่วม อีโรดอาร์แลนดา เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของสำนักงานการขนส่งสวีเดนในการสร้างถนนไฟฟ้า และส่วนหนึ่งของเป้าหมายของรัฐบาลสวีเดนในการทำให้โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งของประเทศปลอดจากเชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี 2030
ต้นทุนถนนไฟฟ้าอยู่ที่ราว 1.23 ล้านดอลลาร์ต่อกิโลเมตร หรือถูกกว่าต้นทุนการสร้างเส้นทางรถรางถึง 50 เท่า และสวีเดนมีแผนติดตั้งระบบนี้บนทางหลวงทั่วประเทศที่มีระยะทางรวมกัน 20,000 กิโลเมตร จากถนนสาธารณะทั้งหมดที่มีระยะทางทั้งสิ้น 500,000 กิโลเมตร
ฮันส์ ซัลล์ ประธานบริหารอีโรดอาร์แลนดา เห็นด้วยว่า การติดตั้งรางพิเศษเฉพาะบนทางหลวงเพียงพอแล้ว เนื่องจากทางหลวงแต่ละสายห่างกันไม่เกิน 45 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่รถไฟฟ้าสามารถวิ่งได้โดยไม่ต้องชาร์จแบตเตอรี่เพิ่ม
ซัลล์เสริมว่า สวีเดนเป็นผู้นำเทคโนโลยีรถไฟฟ้า และบริษัทหวังว่าจะติดตั้งระบบนี้ทั่วประเทศและในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก
อีโรดอาร์แลนดายังรับประกันว่า ระบบของบริษัทปลอดความเสี่ยงแม้เมื่อพื้นผิวถนนเปียก โดยอธิบายว่า แม้เมื่อน้ำเค็มท่วมขังบนถนน พื้นผิวถนนจะมีกระแสไฟฟ้าเพียงหนึ่งโวลต์ ซึ่งปลอดภัยแม้เดินด้วยเท้าเปล่า
นอกจากอีโรดอาร์แลนดาแล้ว ซีเมนส์ กลุ่มกิจการวิศวกรรมชื่อดังของเยอรมนี ยังกำลังออกแบบ “อีไฮเวย์” หรือระบบชาร์จรถไฟฟ้าผ่านสายไฟที่ติดตั้งอยู่เหนือศีรษะ ซีเมนส์บอกว่า อีไฮเวย์มีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายในสองเท่า จึงช่วยลดการสิ้นเปลืองพลังงานและลดมลพิษทางอากาศ
ปัจจุบัน ซีเมนส์กำลังทดสอบระบบนี้ในสวีเดนและอเมริกา และเตรียมทดสอบบนทางหลวงในเยอรมนีในปีหน้า