บริษัทรถยนต์คนไทยที่“ฆ่าไม่ตาย” ในยุคอุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนแปลง การแข่งขันบีดรัดบนข้อจำกัดสุดโหด ทว่า “ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์” ยังยืนหยัดสู้ไม่ถอยในสามธุรกิจหลักคือ 1.รับจ้างประกอบรถยนต์ 2.ผลิตชิ้นส่วน-แม่พิมพ์ 3.รถยนต์ดัดแปลงแบรนด์ TR ภายใต้การนำของหัวเรือใหญ่ “สมพงษ์ เผอิญโชค”
ทั้งนี้ ช่วงต้นปีที่ผ่านมาไทยรุ่งฯ ยังสร้างความฮือฮาให้กับตลาดรถยนต์ด้วยการเปิดตัวปิกอัพดัดแปลงรุ่นใหม่ TR Transformer 2 ซึ่งพัฒนาตามโครงสร้าง-ระบบขับเคลื่อนใหม่ของ “โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่” โดยรถอเนกประสงค์แบรนด์ไทยรุ่นนี้มาพร้อมรูปลักษณ์สุดล้ำ ขณะที่เบาะนั่งภายในเลือกได้ตั้งแต่ 5-11 ที่นั่ง กับเครื่องยนต์ดีเซล 2.4 ลิตร และ 2.8 ลิตร เกียร์ธรรมดา-อัตโนมัติ ระบบขับเคลื่อนสองล้อและสี่ล้อ ราคา 1.465-1.635 ล้านบาท
สำหรับการเปิดตัว TR Transformer 2 ไทยรุ่งพยายามสื่อสารความโดดเด่นด้วยรุ่นที่ตกแต่งสีสันแบบซูเปอร์ฮีโร่ Iron Man ของอเมริกา หากแต่ตัวขายจริงก็น่าจะเป็นสีพื้นและเน้นการขายล็อตใหญ่ให้แก่หน่วยราชการ งานของทหารที่ต้องการรถสมบุกสมบัน พร้อมปรับรูปแบบการใช้ได้หลากหลาย
...ส่วนความจริงที่ว่า รถยนต์แบบคอมพลีตคาร์ของไทยรุ่งฯ ไม่ได้ทำยอดขายเป็นกอบเป็นกำ หรือมีทำกำไรเต็มๆเมื่อเทียบกับสมัยก่อน แต่นี่ก็ถือเป็นกลยุทธ์สร้างการรับรู้ของแบรนด์ โดยหวังให้แบรนด์รถยนต์ TR ยังคงอยู่ในตลาด มีความใกล้ชิดกับลูกค้าต่อไป
“ปัจจุบันยอดขายรถยนต์ดัดแปลงแบรนด์ TR มีสัดส่วนประมาณ 5% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท ต่างจากเมื่อก่อนที่ธุรกิจนี้เคยมีสัดส่วนมากกว่า 60% ซึ่งประเด็นนี้เราได้ปรับตัวมานานแล้ว โดยเน้นไปที่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน และรับจ้างประกอบรถให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เช่นการทำปิกอัพพื้นเรียบ รถขุดตัก ทำตัวถัง เป็นต้น” สมพงษ์ เผอิญโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรุ่งยูเนียนคาร์ จำกัด(มหาชน) กล่าวและว่า
ส่วน TR Transformer 2 ตั้งแต่เปิดตัวจนถึงปัจจุบัน มียอดขาย 30 คันแล้ว ในจำนวนนี้ส่งให้กรมสรรพวุธทหารเรือ และกรมสื่อสารทหารบก จำนวน 4 คัน โดยแผนการผลิตเพื่อป้อนให้กับหน่วยงานราชการถือเป็นเป้าหมายสำคัญ เช่นเดียวกับการส่งออกไปให้กิจการทหารของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน อย่างมาเลเซียที่บริษัทได้รับการสั่งซื้อมา 100 คัน แต่สามารถส่งมอบได้ 70 คันในปีนี้ รวมถึงประเทศสิงคโปร์ที่กลางปีหน้าเตรียมเปิดประมูลรถตรวจการทหารล็อตใหญ่ 1,000-1,500 คัน ซึ่งบริษัทกำลังทำรถต้นแบบส่งไปทดสอบ คาดว่าโอกาสได้งานมีสูง
“ตลาดส่งออกสำหรับรถยนต์TR ถือว่าสดใส โดยมีมาเลเซียเป็นลูกค้ารายใหญ่ และถ้าประมูลงานที่สิงคโปร์ผ่าน เราสามารถขยายความสำเร็จไปยัง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ได้ ส่วนตลาดกัมพูชา บริษัทอยู่ระหว่างแต่งตั้งตัวแทนนำเข้าคาดว่าจะเรียบร้อยภายในปลายปีนี้”
นายสมพงษ์ ยังกล่าวถึงแผนการปรับโมเดลธุรกิจใหม่ว่า บริษัทกำลังยื่นเรื่องไปยังกรมศุลกากร เพื่อขอให้โรงงานที่หนองแขมและโรงงานที่จังหวัดระยองได้สิทธิ์เป็นเขตปลอดอากร (Free Zone) เพื่อรองรับธุรกิจรับจ้างประกอบในอนาคต โดยเงื่อนไขและข้อกำหนดต่างๆของโรงงานทั้งสองแห่งเข้าเกณฑ์ทั้งหมด เช่น มูลค่าชิ้นส่วนในประเทศ(อาเซียน)ที่ใช้ในการผลิตต้องเกิน 40% อันสอดคล้องกับนโยบายที่ต้องทำให้เกิดการผลิตในประเทศและมีการสร้างมูลค่าเพิ่ม
“หวังว่าการขอฟรีโซนจะเป็นไปตามแผน เพราะเรากำลังเจรจากับลูกค้าใหม่ 2-3 ราย ซึ่งเป็นบริษัทจากจีนและญี่ปุ่นที่เตรียมจ้างไทยรุ่งวิจัยและประกอบรถให้ โดยเป็นรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ตามที่ไทยรุ่งถนัด คาดว่าจะเริ่มผลิตได้กลางปีหน้า และในส่วนของบริษัทคงต้องลงทุนเพื่อปรับสายการผลิตใหม่ ทั้งนี้การเตรียมความพร้อมของโรงงานเพื่อใช้สิทธิ์ในเขตฟรีโซนนั้น เป็นไปตามแผนการปรับตัวของบริษัทในระยะยาว หรือมองไปถึงการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle - EV) ที่รัฐบาลพยายามสนับสนุนอยู่ในขณะนี้”
สำหรับEVต้องเกิดขึ้นแน่นอนและอาจมาเร็วกว่าที่คาดหมายกันไว้ โดย EV จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะจะมีแบรนด์รถยนต์ใหม่ๆเกิดขึ้นมา เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ หลังจากทุกวันนี้ถูกควบคุมจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายเดิมๆ
“แม้ EV ยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะทางวิ่ง ประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ และสถานีชาร์จไฟ แต่เรามองว่า EV เป็นโอกาสในการเปิดธุรกิจใหม่ในรูปแบบการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งไทยรุ่งมีความถนัดด้านการทำตัวถัง การประกอบ ส่วนระบบขับเคลื่อนของ EV ไม่มีความยุ่งยาก ล่าสุดเรากำลังพูดคุยกับทั้งบริษัทจีน ญี่ปุ่น และยุโรปเพื่อเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เพียงแต่รัฐบาลต้องวางกรอบให้ชัดเจน ออกกฎเกณฑ์เป็นแนวทางไปสู่การผลิตในประเทศได้จริง อันหมายรวมถึงชิ้นส่วนหลักอย่าง มอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ เหนืออื่นใดการสนับสนุน EV ให้เกิดขึ้นควรเริ่มจากการทำเป็นรถขนส่งสาธารณะควบคู่ไปกับการสร้างระบบสาธารณูปโภคของรถไฟฟ้า รวมถึงการใช้เป็นรถของหน่วยงานราชการ เพราะมีเส้นทางและระยะทางวิ่งแน่นอน” นายสมพงษ์ กล่าว
...นั่นเป็นแนวโน้มสถานการณ์ของ “ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์” ที่พยายามเกาะติดทิศทางไปกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย พร้อมหาช่องทางใหม่าๆในสไตล์ของตนเอง ด้วยศักยภาพเต็มเปี่ยมเพียงรอจังหวะที่เหมาะสมลงตัว ชื่อของรถยนต์ TR อาจจะกลับมาผงาดดังในตลาดรถยนต์ไทยอีกครั้ง
ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวในวงการยานยนต์ได้ที่หน้าแฟนเพจ MGR Motoring