xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นทศวรรษรู้กัน ปอร์เช่สายพันธุ์ดีเซลอยู่/ไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“คาเยนน์” เวอร์ชันดีเซลรุ่นแรกที่ปอร์เช่เปิดตัวในงานเจนีวา มอเตอร์โชว์ปี 2009
เกิดอะไรขึ้น เมื่อจู่ๆ ซีอีโอปอร์เช่ก็เปรยว่า สิ้นทศวรรษนี้จะได้รู้กันว่า รถเครื่องยนต์ดีเซลยังจะได้ไปต่อหรือเปล่า

โอลิเวอร์ บลูม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ปอร์เช่ ค่ายรถสุดหรูของเยอรมนี พูดออกสื่อครั้งแรกระหว่างให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้วว่า อาจหยุดผลิตรถเครื่องยนต์ดีเซล

สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากคดีโกงไอเสียของโฟล์คสวาเกน ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของปอร์เช่

เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อัยการเยอรมันเริ่มสอบสวนเจ้าหน้าที่ของปอร์เช่ว่า รู้เห็นเป็นใจในการออกแบบซอฟต์แวร์โกงการวัดค่าไอเสียเครื่องยนต์ดีเซลด้วยหรือไม่ รวมทั้งกำลังตรวจสอบว่า คาเยนน์ที่ปอร์เช่เปิดตัวรุ่นแรกที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในโหมดสปอร์ตยูทิลิตี้เมื่อปี 2009 ติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ว่าด้วยหรือเปล่า

บลูมยอมรับว่า ระหว่างนี้ปอร์เช่จะหันมาทุ่มเทความสนใจมากขึ้นกับโครงการรถไฟฟ้า โดยจะผลิตทั้งรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปและไฟฟ้า รถปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่อย่างเดียวภายใน 10-15 ปีหน้า และสิ้นทศวรรษนี้จะตัดสินใจว่า เครื่องยนต์ดีเซลยังมีอนาคตในปอร์เช่หรือไม่

บลูมถือเป็นผู้บริหารค่ายรถเยอรมันรายแรกที่แสดงความไม่มั่นใจในอนาคตของรถเครื่องยนต์ดีเซล

อย่างไรก็ตาม บอสปอร์เช่ยืนยันว่า คาเยนน์รุ่น 3 ที่จะเปิดตัวเดือนกันยายนนี้จะยังเป็นเวอร์ชันดีเซล

ปอร์เช่นั้นยังคงพึ่งพิงรถเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากเครื่องยนต์ดีเซลใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องยนต์เบนซิน โดยรถเครื่องยนต์ดีเซลทำยอดขายให้บริษัทราว 15% ของยอดขายทั่วโลก

เทียบกับคู่แข่งตัวฉกาจชาติเดียวกันอย่างบีเอ็มดับเบิลยูที่รถเครื่องยนต์ดีเซลคิดเป็นสัดส่วน 35% ของยอดขายทั้งหมด ส่วนออดี้ที่อยู่ในกลุ่มโฟล์คเหมือนกันนั้น เฉพาะยอดขายรถเครื่องยนต์ดีเซลในยุโรปภูมิภาคเดียวก็เท่ากับ 2 ใน 3 ของยอดขายทั้งหมดแล้ว

แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ ภาพลักษณ์ของดีเซลป่นปี้ไปกับคดีฉาวโกงไอเสีย และการตีแผ่ว่า เครื่องยนต์ดีเซลของรถบางรุ่นปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ในระดับที่เป็นอันตราย บริษัทรถจำนวนมากจึงต้องตั้งหลักทบทวนกลยุทธ์กันใหม่

นอกจากนั้น เครื่องยนต์ดีเซลยังเจอกระแสต่อต้านด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรป รายงานที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า รถเครื่องยนต์ดีเซลเป็นสาเหตุการตายก่อนเวลาอันควรจำนวน 38,000 คนเฉพาะปี 2015 ขณะที่ในอนาคตคนอังกฤษอาจต้องจ่ายค่าผ่านทาง 25 ดอลลาร์หากขับรถเครื่องยนต์ดีเซลเข้าเมือง และมิวนิกกำลังพิจารณาแบนรถใช้น้ำมันดีเซล

ในทางกลับกัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้นส่งให้ความต้องการรถไฟฟ้าโลดละลิ่ว

ต้นเดือนนี้ วอลโว่ ผู้เล่นสวีเดนในเครือจีลี่ของจีน เป็นบริษัทรถแถวหน้าแห่งแรกของโลกที่ประกาศว่า นับจากปี 2019 รถทุกคันจากสายการผลิตของบริษัทจะเป็นรถไฟฟ้าและไฮบริดเท่านั้น

ปอร์เช่ไม่ยอมตกขบวนแน่นอน บริษัทรถหรูแห่งนี้กำลังลงทุนมูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์ยกเครื่องโรงงานในสตุตการ์ดและพัฒนารถที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่ล้วนๆ โดยรุ่นแรกจะประเดิมด้วย “มิชชั่น อี” ซาลูน 4 ประตูที่มีกำหนดลงตลาดอีกสองปีตามที่เคยประกาศเมื่อเร็วๆ นี้

บลูมบอกว่า รถที่ใช้แบตเตอรี่อย่างเดียวจะมีสัดส่วน 25% ของยอดขายทั้งหมดของปอร์เช่ในปี 2025 ขาดเกินแค่ 5-10% ตรงข้ามกับที่สื่อเคยตีข่าวว่า ครึ่งหนึ่งของกำลังผลิตของปอร์เช่ภายในปี 2023-2024 จะเป็นรถไฟฟ้าเต็มรูปแบบ

นอกจากนั้น ปอร์เช่ยังจับมือกับออดี้ลดต้นทุนในการพัฒนาและต้นทุนวัสดุสำหรับโครงการรถไฟฟ้าด้วยการใช้แพล็ตฟอร์มการผลิต ชิ้นส่วน และโมดูลร่วมกันภายใต้ชื่อรหัสพีพีอี

บลูมบอกว่า พีพีอีจะทำให้ปอร์เช่สามารถรักษาสัดส่วนผลตอบแทนจากยอดขายที่ปีละ 15% และบริษัทกำลังขยับขยายแพล็ตฟอร์มร่วมแบบนี้ไปยังรถประเภทอื่น เช่น เอสยูวี

ปอร์เช่ยังฝากความหวังไว้กับดีมานด์รถไฟฟ้าระดับไฮเอนด์ โดยอาจพัฒนารถปลอดไอเสียรุ่นอื่นเพิ่มเติม หลังเปิดตัวมิชชั่น อี ที่วางเป้าหมายการผลิตเริ่มต้นไว้ที่ 20,000 คันจากโรงงานในซุฟเฟนเฮาเซน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า อาจเป็นเอสยูวี มาคัน

ซีอีโอของบริษัทคาดว่า เมืองใหญ่ในจีนและเอเชียจะเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าเต็มรูปแบบอย่างรวดเร็วมาก และภายใน 5 ปีจะเหลือรถที่ใช้น้ำมันอย่างเดียวแค่ไม่กี่รุ่น

ความจริงจังของปอร์เช่กับโครงการรถไฟฟ้ายังปรากฏออกมาจากข่าวการเปิดตัวสถานีชาร์จรุ่นแรกขนาด 800 โวลต์ 2 สถานีที่ติดตั้งในสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ในเบอร์ลิน ซึ่งบริษัทคุยว่า ชาร์จไฟเต็มเร็วกว่าซูเปอร์ชาร์จเจอร์ของเทสลา เจ้าพ่อรถไฟฟ้าอเมริกา ถึงสามเท่า

สถานีชาร์จรุ่นนี้สามารถชาร์จแบตเตอรี่รถได้ถึง 150 kW มากกว่าซูเปอร์ชาร์จเจอร์ 30 kW แต่หลังจากที่ปอร์เช่เปิดตัวรถไฟฟ้าเต็มตัวคันแรกในปี 2019 สถานีชาร์จของปอร์เช่จะมีกำลังการชาร์จเพิ่มเป็น 350 kW หรือใช้เวลาช่วงนั่งพักดื่มกาแฟสำหรับการชาร์จรถไฟฟ้าหนึ่งคัน หรือชาร์จแบตเตอรี่รถมิชชั่น อี 80% ในเวลาแค่ 15 นาที

การแข่งขันเพิ่มพลังสถานีชาร์จจะยังคงดุเดือดจนถึงปี 2018-2019 โดยโฟล์คสวาเกน กรุ๊ป ตลอดจนถึงบริษัทรถแห่งอื่นๆ อาทิ บีเอ็มดับเบิลยู, เดมเลอร์ และฟอร์ด ตกลงจัดตั้งโครงการร่วมทุนสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จขนาด 350 kW “หลายพันแห่ง” ทั่วยุโรปภายในปี 2020

อย่างไรก็ตาม เทสลาไม่ยอมเป็นไก่รองบ่อนนานนัก เมื่อเร็วๆ นี้ อีลอน มาสก์ นายใหญ่ค่ายรถไฟฟ้าที่ร้อนแรงที่สุดแห่งยุค คุยเขื่องว่า ซูเปอร์ชาร์จรุ่น 3 ที่บริษัทกำลังพัฒนา จะทำให้สถานีชาร์จขนาด 350 kW ของกลุ่มพันธมิตรค่ายรถกระแสหลักกลายเป็น “ของเด็กเล่น” ในบัดดล
กำลังโหลดความคิดเห็น