xs
xsm
sm
md
lg

“CEO TALK : พระมหากรุณาธิคุณ กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) จัดเสวนา “CEO TALK : พระมหากรุณาธิคุณ กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย”
ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 33 ให้เกียรติ เป็นประธานเปิดงาน
สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) จัดเสวนา “CEO TALK : พระมหากรุณาธิคุณ กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย” โดยภายในงานนี้มุ่งกล่าวถึงบทบาทสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย พร้อมทั้งเรื่องราวที่น่าประทับใจ และพระอัจฉริยภาพด้านยานยนต์ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน

โดยมี นางปนัดดา เจณณวาสิน กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด, นพ.สมคนึง ตัณฑ์วรกุล กรรมการบริหารสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทย และนายบุญพีร์ พันธ์วร ที่ปรึกษาพิเศษกลุ่มสยามกลการและกรรมการมูลนิธิพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี  ให้เกียรติเป็นวิทยากร และมีนายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์" ประธานจัดงาน"มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 33 ให้เกียรติ เป็นประธานเปิดงาน
ยุทธพงษ์ ภาษี นายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย(สรยท)
นายยุทธพงษ์ ภาษี นายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย(สรยท) กล่าวว่าสมาคมฯ ในฐานะเป็นศูนย์รวมสื่อมวลชนสายอาชีพยานยนต์ ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ ดังนั้น เพื่อยกระดับสื่อมวลชนให้มีความสามารถและเพิ่มพูนประสบการณ์ อันมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้เจริญก้าวหน้า จึงการจัดเสวนา เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันเป็นล้นพ้น ผ่านการศึกษาเรื่องราวที่หาฟังได้ยาก และจะเป็นความทรงจำที่ดีตลอดไป ซึ่งตลอดรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ทุกคนต่างน้อมนำแนวทางตามพระราชดำริ มาปฏิบัติก่อให้เกิดประสบความสำเร็จมากมายในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย เป็นที่ยอมรับและเทียบพัฒนาเทียบเคียงนานาชาติ
ปนัดดา เจณณวาสิน กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด
นางปนัดดา เจณณวาสิน กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าวว่าในฐานะตัวแทนของกลุ่มอีซูซุ ได้มีโอกาศถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทมาอย่างต่อเนื่อง โดย “กลุ่มอีซูซุมีโอกาสได้เข้าเฝ้าทั้งหมด 4วาระ โดยมีครั้งหนึ่งที่ประทับใจที่สุดคือ ในวาระที่อีซูซุครบรอบการดำเนินธุรกิจ 50 ปีในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2550

ผู้บริหารของอีซูซุได้ทำหนังสือส่งผ่านสำนักพระราชวัง เพื่อขอน้อมเกล้าถวายเงินจำนวน 50 ล้านบาท แต่พระองค์รับสั่งว่าขอให้เปลี่ยนเป็นรถอีซูซุ มิว เซเว่น จำนวน 10 คัน แทนการถวายเงิน เพื่อใช้ในโครงการต่างๆ แต่ทางกลุ่มอีซูซุมีความตั้งใจถวายเงิน 50 ล้านบาทอยู่แล้ว จึงได้ทำเรื่องถวายรถยนต์ อีซูซุมิว เซเว่น อีก 10 คัน ซึ่งพระองค์ได้ปฏิเสธ และรับสั่งว่าหากต้องการถวายเงิน ให้หักค่ารถให้เท่ากับราคาที่จำหน่ายจริง เหลือเท่าไหร่ให้ถวายเงินตามจำนวนจริง

ในวันที่นำเงินและรถเข้าไปถวาย พระองค์ทรงทอดพระเนตรรถอีซูซุ มิว เซเว่น อย่างละเอียด ซึ่งพระองค์มีความรู้เรื่องรถยนต์เป็นอย่างมาก ทรงถามหลายเรื่องทั้งเรื่องของกล้องมองหลังที่มีการติดตั้งเป็นครั้งแรก รวมทั้งเรื่องของระบบภาษีอีกด้วย นั่นทำให้รู้ว่าพระองค์ทรงมีความห่วงใยในหลายเรื่องของประชาชนจริงๆ

นอกจากนี้ กลุ่มอีซูซุยังได้ตอบแทนสังคมไทยตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่องเสมอ เช่น โครงการอีซูซุเยาวชนสัมพันธ์, การจัดทำภาพยนตร์สั้นเทิดพระเกียรติ เพื่อส่งเสริมปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยร่วมกับเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ปจัดฉายในโรงภาพยนตร์ติดต่อกันเป็นเวลา 10 รวมภาพยนตร์สั้นทั้งหมด 14 ชุด, การมอบทุน 500,000 บาท เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิโครงการหลวง, โครงการอีซูซุให้น้ำ..เพื่อชีวิต ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มสะอาดสำหรับโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อตอบสนองพระมหากรุณาธิคุณในเรื่องน้ำ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ นอกจากเป็นการน้อมนำพระราชดำริในการปฏิบัติงานและช่วยเหลือสังคมแล้ว ยังตรงกับปรัชญาของกลุ่มอีซูซุที่ว่า “วิถีอีซูซุ ผู้ใช้สุขใจ เพิ่มพูนรายได้ ช่วยสังคมพัฒนาอีกด้วย” นางปนัดดา กล่าว
นพ.สมคนึง ตัณฑ์วรกุล กรรมการบริหารสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทย
นพ.สมคนึง ตัณฑ์วรกุล กรรมการบริหารสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทย มีอีกแง่มุมในเรื่องพระอัจฉริยภาพด้านยานยนต์มาเล่าสู่กันฟังที่ว่า “ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระปรีชาชาญในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของรถยนต์

ท่านทรงรู้จักรถยนต์หลายรุ่นเป็นอย่างดี โดยเมื่อทรงพระเยาว์ พระองค์ประทับที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีเส้นทางที่สวยงามและทรงประทับรถยนต์พระที่นั่งในการเดินทางอยู่เสมอ จึงมีความคุ้นเคยกับความเร็วและรถยนต์รุ่นต่างๆ ที่ใช้โดยสารเป็นประจำ

พระองค์ทรงมีรถยนต์พระที่นั่งอยู่หลายองค์ ซึ่งแต่ละองค์จะมีความแตกต่าง และมีความเหมาะสมในการใช้งานที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังเป็นการเลือกใช้รถยนต์ให้เหมาะสมกับงบประมาณ เพราะรถยนต์หลายคันต้องใช้งบประมาณของประเทศในการจัดซื้อ รถยนต์พระที่นั่งบางองค์มักจะถูกใช้งานจนมีสภาพที่ทรุดโทรม เนื่องด้วยถนนหนทางที่พระองค์ทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นไม่ได้เป็นทางที่สะดวก หลายเส้นทางค่อนข้างทุรกันดาร จึงทรงมีพระราชดำริในการจัดซื้อรถที่เหมาะสมกับการใช้งานเป็นหลัก และรถยนต์พระที่นั่งบางองค์ก็ไม่ได้มีราคาสูง

มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2497 พระองค์ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรเป็นการส่วนพระองค์เป็นครั้งแรก เพราะต้องการไปตรวจเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ตลาดบ้านโป่ง จ.ราชบุรี ด้วยความห่วงใยในความเป็นอยู่ของราษฎร จึงได้ขับรถ เดลลาเฮ( Delahaye) 135M Cabriolet (เดอลาเฮย์) ออกจากพระที่นั่งอัมพรสถาน โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประทับไปด้วย ซึ่งรถเดอลาเฮย์คันนี้เป็นรถหรูและมีเครื่องยนต์พลังสูง อีกทั้งพระองค์ท่านมีความสามารถในการควบคุมรถด้วยความเร็วสูงเป็นอย่างดี ขนาดที่ทหารองครักษ์ขับรถตามไม่ทัน เพราะนึกถึงว่าเรื่องเดือดร้อนอย่างนี้ จะให้ประชาชนรอนานไม่ได้

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีรถยนต์พระที่นั่งอีกหลายองค์ ทั้งเป็นรถจากยุโรปและอเมริกา แต่ทุกคันจะถูกพิจารณาถึงความเหมาะสมต่อการใช้งานเป็นหลัก หลายคันเป็นรถหรูเพื่อให้สมพระเกียรติ แต่อีกหลายคันเป็นรถที่พร้อมสมบุกสมบันเพื่อเข้าไปให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของราษฎรด้วยพระองค์เอง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้” นพ.สมคนึง กล่าว
บุญพีร์ พันธ์วร ที่ปรึกษาพิเศษกลุ่มสยามกลการและกรรมการมูลนิธิพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
ด้าน นายบุญพีร์ พันธ์วร ที่ปรึกษาพิเศษกลุ่มสยามกลการและกรรมการมูลนิธิพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี กล่าวว่า “นับเป็นเรื่องโชคดีที่ได้เกิดมาในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างแท้จริง และทรงสนับสนุนอยู่เบื้องหลังตลอดมา ทั้งการผลิต การนำเข้าและส่งออก รวมทั้งการสร้างถนนและสะพานเพื่อความสะดวกในการคมนาคม

พระองค์ทรงให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ว่าจะนำความเจริญมาสู่ประเทศไทย และรถยนต์พระที่นั่งของพระองค์ไม่ได้เป็นเพียงแค่รถที่หรูหราในยุคนั้น แต่ยังเป็นรถที่มุ่งเข้าไปทุกพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของราษฏร ซึ่งพระองค์ท่านได้ทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชนว่า “หากประชาชนไม่ทอดทิ้งพระองค์ พระองค์ก็ไม่ทอดทิ้งประชาชน”

ภาพที่ประทับใจที่สุดคือ ภาพที่พระองค์ท่านกำลังเสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีเสียงประชาชนตะโกนออกมาว่า “ในหลวงอย่าทอดทิ้งประชาชน” พระองค์ได้ตรัสในภายหลังว่า “ถ้าประชาชนไม่ทอดทิ้งข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะทอดทิ้งประชาชนได้อย่างไร” ซึ่งตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่ทรงครองราชย์ พระองค์ไม่เคยทอดทิ้งประชาชนแต่อย่างใด และในวันนี้ วันที่ไม่มีพระองค์จากพวกเราไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ แม้ว่าพระวรกายไม่ได้อยู่กับประชาชนชาวไทย แต่พระองค์จะยังอยู่ในใจของพวกเราตลอดไป เพราะพระองค์คือผู้ปิดทองหลังพระอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น