xs
xsm
sm
md
lg

อุ่นเครื่องก่อนเปิดตัว 11 มี.ค. ย้อนอดีต“ซีวิค”รุ่นไหนใครเคยใช้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ใกล้จะเปิดตัวเต็มทีแล้ว สำหรับฮอนด้า “ซีวิค โฉมใหม่” หรือเจเนอเรชันที่ 10 (เมืองไทยเริ่มนำเข้ามาขายอย่างเป็นทางการตั้งแต่เจเนอเรชัน 3) ซึ่งการโมเดลเชนจ์ครั้งนี้นอกจากหน้าตาที่โฉบเฉี่ยวเร้าใจ(ยิ่งขึ้น) ตามสไตล์ฮอนด้าแล้ว ขุมพลังที่จะนำมาใช้ยังถือเป็นการปฎิวัติวงการรถยนต์ระดับคอมแพกต์ ด้วยการวางเครื่องยนต์ 4 สูบ 1.5 ลิตร ไดเรกอินเจกชัน เทอร์โบ บล็อกใหม่

โดยบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เตรียมจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการวันที่ 11 มีนาคมนี้ แต่กว่าจะถึงวันนั้น ลองย้อนดูเส้นทางการลุยตลาดของ “ซีวิค” ตั้งแต่รุ่นแรกมาจนถึงโฉมปัจจุบันกันก่อน....เพื่อใครจะคิดถึงรถคันเก่าของตัวเองในอดีตขึ้นมาบ้าง

ฮอนด้า ซีวิค กำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1972 และนับตั้งแต่นั้นมารถยนต์รุ่นนี้ก็ได้รับการสร้างสรรค์และพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้รถทั่วโลก จนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลา 43 ปี โดยมีพื้นฐานแนวคิดแห่งการสร้างสรรค์และพัฒนา คือ การออกแบบเทคโนโลยียานยนต์ให้ก้าวล้ำนำสมัยอยู่เสมอ พร้อมทั้งตอบสนองความต้องการของผู้ใช้รถ ให้ได้มากที่สุด
1
- เจเนอเรชันที่ 1 (ค.ศ. 1972 – 1979)

นับเป็นจุดกำเนิดของนวัตกรรมของฮอนด้า ซีวิค นั่นคือ การนำเสนอเครื่องยนต์ CVCC หรือ Compound Vortex Controlled Combustion ซึ่งเป็นเครื่องยนต์รุ่นแรกที่สามารถผ่านมาตรฐาน Muskie Act หรือ กฎหมายควบคุมมลพิษในไอเสียที่เข้มงวดที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยออกแบบเพื่อให้เป็นรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดน้ำมันมากที่สุด

ในรุ่นเดียวกันนี้เอง ยังเป็นครั้งแรกที่ฮอนด้า ซีวิค ได้พลิกโฉมประวัติศาสตร์การออกแบบรถยนต์คอมแพคท์ ด้วยการออกแบบที่มีลักษณะเป็นทรง 2 มิติ (Two-box Styling) โดยวางเครื่องยนต์ไว้ด้านหน้าพร้อมระบบขับเคลื่อนล้อหน้า และยังเป็นครั้งแรกที่ขยายสายผลิตภัณฑ์ด้วยการนำเสนอระบบเกียร์อัตโนมัติ
2
- เจเนอเรชันที่ 2 (ค.ศ. 1979 – 1983)

ตอกย้ำความสำเร็จของเครื่องยนต์จากรุ่นแรกด้วยการพัฒนาเครื่องยนต์สำหรับรุ่นที่ 2 ด้วยเครื่องยนต์ CVCC-II ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการเผาไหม้และช่วยให้เครื่องยนต์ทรงพลังมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ฮอนด้า ซีวิค เป็นรถยนต์ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ได้มีการแนะนำโฉมใหม่ ทั้งในรูปแบบของรถ Country Station Wagon และแบบรถยนต์ 4 ประตู การันตีความสำเร็จของการเป็นยนตรกรรมแห่งยุค ด้วยรางวัล “U.S. Import Car of the Year” จากนิตยสาร Motor Trend
3
- เจเนอเรชันที่ 3 (ค.ศ.1983 – 1987)

ด้วยคอนเซ็ปต์ในการพัฒนาฮอนด้า ซีวิค รุ่นที่ 3 นี้ คือ “maximum space for people, minimum space for mechanisms” มอบพื้นที่ภายในห้องโดยสารที่กว้างขวางขึ้นเพื่อความสะดวกสบายของผู้ใช้รถ ส่งผลให้ฮอนด้า ซีวิค รุ่นนี้ มีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งแบบแฮทช์แบ็ค 3 ประตู, ซีดาน 4 ประตู, และแบบชัตเทิล 5 ประตู (shuttle) และเป็นครั้งแรกที่เผยโฉม ฮอนด้า ซีวิค เอสไอ มากับเครื่องยนต์ดับเบิ้ลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ (DOHC)
โดยซีวิค เจเนอเรชันนี้ ยังเป็นรุ่นแรกที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะเริ่มมีการประกอบในประเทศในรุ่นถัดไป
4
- เจเนอเรชันที่ 4 (ค.ศ.1987 – 1991)

“ซีวิค ไฟท้ายสองชั้น” เป็นอีกรุ่นที่สนองตอบทุกความต้องการของผู้ใช้รถ ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อการขับขี่ที่สะดวกสบาย และเร้าใจสไตล์สปอร์ต อาทิ ระบบกันสะเทือนดับเบิ้ลวิชโบน ซึ่งเป็นปีกนก 2 ชั้น ทั้ง 4 ล้อ

สำหรับตัวถังได้รับการออกแบบให้ลู่ลม และกว้างขวางยิ่งขึ้น อีกทั้งยังนำเสนอเครื่องยนต์ VTEC ระบบ Twin Cams เพิ่มประสิทธิภาพในการเปิด-ปิดวาล์วที่สอดคล้องกับรอบของเครื่องยนต์ ทำให้การขับขี่เป็นไปอย่างราบรื่นในรอบความเร็วต่ำ และช่วยให้เร่งเครื่องได้อย่างไม่สะดุดที่รอบความเร็วสูง
5
- เจเนอเรชันที่ 5 (ค.ศ. 1991 – 1995)

ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของฮอนด้า ซีวิค กับการพลิกโฉมให้มีรูปทรงที่โค้งมน ซึ่งเป็นการออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ เพื่อลดแรงต้านทานและเพิ่มการลู่ลม การออกแบบตัวถังภายในที่ตอบความต้องการของคนรุ่นใหม่ในยุค 90’s ซึ่งเป็นโครงสร้างตัวถังแซมบ้า โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากคอนเซ็ปต์งานคาร์นิวัลในกรุงริโอ เดอ จาเนโร ที่เน้นพลังและความมีชีวิตชีวาในทุกๆ ด้าน

อีกทั้งยังเป็นการเปลี่ยนแปลงสู่ความปลอดภัยที่เหนือกว่า ด้วยการติดตั้งเทคโนโลยีความปลอดภัยที่ล้ำสมัย อาทิ ป้องกันการหลุดโค้งด้วยระบบควบคุมการทรงตัว (TCS) ระบบป้องกันล้อล็อก (ABS) และระบบป้องกันการลื่นไถล (LSD) ด้วยความล้ำหน้าทางนวัตกรรมการออกแบบและเทคโนโลยีอันล้ำสมัย ทำให้ฮอนด้า ซีวิค รุ่นที่ 5 ได้รับรางวัล “Car of the Year Japan” สองปีติดต่อกัน ในปี 1991 และ 1992

รุ่นนี้ได้รับความนิยมในเมืองไทยกับตัวถังแฮทช์แบ็ค 3 ประตู หรือ “โฉมเตารีด” นั่นเอง
6
- เจเนอเรชันที่ 6 (ค.ศ. 1995 – 2000)

ฮอนด้า ซีวิค ยังพยายามพัฒนาโครงสร้างตามหลักอากาศพลศาสตร์ และโดดเด่นด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ตอบรับความต้องการของผู้ใช้รถในยุคนั้น ที่คำนึงถึงสมรรถนะของเครื่องยนต์ที่สูงขึ้น ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเครื่องยนต์ VTEC ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของฮอนด้า และเป็นรุ่นที่ได้รางวัล “Car of the Year Japan” สองปีซ้อน ในปี 1995 และ 1996
โฉมนี้คนไทยคุ้นเคยกันดีในชื่อ “ซีวิค ตาโต”
7
- เจเนอเรชันที่ 7 (ค.ศ. 2000 – 2005)

โฉม “ไดเมนชัน” ถูกเรียกติดปากตามโฆษณาที่ฮอนด้าพยายามสื่อสารว่า New Dimension ตัวถังใหม่และใหญ่ขึ้นทุกมิติ พร้อมการออกแบบผสานระหว่างตัวถังแบบทรงกล่อง และเพิ่มความโค้งมนให้กลมกลืนยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังใช้โครงสร้างตัวถังนิรภัย G-CON เพื่อปกป้องห้องโดยสารจากการชนรอบทิศทาง

นอกจากนี้ ยังนับเป็นครั้งแรกที่มีการจำหน่ายเครื่องยนต์ไฮบริด ในสหรัฐอเมริกา โดยผ่านการรับรองว่าเป็นรถยนต์ที่ปล่อยไอเสียเป็นศูนย์ จาก California Air Resources Board และมีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ 19.5 กม./ลิตร ส่วนเมืองไทยขายในรุ่นเครื่องยนต์ 1.7 ลิตร และ 2.0 ลิตร
8
- เจเนอเรชันที่ 8 (ค.ศ. 2005 – 2012)

ฮอนด้า ซีวิค FD ได้รับการผลิตใน 6 ภูมิภาคทั่วโลก ส่วนเมืองไทยถือเป็นความสำเร็จของฮอนด้า ที่ในบางช่วงของการทำตลาด สามารถทำยอดขายแซงเจ้าตลาดอย่างโตโยต้า โคโรลลา อัลติสได้

โดดเด่นด้วยรูปทรง ความกว้างขวาง สมรรถนะการขับขี่จากเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร และ 2.0 ลิตร โดยได้รับเสียงตอบรับจากทั่วโลกว่าเป็นรุ่นที่สวยที่สุด และมียอดจำหน่ายสูงที่สุดด้วยเช่นกัน

- เจเนอเรชันที่ 9 (ค.ศ.2012 – 2016)

ภายใต้แนวคิดในการพัฒนาฮอนด้า ซีวิค ให้เป็นยนตรกรรมที่โดดเด่นแห่งอนาคต ซีวิค FB ยังคงมุ่งเน้นการเป็นรถยนต์ที่ประหยัดพลังงานมากที่สุด รองรับการใช้พลังงานทางเลือก E85 รวมถึงเทคโนโลยีอันล้ำหน้าที่ตอบสนองในทุกการใช้งานเพื่อความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นครั้งแรกที่มีเทคโนโลยี i-Mid หน้าจอแสดงข้อมูลแบบอัจฉริยะ

โฉมนี้ไม่ถึงกับฮิตเปรี้ยงปร้างเท่ากับรุ่นพี่ FD และยังเกิดมาในช่วงที่ตลาดรถยนต์ระดับคอมแพกต์มียอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเทรนด์ของตลาดเปลี่ยนไป เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลาย รวมถึงความนิยมในกลุ่มเอสยูวีขนาดเล็กที่มีราคาเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น