xs
xsm
sm
md
lg

รถเก่าก็มีให้ชม “มอเตอร์ เอ็กซ์โป”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผ่านไปครึ่งทาง สำหรับงาน มหกรรมยานยนต์ หรือ มอเตอร์ เอ็กซ์โป ครั้งที่ 32 ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากคอรถยนต์กันอย่างเนื่องแน่นทุกวัน โดยเฉพาะรถยนต์รุ่นใหม่ ที่ใช้เวทีนี้เปิดตัวบ้าง ไม่เนอร์เชนจ์บ้าง ต่างรับออเดอร์กันหน้าบาน แต่ในมุมเล็กๆ ของพื้นที่ในงาน มีรถเก่า-รถโบราณ จอดอยู่ 7-8 คัน ทีมงานเราเลยเก็บภาพมาฝาก สำหรับคนชอบของเก่าก็แวะมาชมกันได้ ก่อนที่งานปิดในวันที่ 13 ธันวาคม วันสุดท้าย


เริ่มจาก  ซีตรอง DS23

ปีที่ผลิต: 1955-1975
จำนวนผลิต : 1,415,719 คัน
ประเทศผู้ผลิต : ฝรั่งเศส

ซีตรอง ดีเอส เป็นรถที่ริเริ่มออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ จากผู้ผลิตรายใหญ่แห่งปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดีเอส จัดเป็รถยุโรปที่ นำสมัยที่สุด ในยุค 50 ตัวถังเป็นกล่องโลหะ Monocoque / Unibody ไร้คานแชสซีส์ จัดศูนย์ถ่วงน้ำหนักให้ต่ำลงใกล้พื้นที่รถที่สุดช่วยการเกาะถนนทรงตัวแนบพื้นถนน ระบบไฮโดรนิวเมทิคเป็นชุดรองรับกันสะเทือนรักษาสมดุลอัตโนมัติตลอดเวลาแล่นเลี้ยวได้แม้ยางหลังแตกหนึ่งเส้น

ภายในเน้นการใช้วัสดุพลาสติค ซึ่งเป็นของนำสมัยมีราคาแพงในยคุ 50 สำหรับรุ่นหลังปี 1968 “ตาตั๊กแตน” จะมีออปชั่น “ไฟส่องสว่างเลี้ยวตามทิศทางพวงมาลัย” อีกด้วย




เมอร์เซเดส-เบนซ์ 300SL Gullwing รหัสรุ่น W198

ปีที่ผลิต : 1954-1957
จำนวนผู้ผลิต :1,400 คัน
ประเทศผู้ผลิต :เยอรมนีตะวันตก

เป็นรถสปอร์ตที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ของค่ายดาวสามแฉกแห่งเยอรมนี พัฒนามาจากรถ W194 เจ้าสนามของทีมแข่งเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในช่วงทศวรรษ 1950

ใช้ชื่อ “ SL- Sport leicht-สปอร์ต ไลค์ท” ระบุความเบาพิเศษของรถ ที่สร้างด้วยท่อเชื่อมเป็นโครง 3 มิติ ประกอบชิ้นส่วนอลูมิเนียมอัลลอย ใช้เครื่องยนต์ 6 สูบเรียง 2,996 ซีซี 190 แรงม้า จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดเข้าห้องเผาไหม้โดยตรง (Direct Injection) ตามแบบระบบที่ใช้ในเครื่องบิน Me 109 ในสงครามโลกครั้งที่ 2 มีประตูแบบปีกนกนางนวลเปิดยกขึ้นตามแบบรถแข่ง W194 จึงได้รับสมญานามว่า “Gullwing” เป็นรถที่ครบสมบูรณ์ทั้งพละกำลัง มีความเร็วปลายถึง 264 กม./ชม. และมีความงามที่เย้ายวนใจจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นรถ “ซูเปอร์คาร์ยุคใหม่” คันแรกของโลก



Austin Seven

ปีที่ผลิต : 1922-1939
จำนวนผลิต : 290,000 คัน
ประเทศผู้ผลิต : อังกฤษ
เครื่องยนต์ 4 สูบ 696 ซีซี

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 Herbert Austinออกผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กจิ๋วใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ ในราคาเท่ากับจักรยานยนต์พ่วงช้างเปิดโอกาสให้คนบนเกาะอังกฤษได้มีโอกาสครอบครองรถยนต์ 4 ล้อ ตามแนวทางความสำเร็จของ ฟอร์ด โมเดล ที แห่งสหรัฐอเมริกาด้วยโครงสร้างเหล็กเหนียว และอลูมิเรียมแผ่นบนโครงไม้ Ash ที่เบาเป็นพิเศษ “รถขนาด 7 แรงม้าภาษี” คันนี้ จึงเป็นได้ทั้งรถใช้ในชีวิตประจำวัน รถขนส่งสินค้าและรถแข่ง

หลายประเทศรับ ออสติน 7 ไปผลิตในแบบถูกลิขสิทธิ์ เช่น Rosengart แห่งฝรั่งเศส, American Austin แห่งสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ผู้ริเริ่มผลิตรถยนต์ บีเอ็มดับบิ้ลยู แห่งบาวาเรีย ที่จำหน่ายในชื่อ “บีเอ็มดับเบิลยู ดิกซี”

ภายหลังความสำเร็จยาวนานถึง 17 ปี ออสติน ที่บัดนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ผู้ผลิตรถเล็กที่ดีที่สุดในโลก” ได้สร้างสรรค์รถรุ่นบิกเซเวน สืบทอดความเกรียงไกรของ เซเวน จนนำไปสู่ “ออสติน เซเวน มินิ ” หรือรถยนต์ มินิ ที่เป็นรถยอดนิยมในทศวรรษ 60 ที่มีชื่อเสียงนั่นเอง



BMW lsetta 300

ปีที่ผลิต : 1955-1962
จำนวนที่ผลิต : 161,360 คัน (รวมการผลิตต่อเนื่องภายใต้สิทธิบัตร ในอังกฤษ บราซิล และฝรั่งเศส)
ประเทศผู้ผลิต : เยอรมนีตะวันตก ภายใต้ลิขสิทธิ์ของอิตาลี

ภายหลังความวอดวายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงานที่สามารถสร้างรถยนต์ขนาดเต็มคันในประเทศอักษะล้วนพินาศไป หมดสิ้น Ermenegildo Rivolta แห่งบริษัทตู้เย็น lso อิตาลี จึงคิดสร้างยานยนต์ 4 ล้อ ขนาดเล็กออกจำหน่าย ใช้เครื่องยนต์และกลไกของจักรยานยนต์ ผลิตง่ายไม่ซับซ้อน โรงงาน บีเอ็มดับเบิลยู ได้รับแบบจาก อีเซตตา มาผลิตโดยปรับปรุงกลไกให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ใช้เครื่องจักรยานยนต์ บีเอ็มดับเบิลยู สูบเดี่ยว 4 จังหวะ ขนาด 298 ซีซี 13 แรงม้า วางเครื่องยนต์กลางลำด้านหลังขับเคลื่อนล้อหลังมี 4 ล้อ ช่วงกว้างล้อหลังชิดเพียง 20 นิ้ว ทรงตัวได้ดีถึงความเร็ว 85 กม./ชม. เป็นรถยนต์รุ่นแรกของโลกที่สิ้นเปลืองน้ำมันน้อยกว่า 3 ลิตร ต่อการแล่น 100 กม. และยังครองตำแหน่งยานยนต์สูบเดี่ยวที่ผลิตมากที่สุดในโลกอีกด้วย


Porsche Super S308 Tractor Diesel

ปีที่ผลิต : 1956-1963
จำนวนผลิต : รวมทุกแบบ กว่า 125,000 คัน
ประเทศผู้ผลิต : เยอรมนีตะวันออก

ดร.เฟร์ตินานด์ โปร์เช ไม่เคยทำอะไรอย่างธรรมดา ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาเป็นผู้ออกแบบรถแทรกเตอร์ ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 1-4 สูบ ต่อมาจึงเปลื่ยนไปใช้เครื่องยนต์ดีเซล ระบายความร้อนด้วยอากาศ ผลิตด้วยความประณีตเทียบเท่าผลงานชิ้นอื่น ๆ นอกจากนั้น ยังเป็นรถแทรกเตอร์เจ้าเดียวที่ใช้คลัทซ์ไฮดรอลิค ส่งกำลังด้วยเกียร์กึ่งอัตโนมัติ ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โปร์เช ได้รับอนุญาตให้คงการผลิตแทรกเตอร์อยู่เพียงรายเดียวในอาณาจักรไรค์เยอรมัน ในขณะที่ผู้ผลิตอื่นต้องหันไปผลิตอุปกรณ์สงครามแทน

หลังสงครามโลก ลิขสิทธิ์การผลิตรถแทรกเตอร์เปลี่ยนมือไปอยู่กับ Mannesmann AG ในปี 1954 ในชื่อบริษัท Porsche-diesel Motorenbau GmbH ผลิต แทรกเตอร์ที่ดีที่สุดในโลก ต่อไปอีก 8 ปี และเป็นที่ยอมรับอย่าแพร่หลาย

แทรกเตอร์ ดีเซล เอส 308 คันนี้ใช้เครื่องยนต์ 3 สูบ 2,625 ซีซี 38 แรงม้า ระบายความร้อนด้วยอากาศ ผลิตในโรงงานเดิม ที่ Friedrichshafen-Manzell ซึ่งเคยผลิตโพยมยานนาวาในตำนาน นาม “Zeppelin” ที่โด่งดังในช่วงทศวรรษ 1930




รถม้าที่ไร้เม้าเทียม รุ่งอรุณแห่งยายนต์

“Black” High Wheeler

รุ่นพิเศษ ฐานล้อ 75 นิ้ว
ปีผลิต : 1904
จำนวนผลิต: 18 คัน
ประเทศผู้ผลิต : สหรัฐอเมริกา เหลือคงสภาพเพียง 13 คันทั่วโลก

ประดิษฐกรรมยานยนต์ในสมัยแรกสุดของซีกโลกสหรัฐอเมริกา ผลงานของ Black Manufacturing Company แห่งชิคาโก อิลลินอยส์ จำหน่ายโดย Sear Roebuck &Co. ระหว่างปี คศ. 1940-1912 ในช่วงเดียวกับที่ เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) ประดิษฐ์รถยนต์ ฟอร์ด คันแรกโดยพัฒนาขึ้นจากแนวคิดเดียวกับ รถเทียมม้า แบบดั้งเดิม จึงได้ชื่อว่าเป็น “เกวียนยนต์ “ หรือ “Horseless Carriage”

ตัวรถมี 2 แบบ คือ “Chicago Motor Buggy” รุ่นเล็ก ฐานล้อ 69.5 นิ้ว เครื่องยนต์ให้กำลัง 14 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 40 กม./ชม. อัตราสิ้นเปลือง 12.7 กม./ลิตร ราคาจำหน่ายคันละ 450 ดอลาร์สหรัฐฯ ส่วน “Black” High Wheeler” เป็นรุ่นใหญ่ ฐานล้อ 75 นิ้ว เครื่องยนต์วางใต้แคร่กลางลำ แบบ 2 สูบนอน ความจุ 52 ลูกบาศก์นิ้ว (ประมาณ 852 ซีซี) กำลัง 18 แรงม้า ขับเคลื่อนล้อหลงด้วยโซ่ ใช้ล้อรถม้าขอบบางขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 36 นิ้ว คาดแถบยางตัน ใช้แหนบแผ่นทองเหลืองวางขวางช่วยซับแรงกระแทก ยกฐานแคร่ตัวถังสูงแบบเดียวกับรถม้า ติดตะเกียงข้างรถจุดน้ำมันพาราฟิน สำหรับให้สัญญาณและส่องสว่าง


รถเทียมม้าแบบเฟทัน (Phaeton)

รถม้าเทียมต่างเป็นพาหนะใช้ล้อรูปแบบแรก ๆ ขับเคลื่อนด้วยการลากคล้าย “ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า” ในยุคปัจจุบัน พาผู้คนท่องเที่ยวทำงาน เป็นตัวกลางสร้างขยายขอบเขตของสังคมและเศรษฐกิจให้กว้างออกไป รถม้าแบบที่นำมาแสดงนี้มีน้ำหนักเบา ฐานล้อแคบ สั้น ให้ความคล่องแคล่ว มี 2 ที่นั่งพร้อมที่นั่งเด็กรับใช้ (Pages) ท้ายรถ ล้อคาดยางตัน ล้อหลังสูงกว่าล้อหน้าเอื้อในการทำความเร็ว เบรกจับที่เพลาหลัง ระบบรองรับเป็นสปริงแผ่นโค้ง เพลาตายตัวไม่อิสระ เป็นรถตระกูล “สปอร์ต” ที่นิยมมากในปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงกลางศตวรรษที่ 19



แจกบัตร "มอเตอร์ เอ็กซ์โป "คนละ 2ใบ มารับได้ที่ บ้านพระอาทิตย์ เวลาทำการ จันทร์-ศุกร์ 8.30-18.00น. ติดต่อรับได้ที่โอเปอเรเตอร์ เบอร์ 02-6294488


กำลังโหลดความคิดเห็น