xs
xsm
sm
md
lg

ลาวดูดทรายตะบี้ตะบัน นักอนุรักษ์ห่วงกระทบระบบน้ำโขงตอนล่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 31 พ.ค. เผยให้เห็นพื้นที่ขุดลอกทรายจากพื้นแม่น้ำกลางแม่น้ำโขงในนครหลวงเวียงจันทน์. -- Agence France-Presse/Lillian Suwanrumpha.</font></b>

เอเอฟพี - พื้นที่บางส่วนของแม่น้ำโขงในลาวกำลังถูกขุดลอกทรายเพื่อนำไปใช้ผลิตซีเมนต์ วัตถุดิบที่ถูกใช้เป็นจำนวนมากในการก่อสร้างของนักลงทุนชาวจีนที่กำลังขยายตัวสูงในเมืองหลวงของลาว

แต่ร่องน้ำที่ถูกขุดเป็นหลุมกำลังทำลายเส้นทางน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวประมง และเกษตรกรหลายแสนคนในประเทศ

“ทุกวันนี้ มันกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้นสำหรับพวกเราที่จะลงไปเอาน้ำมาใช้กับพืชผลที่เพาะปลูก” ชาวลาวรายหนึ่งกล่าวจากบริเวณริมฝั่งแม่น้ำที่มีตลิ่งสูงชัน

ชาวลาวอายุ 36 ปี อธิบายถึงปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาในลาว ว่า แม้เธอจะพึ่งรายได้จากบริษัทขุดลอกทราย 10 ดอลลาร์ต่อวัน แต่ขณะเดียวกัน เธอก็ยังต้องพึ่งพาแม่น้ำที่เธอกำลังช่วยขุดนี้อย่างมากเช่นกัน

เวลานี้ที่บริเวณพื้นแม่น้ำโขงเต็มไปด้วยท่อ และรถขุดในขนาดอุตสาหกรรม

ทรายที่ดูเหมือนเป็นทรัพยากรที่ไม่มีวันหมด เป็นส่วนประกอบสำคัญของซีเมนต์ และอยู่เบื้องหลังการเกิดขึ้นของเมืองต่างๆ ทั่วโลก

จีนเป็นประเทศผู้บริโภคอันดับต้นของลาว ที่ใช้ผลผลิตโลกมากกว่า 60% และในช่วงระยะเวลา 4 ปี จีนใช้ทรายมากกว่าที่สหรัฐฯ ใช้ตลอดศตวรรษที่ 20 เสียอีก

การขุดลอกทรายตามแม่น้ำโขงมีมานานหลายปีแล้ว แต่ในขนาดอุตสาหกรรมถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับลาว ที่โครงการก่อสร้างใหม่ๆ ผุดขึ้นในมืองหลวงที่หลับใหลของประเทศ ซึ่งหลายโครงการบริษัทจีนเป็นผู้ลงทุน

“ตอนนี้ลูกค้าหลายรายของเราเป็นชาวจีน พวกเขากำลังสร้างอาคารขนาดใหญ่ในเวียงจันทน์ พวกเขาต้องการทราย และหินเป็นจำนวนมาก” เจ้าหน้าที่จากบริษัทเหมืองทรายในลาว กล่าว

จีนเป็นแหล่งการลงทุนจากต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในลาว

ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของการทำเหมืองทรายกำลังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำ ที่ประชาชนราว 60 ล้านคนทั่วภูมิภาคต่างพึ่งพาอาศัยแม่น้ำสายนี้
.

.

.

.
แม่น้ำโขงยาว 4,800 กิโลเมตร ที่เริ่มต้นจากภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และมีปลายทางที่ภาคใต้ของเวียดนาม เป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดของโลก ตามการระบุของกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF)

การทำเหมืองทรายส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกัมพูชา และเวียดนาม แต่ระยะหลังการทำเหมืองทรายกำลังเพิ่มสูงขึ้นในลาว ประเทศที่กิจการขนาดใหญ่สามารถใช้ทรัพยากรในประเทศได้โดยถูกตรวจสอบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เจ้าหน้าที่จากกองทุนสัตว์ป่าโลก กล่าวว่า อัตราการทำเหมืองทรายตามแนวแม่น้ำโขงกลายเป็นการทำให้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อปลายน้ำ

“แม่น้ำจำเป็นต้องใช้ทรายที่ไหลจากต้นน้ำลงไปยังปากแม่น้ำ เพื่อต่อสู้กับการรุกล้ำของน้ำเค็ม ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการเกษตร” เจ้าหน้าที่ระบุ

เกษตรกรตามปากแม่น้ำโขงในเวียดนามกำลังต่อสู้กับการรุกล้ำของน้ำเค็มที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ที่เป็นผลจากภัยแล้งรุนแรงจนทำให้นาข้าวแห้งผากไปทั่วทั้งภูมิภาค

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงงานสาธารณะของลาว ยอมรับว่า การขุดลอกแม่น้ำส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขง และโครงสร้างระบบนิเวศของประเทศ แต่ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ หรือให้ตัวเลขปริมาณทรายที่ถูกขุดลอกไป

เมื่อปราศจากกฎระเบียบเข้มงวด การขุดลอกทรายจะก่อให้เกิดรูปแบบการกัดเซาะที่อาจใช้เวลาหลายทศวรรษที่จะไม่สามารถแก้ไขได้ ตามการระบุของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ

“ปัญหาก็คือ เรามีความเชื่อกันมายาวนานว่า ทรายเป็นสิ่งที่ไม่มีวันหมด” เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล่้อมของสหประชาชาติ กล่าว และเสริมว่า แม่น้ำทั่วโลกกำลังตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามจากการขุดลอกที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

แต่การทำเหมืองทรายไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขง ยังมีเขื่อน 12 แห่งที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว หรืออยู่ในระหว่างการก่อสร้างที่ช่วงบนของแม่น้ำในประเทศจีน และมีเขื่อนอย่างน้อยอีก 7 แห่ง วางแผนไว้ว่าจะก่อสร้าง นอกจากนั้น ยังมีเขื่อนอีก 9 แห่ง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือวางแผนจะก่อสร้างในลาว และอีก 2 แห่ง ในกัมพูชา

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคัดค้านอย่างหนักต่อการสร้างสิ่งกีดขวางบนแม่น้ำ โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการขัดขวางการอพยพของปลา ขวางการไหลของตะกอน และอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมที่ดินที่เป็นบ้านของประชาชนหลายหมื่นคน

“แม่น้ำเปลี่ยนแปลงไปมาก และตลิ่งกำลังถล่ม มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มันทำให้เราต้องออกไปหาปลาไกลขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีสำหรับพวกเรา” ชาวลาวที่ทำอาชีพประมง กล่าว.
.
<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 31 พ.ค. เผยให้เห็นพื้นที่ก่อสร้างของชาวจีนตั้งอยู่ตามแนวแม่น้ำโขงในนครหลวงเวียงจันทน์. -- Agence France-Presse/Lillian Suwanrumpha.</font></b>
.
กำลังโหลดความคิดเห็น