xs
xsm
sm
md
lg

สัมผัสแรก ‘มาสด้า ซีเอ็กซ์-3’ นี่สิ... ตัวจริง! สปอร์ตครอสโอเวอร์เล็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย เตรียมขยับรุกตลาดรถยนต์ไทยอีกครั้ง ด้วยการเพิ่มรถโมเดลใหม่เป็นอีกทางเลือก “มาสด้า ซีเอ็กซ์-3” (Mazda CX-3) ซึ่งเป็นรถอเนกประสงค์ครอสโอเวอร์ขนาดเล็ก เหตุนี้จึงได้นำสื่อมวลชนไทยจำนวนหนึ่ง รวมถึง “ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง” ไปสัมผัสและลองขับที่ประเทศออสตรเลีย ก่อนวางตลาดในไทยอย่างเป็นทางการปลายปีนี้...

มาสด้า ซีเอ็กซ์-3 เป็นโมเดลล่าสุดที่ถูกสร้างภายใต้เทคโนโลยีสกายแอคทีฟ (SKYACTIV) และแนวทางของโคโดะ ดีไซน์ (KODO Design) หลังจากเริ่มโมเดลแรกกับรุ่นซีเอ็กซ์-5 เมื่อปี 2011 จากนั้นจึงตามมาด้วยมาสด้า6, มาสด้า3 และมาสด้า2 โดยในไทยวางตลาดทั้งหมด ยกเว้นมาสด้า6 เก๋งขนาดกลาง หรือดี-คาร์ (D-Car) และล่าสุด “มาสด้า2 สกายแอคทีฟ” ที่เข้ารับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการอีโคคาร์จากรัฐบาลไทย


ทั้งนี้ซีเอ็กซ์-3 เผยโฉมครั้งแรกเมื่อปลายปีที่ผ่านมาในงานแอลเอ ออโต้ โชว์ 2014 และจากนั้นเริ่มทยอยวางจำหน่ายหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งปลายปีนี้จะเป็นคิวของประเทศไทย ด้วยการขึ้นไลน์ประกอบและวางจำหน่ายในไทยเป็นลำดับต่อไป โดยเป็นรถยนต์ครอสโอเวอร์ที่พัฒนาบนพื้นตัวถังของ “มาสด้า2” นั่นย่อมหมายถึงขนาดของรถที่จะต้องเล็กกว่าครอสโอเวอร์รุ่นซีเอ็กซ์-5 ที่เป็นคอมแพ็กต์ ครอสโอเวอร์(C-Crossover) โดยซีเอ็กซ์-3 ในตลาดโลกจัดให้อยู่ในเซกเม้นท์บี-ครอสโอเวอร์(B-Crossover) กลุ่มเดียวกับฮอนด้า เอชอาร์-วี, นิสสัน จู๊ค หรือฟอร์ด เอคโค่สปอร์ต ซึ่งส่วนใหญ่พัฒนาบนพื้นตัวถังของรถยนต์นั่งซับคอมแพ็กต์เช่นกัน แต่จะชนกับคันไหนตรงๆ ต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ และราคาจำหน่าย

ไทยเบื้องต้นขายรุ่นเบนซิน 2.0 ลิตร
ในตลาดโลกมาสด้าวางขุมพลัง 2 บล็อกให้เลือก เป็นเครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV G 2.0 ลิตร ซึ่งเป็นรุ่นที่สื่อมวลชนไทยมาลองขับครั้งนี้ในประเทศออสเตรเลีย และอีกรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล SKYACTIV D 1.5 ลิตร บล็อกเดียวกับที่วางในมาสด้า2 แต่เบื้องต้นซีเอ็กซ์-3 ที่ทำตลาดในไทยจะเป็นรุ่นเบนซิน 2.0 ลิตร ส่วนเครื่องยนต์ดีเซลกำลังพิจารณาศึกษาอยู่ ว่าจะทำตลาดพร้อมกันหรือไม่?

สำหรับการมาสัมผัสคันจริงของครอสโอเวอร์รุ่นซีเอ็กซ์-3 ซึ่งต้องบอกก่อนว่าเป็นเวอร์ชั่นทำตลาดในออสตรเลีย อาจจะแตกต่างกับสเปคที่ขายในไทยในรายละเอียดบางอย่างเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กัน โดยมาสด้าจัดให้สื่อมวลชนไทยได้ลองขับ 2 วัน เริ่มจากวันแรกระยะทางประมาณ 230 กิโลเมตร จากตัวเมืองเมลเบิร์นออกสู่ชนบทบนถนนสายเล็กๆ ที่มีทั้งทางตรงยาวๆ และคดโค้ง ผ่านไร่และฟาร์มปศุสัตว์กว้างใหญ่สุดสายตา รวมถึงตัดผ่านขุนเขาไปสิ้นสุดที่เมืองเล็กริมทะเล Lorne และอีกวันถัดมาขับบนเส้นทางเลาะชายทะเล Great Ocean Road อันสวยงามและลือชื่อของออสเตรเลีย ระยะทางเกือบ 300 กิโลเมตร เพื่อวนกลับสู่เมืองเมลเบิร์นอีกครั้ง


ครอสโอเวอร์ที่แตกต่างจากทั่วไป
วันแรก “ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง” ถูกจัดให้ขับซีเอ็กซ์-3 รุ่นเกียร์อัตโนมัติ ระบบขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อ แต่ในออสเตรเลียมีรุ่น AWD ให้ลูกค้าเลือกด้วย ซึ่งเมื่อเห็นรูปลักษณ์ภายนอก มีความแตกต่างจากเก๋งซับคอมแพ็กต์มาสด้า2 อย่างชัดเจน แม้จะพัฒนาบนพื้นตัวถังเดียวกัน และมีการออกแบบที่มีเอกลัษณ์แตกต่างจากครอสโอเวอร์ทั่วไป ด้วยการวางส่วนหน้าตั้งแต่เสาเอ-ฝากระโปรงรถ ไปจนถึงปลายจมูกของกระจังหน้าที่ค่อนข้างยาว

ขณะเดียวกันเส้นสายของรถก็มีความพริ้วไหวเฉกเช่นรถสปอร์ต เห็นได้จากเส้นกระโปรงด้านหน้ายาวไปตาม ส่วนของหลังคา และการออกแบบเสาสีให้เป็นสีดำกลมกลืนไปกับกระจกหลังเป็นหนึ่งเดียว แต่ก็ดูดุดันกับเส้นที่นูนชัดเป็นมัดกล้าม ของเส้นสายจากล้อด้านหน้าลากมายังด้านข้าง ผสานด้วยล้อขนาดใหญ่ 18 นิ้ว และยางขนาด 215/50 R18 มาเสริมอีก(คู่แข่งจะเป็นล้อขนาด 16-17 นิ้ว)

สิ่งที่โดดเด่นของมาสด้า ซีเอ็กซ์-3 นอกจากกระจังหน้าทรง 5 เหลี่ยมขนาดใหญ่ ที่เป็นเอกลักษณ์ของรถมาสด้ารุ่นใหม่ๆ และไฟเลี้ยวที่แยกออกจากกรอบไฟหน้าแอลอีดีทรงเรียวยาว รับกับกระจังหน้าอย่างลงตัว และเส้นสายให้ความรู้สึกถึงการพุ่งทะยานไปข้างหน้าตลอดเวลา ขณะเดียวกันไฟตัดหมอกที่ออกแบบเรียวเล็กในแนวตั้ง ที่รถส่วนใหญ่จะออกแบบให้ยาว หรือเป็นวงการขนาดใหญ่ ซึ่งรูปแบบตรงนี้ทำให้โอเวอร์แฮงก์สั้นลง เช่นเดียวกับท้ายด้านหลัง นอกจากให้ความสวยงาม ยังส่งผลต่อการทรงตัวของรถในเวลาเข้าโค้งด้วย


เล็กแต่ไม่ใช่ที่สุดในบี-ครอสโอเวอร์
มิติตัวถังของมาสด้า ซีเอ็กซ์-3 ความยาวทั้งหมด 4,275 มิลลิเมตร ความกว้าง 1,765 มิลลิเมตร ความสูง 1,550 มิลลิเมตร นับว่ามีขนาดใหญ่กว่ามาสด้า2 และการออกแบบกระโปรงหน้ารถยาวสร้างความแตกต่างแบบมีดีไซน์ ส่งผลให้ระยะฐานล้อมีความยาวเพียง 2,570 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าไม่ได้มากนักหากเทียบกับคู่แข่งตรงๆ อย่างฮอนด้า เอชอาร์-วี (4,294x1,772x1,605x2,610) ที่มีตัวถังใหญ่กว่าในทุกมิติ แต่หากเทียบกับบี-ครอสโอเวอร์อย่าง นิสสัน จู๊ค นับว่าซีเอ็กซ์-3 มีขนาดใหญ่กว่าในทุกมิติยกเว้นความสูง เช่นเดียวกับฟอร์ด เอคโค่สปอร์ต

การออกแบบที่แตกต่างของมาสด้า ซีเอ็กซ์-3 แม้จะเป็นรถครอสโอเวอร์แต่กลับไม่เน้นเรื่องความสูงมากนัก เพราะไม่ว่าจะเป็นความสูงรวมทั้งหมด หรือความสูงใต้ท้องรถที่มีระยะ 160 มิลลิเมตร(ไม่มีภาระนอกจากน้ำหนักตัวรถ) ขณะที่คู่แข่งฮอนด้า เอชอาร์-วี หรือนิสสัน จู๊ค มีความสูงใต้ท้องรถ 185 และ 180 มิลลิเมตร

แต่มาสด้ายืนยันเพียงพอที่จะขับรถบนพื้นผิวลาดยาง หรือถนนขรุขระเป็นหลุมบ่อทั่วๆ ไป สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ได้หลากหลายเช่นกัน สาเหตุที่มาสด้าออกแบบตัวรถซีเอ็กซ์-3 ไม่สูงมากนัก แตกต่างจากรถครอสโอเวอร์ทั่วไป เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานของคนทุกกลุ่ม รวมถึงลำตัวรถที่กว้างและจุดศูนย์ถ่วงของรถที่ต่ำ ยังช่วยเพิ่มเสถียรภาพเมื่อเข้าโค้ง หรือขับรถด้วยความเร็วสูง นอกจากนี้ยังช่วยการยกของล้อ เมื่อมีการเลี้ยวอย่างกระทันหัน ลดความเสี่ยงอันตรายที่จะเกิดกับรถ

จากความสูงที่ไม่มากนักของมาสด้า ซีเอ็กซ์-3 เมื่อเปิดประตูเข้าไปนั่งในห้องโดยสาร จึงไม่เป็นปัญหากับคนรูปร่างไม่สูงอย่างผู้เขียน แต่ก็ไม่ต่ำจนกลายเป็นปัญหาต่อคนตัวสูงๆ ซึ่งมาสด้าบอกว่าเป็นการหาจุดอ้างอิงที่เหมาะสมที่สุด…


ภายในตอบสนองคนขับขี่-ด้านหน้า
หลังจากเข้าไปนั่งในตำแหน่งในคนขับ หรือผู้โดยสารด้านข้างคนขับ แทบจะไม่รู้สึกว่านั่งบนรถครอสโอเวอร์ แต่เสมือนกับกำลังขับรถแฮทช์แบ็ก หรือเกือบจะเป็นรถเก๋งซีดานเลย การออกแบบห้องโดยสารค่อนข้างให้น้ำหนักกับห้องโดยสารด้านหน้า โดยเฉพาะตำแหน่งของคนขับที่สร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับรถ และสามารถควบคุมใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ได้เหมาะสมและสะดวกสบาย ส่วนมาตรวัด พวงมาลัย แผงคอนโซลกลาง และการวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ แทบจะไม่มีความแตกต่างจากมาสด้า2 มากนัก

ส่วนห้องโดยสารด้านหลัง จากการลองไปนั่งในเบาะแถวหลัง ต้องบอกว่าไม่ใด้กว้างขวางมากนัก แต่ก็ไม่ได้ถึงกับเข่าชนเบาะหน้า หรือวางขาไม่สบายนัก ประกอบกับพนักพิงเบาะหลังที่ออกแบบมาสูงทีเดียว จึงให้ความสะดวกสบายมากขึ้น ขณะที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลังไม่ได้ใหญ่ หรือเน้นบรรจุสัมภาระเหมือนกับรถครอสโอเวอร์ทั่วๆ ไป หรือคู่แข่งตรงๆ อย่างฮอนด้า เอชอาร์-วี ในแนวราบวางกระเป๋าเดินทางขนาดกลางได้ 2 ใบ เหลือพื้นที่อีกเล็กน้อย แต่ถ้าอยากได้พื้นที่เพิ่มต้องพับเบาะแถวสอง ซึ่งแยกปรับพับได้แบบ 60 : 40

การออกแบบภายในของมาสด้า ซีเอ็กซ์-3 ชัดเจนว่าเน้นความสะดวกสบายของการขับขี่ หรือห้องโดยสารด้านหน้า รวมถึงความมีสไตล์มากกว่า จากการออกแบบที่ค่อนข้างมีรายละเอียด อย่างเบาะนั่ง หรือคอนโซลที่เดินเส้นด้ายเหมือนกับรถสปอร์ตหรู และเน้นวัสุดอุปกรณ์ที่มีคุณภาพสูงเป็นสำคัญ เบาะนั่งด้านหน้าโอบกระชับให้ความสบายในการขับขี่และนั่งโดยสาร(ตามความรู้สึกของผู้ขับที่ตัวไม่โตมากนัก) แม้จะเป็นระยะเวลานานๆ ก็ตาม


เทคโนโลยี-ความปลอดภัยเด่นกว่า
ส่วนอุปกรณ์ทันสมัยมาครบไม่แพ้รุ่นอื่นๆ ของมาสด้า ไม่ว่าจะเป็น MZD Connect ระบบการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและการเข้าถึงบริการเครือข่ายสังคม ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดของมาสด้า มีการปรับปรุงความสะดวกสบายของฟังก์ชั่นที่จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อบลูทูธ เช่นการทำงานโทรศัพท์แฮนด์ฟรี การรับข้อมความสั้นๆ และวิทยุอินเตอร์เน็ต รวมทั้ง Aha โดย HARMAN พร้อมจอแสดงข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 7 นิ้ว พร้อมระบบนำทาง ซึ่งปุ่มควบคุมจะอยู่คอนโซลกลางต่อจากตำแหน่งเกียร์ รวมถึงบนพวงมาลัย และสะดวกสบายกับปุ่มสตาร์ทรถอัตโนมัติด้วย

เช่นเดียวกับระบบความปลอดภัย(เวอร์ชั่นออสเตรเลีย) ไม่ด้อยกว่าและยังโดดเด่นกว่ารุ่นซีเอ็กซ์-5 ไม่ว่าจะเป็นถุงลมนิรภัยคู่หน้า ด้านข้าง และม่านนิรภัย ระบบป้องกันล้อล็อค(ABS) พร้อมระบบกระจายแรงเบรก(EBD) และระบบช่วยเบรก (BA) ไฟเตือนฉุกเฉินอัตโนมัติ เมื่อเบรกกะทันหัน (ESS) ระบบควบคุมเสถียรภาพและการทรงตัวของรถ (DSC) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและลื่นไถล(TCS) ระบบช่วยออกตัวของรถขณะอยู่บนทางลาดชัน (HLA) ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติ(SCBS) ป้องกันไม่ให้ชนคันข้างหน้าในความเร็วต่ำ ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนช่องจราจร(BSM) ระบบปรับการทำงานไฟหน้าสูง-ต่ำอัตโนมัติ(HBC) ระบบเตือนเมื่อรถออกนอกช่องจราจร (LDWS) แบบไม่ตั้งใจ เป็นต้น ซึ่งคงต้องบอกว่าเรื่องเทคโนโลยีและความปลอดภัย มาสด้าจัดเต็มและโดดเด่นกว่าคู่แข่งชัดเจน


การขับขี่ใน-นอกเมืองคล่องตัวดี
เมื่อล้อเริ่มหมุนช่วงแรกขับผ่านตัวเมืองเมลเบิร์น ที่ถนนแคบๆ คู่ขนานไปกับรถราง และแยกไฟจราจรจำนวนมาก ระบบ i-Stop จะหยุดเครื่องยนต์อัตโนมัติอย่างนุ่มนวล เมื่อเหยียบแป้นเบรกและรถหยุดจอด หรือกลับมาสตาร์ทรถเมื่อแตะคันเร่งออกตัวใหม่ ซึ่งช่วยให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะเดียวกันการขับขี่ในเมืองก็มีความคล่องตัว พวงมาลัยน้ำหนักกำลังพอดีไม่เบาหรือหนักจนเกินไป และมีรัศมีวงเลี้ยว 5.3 เมตร ทำให้ง่ายต่อการขับขี่ในเมืองและจอดรถ

เข้าสู่ถนนไฮเวย์เริ่มขยับทำความเร็วได้มากขึ้น แต่กฎหมายในประเทศออสเตรเลีย ค่อนข้างเข้มงวดในเรื่องจำกัดความเร็ว ตั้งแต่ 40, 60, 80 และ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความอันตรายของช่วงถนนนั้นๆ หรือเพื่อความปลอดภัยของชุมชน ตามเขตสถานที่สำคัญต่างๆ อย่างโซนโรงเรียนจะกำหนดไม่เกิน 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งถ้าหากเกินกำหนดจะถูกปรับเป็นอัตราขั้นบันไดตามความเร็วที่เกินจำกัด เริ่มต้นที่ประมาณเกือบ 8,000 บาท แต่หากเป็นโซนโรงเรียนจะมีโทษหนักหลายเท่าตัว


เครื่องเบนซินบล็อกใหญ่แต่ประหยัด
อย่างไรก็ตาม ขุมพลังเครื่องยนต์ SKYACTIV G 2.0 บล็อกเดียวกับที่วางในมาสด้า 3 ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 192 นิวตัน-เมตร แม้จะไม่ได้ถูกปลดปล่อยออกมาแบบสุดๆ แต่ก็รู้สึกได้ถึงความพลุ่งพล่านของพลังม้าจำนวนมากในคอก ซึ่งมากกว่าคู่แข่งอย่าง ฮอนด้า เอชอาร์-วี ที่มีม้า 141 ตัว ตามคอกที่เล็กกว่าขนาด 1.8 ลิตร ส่วนนิสสัน จู๊ค เครื่องยนต์เบนซิน 1.6 ลิตร 116 แรงม้า และฟอร์ด เอคโค่สปอร์ต 1.5 ลิตร 110 แรงม้า 

ในการทดสอบ 2 วัน ความเร็วส่วนใหญ่ระดับประมาณ 80-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามกฎหมายกำหนดของออสเตรเลีย วันแรกเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ระยะทางทั้งหมด 229.3 กิโลเมตร หน้าจอแสดงอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 6.7 ลิตร ต่อ 100 กิโลเมตร หรือประมาณ 15 กิโลเมตร/ลิตร นับว่าประหยัดทีเดียวไม่ด้อยกว่าคู่แข่งในกลุ่ม และขากลับขับรุ่นเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ระยะทาง 296.9 กิโลเมตร อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันแสดงหน้าจอ 6.7 ลิตร ต่อ 100 กิโลเมตรเท่ากัน แต่เป็นคนละเส้นทางและสภาพถนนแตกต่างกัน


ไม่ผิดหวังเรื่องอัตราเร่ง-ขับขี่สนุก
แน่นอนการวิ่งบนถนนสาธารณะ และมีกฎหมายควบคุมความเร็วอย่างเข้มงวด ย่อมไม่สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ ซึ่งความรู้สึกที่สัมผัสได้อัตราเร่งตอบสนองได้ดีมาก ไม่ว่าจะความเร็วต่ำ หรือกลางๆ โดยบางครั้งมีไหลๆ ขึ้นไป 110-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นบางครั้งที่โอกาสอำนวย ส่วนความเร็วมากกว่านั้นมีเพื่อนสื่อมวลชนบางคันยอมได้เสีย ในช่วงถนนโล่ง(ปกติแทบไม่มีรถสวนอยู่แล้ว) ทางยาวตรงๆ สุดสายตา กระแทกขึ้นไปถึงระดับ 140-170 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากการสอบถามต่างบอกว่ายังมีเหลือให้ไหลต่อได้อีกสบายๆ แต่นั่นย่อมไม่พ้นหูพ้นตาเจ้าหน้าที่ มีคันหนึ่งต้องถูกจับปรับตามระเบียบความผิด!

การถ่ายทอดกำลังของเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ SKYACTIV-DRIVE ที่พัฒนาจากพื้นฐานเกียร์ลูกเดิมของมาสด้า3 ทำได้นุ่มนวลราบเรียบและตอบสนองได้ทันที เมื่อเร่งแซงทะยานไปข้างหน้า ยิ่งน้ำหนักรถที่เบาแต่แข็งแกร่งตามสไตล์ของเทคโนโลยี SKYACTIV-BODY จึงไม่ต้องลุ้นแต่อย่างใด เวลาต้องการพลังอัตราเร่ง และมาตั้งแต่รอบต่ำเพียง 2,800 รอบต่อนาที และหากต้องการอารมณ์ขับขี่สปอร์ตก็ทำได้ เพียงกระแทกคันเร่งแรงๆ สมองกลจากกล่องของรถจะเข้าใจความต้องการคุณ พร้อมกับสั่งเครื่องยนต์และเกียร์ให้ทำงานสัมพันธ์กันเหมาะสม ฉุดรถพุ่งทะยานออกไปอย่างรวดเร็วทันที พร้อมเสียงเครื่องยนต์ครางกระหึ่มเร้าใจทีเดียว


ช่วงล่างหนึบ-การควบคุมมั่นใจได้
ความสนุกดังกล่าวยิ่งได้รับเพิ่มขึ้นอีก เมื่อวันที่สองขับบนทางคดโค้งเลาะชายทะเลเส้นทาง Great Ocean Road และตัดผ่านขุนเขากลับสู่เมืองเมลเบิร์น ได้เปลี่ยนเป็นรุ่นเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ เรียกว่าการทำงานทุกอย่างสัมพันธ์กันอย่างดีมาก เพียงแต่เวอร์ชั่นที่จะทำตลาดในไทยมีเพียงรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะเท่านั้น

ในส่วนการทำงานของพวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมพาวเวอร์ช่วยผ่อนแรงแบบไฟฟ้า ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติมาก ไม่เบาหรือหนักจนเกินไป รวมถึงความแม่นยำในการบังคับเลี้ยว ไม่ว่าจะเป็นขับขี่ในเมืองหรือนอกเมือง นับเป็นจุดเด่นที่ถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นก่อนๆ ได้อย่างดี เช่นเดียวกับเบรกที่ตอบสนองได้ดี

สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างของมาสด้า ซีเอ็กซ์-3 เห็นจะเป็นช่วงล่างที่มั่นใจในทุกสภาพการขับขี่ ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัท และด้านหลังทอร์ชันบีม มาสด้าเซ็ตช่วงล่างไม่ถึงกับนุ่ม การซับแรงสั่นสะเทือนรู้สึกถึงความกระด้างนิดๆ แต่ไม่มากนัก ส่วนเรื่องความหนึบหายห่าง ไม่ว่าจะเข้าโค้งแบบไหนวางใจได้ ซึ่งตอบสนองอารมณ์การขับแบบสปอร์ตได้ดี อีกอย่างรถไม่ค่อยโครงเหมือนบุคลิกของรถครอสโอเวอร์-เอสยูวี หรือพวกรถยกสูงปกคอทั่วไป ยิ่งช่วยเพิ่มความสนุกในการขับขี่มากยิ่งขึ้น


ตัวจริง! สปอร์ตครอสโอเวอร์เล็ก
หากจะสรุปภาพรวมการลองขับ “มาสด้า ซีเอ็กซ์-3” ในครั้งนี้ นับว่าเป็นรถครอสโอเวอร์ที่ขับสนุก การควบคุมการขับขี่ทำได้ดี เทคโนโลยีและความปลอดภัยจัดเต็มมากๆ ซึ่งเป็นจุดโดดเด่นที่สุดในกลุ่มรถครอสโอเวอร์ขนาดเล็กด้วยกัน แต่ในส่วนของการใช้งานอเนกประสงค์ โดยเฉพาะในเรื่องห้องโดยสารด้านหลัง หรือที่เก็บสัมภาระท้าย นับว่าด้อยกว่า “ฮอนด้า เอชอาร์-วี” ที่น่าจะเป็นคู่แข่งโดยตรง จากเครื่องยนต์และการวางราคาใกล้เคียงกัน หรือประมาณกว่า 8 แสนบาท จนถึงกว่าล้านบาทนิดๆ

แน่นอนเรื่องนี้มาสด้าไม่ได้พัฒนาซีเอ็กซ์-3 มาเพื่อขนของเป็นลำดับต้นๆ อยู่แล้ว โจทย์ที่พัฒนาออกมาก็เพื่อต้องการตอบสนองคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการความสนุกของการใช้ชีวิต และใช้งานได้ยึดหยุ่นกว่ารถยนต์นั่ง หรือเก๋งทั่วไป...

มาสด้า ซีเอ็กซ์-3 จึงน่าจะเป็น... สปอร์ตครอสโอเวอร์รุ่นเล็กอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่คำโฆษณาทางการตลาดเท่านั้น?!


กำลังโหลดความคิดเห็น