นิสสัน จีที อคาเดมี กลายเป็นบันไดไต่ฝันของบรรดาเกมเมอร์ชาวไทย ที่อยากจะก้าวสู่สนามแข่งรถจริง และพลิกผันชีวิตเป็นนักแข่งระดับโลก แม้จะเป็นเพียงซีซั่น 2 แต่มีเหล่าเกมเมอร์เข้าร่วมชิงเป็นตัวแทนประเทศไทย ตั้งแต่จัดมากว่า 25,000 คน และแชมป์จากซีซั่นแรกของไทย ปัจจุบันก็กำลังโลดแล่นอยู่ในกลุ่มผู้นำเวทีแข่งรถไมครา คัพ ช่วยจุดไฟฝันเพิ่มไปอีก...
จากเซียนเกมสู่เรซ แคมป์
อย่างที่ทราบกันผู้ที่จะเข้าเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าฝึกในเรซ แคมป์ (Race Camp) และชิงชัยระดับภูมิภาคเอเชีย ในช่วงระหว่างวันที่ 13-20 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่สนาม “ซิลเวอร์สโตน” ประเทศอังกฤษ เพื่อพลิกชีวิตสู่การเป็นนักขับในทีม “นิสโม่” เข้าแข่งขันรายการอาชีพระดับโลกต่อไปในอนาคต ซึ่งในซีซั่น2 “ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง” ได้รับเชิญให้เข้าร่วมติดตามอย่างใกล้ชิดนั้น ทุกคนล้วนต้องผ่านการเก็บคะแนนดีสุดจากเกม “แกรนทูริสโม่” หรือ GT6 ที่นิสสันได้ร่วมกับเพลย์สเตชั่นสร้างสรรค์ให้เหล่าบรรดาเกมคอนโซล(PS3) ทั่วโลก ได้ประลองความเร็วบนสนามแข่งบนจอ
การแข่งขันในซีซั่น 2 ของไทย เริ่มตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม-มิถุนายนที่ผ่านมา จนเลือกตัวแทนของไทย 6 คน ได้แก่ ณัฐนันท์ คฤโฆษ (นันท์), ณัฐยศ ศิริกายะ(เมี่ยง), พลวัต ลัภกิตโร(บัซ), เพียรพัฒน์ รณเรืองฤทธิ์ (นนท์), ภาณุวิทย์ ธำรงโชติ(มิว) และธนินท์รัฐ อิธิรัฐภูวภัทร์(ก้อง) เพื่อเข้าร่วมชิงความเป็นหนึ่งกับตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่น, อินเดีย, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
แต่ใช่ว่าบรรดาเกมเมอร์ความเร็วเหล่านี้ เมื่อเข้าสู่การแข่งขันรอบคัดเลือก จะกระโดดลงสนามนั่งหลังพวงมาลัย ของรถแข่งจริง ใส่เกียร์ และกระแทกคันเร่ง เพื่อทำความเร็วที่สุดในจำนวนเกมเมอร์นักขับทั้งหมด...
ขับเร็วใช่จะผ่านการคัดเลือก
เพราะบางคนต้องตกรอบคัดเลือก โดยที่ไม่ได้แพ้จากการแข่งขันขับรถเร็วอย่างเดียว เห็นได้จาก “มิว- ภานุวิทย์” ที่ต้องออกจากการแข่งขัน เพราะไม่สามารถผ่านกิจกรรม “จีที นินจา แอสซอล์ท” (GT Ninja Assault ) ที่มีทั้งการไต่เชือก ไต่ราว และข้ามกำแพงขนาดใหญ่ ท่ามกลางกองไฟอันร้อนระอุและหมอกควัน พิสูจน์ความทรหดอดทนของร่างกายและน้ำใจแห่งความสามัคคี เพื่อวัดความพร้อมทั้งกายและใจ
ขณะที่ “นนท์-เพียรพัฒน์” ต้องออกอีกคน เพราะไม่ผ่านด่านทดสอบ “ยิมคาน่า” (Gymkhana Knockout Competition) ที่ถือเป็นแบบทดสอบวัดทักษะการบังคับรถ การควบคุมพวงมาลัย เพราะต้องขับหลบหลีกสิ่งกีดขวางต่างๆ ภายใต้ความกดดันในเรื่องของเวลา
ดังนั้นจีที อคาเดมี เรซ แคมป์ จึงต้องเรียนรู้และแข่งขันกันหลากหลายกิจกรรม นอกจากที่กล่าวมายังมีการขับรถแข่งหลากรูปแบบ ทั้งรถซิงเกิลซีท (Single Seaters) หรือรถล้อเปิด, รถเคเตอร์แฮม (Caterhams) และรถไฮดาวน์ฟอร์ซ (High-Downforce) หรือรถที่มีแรงกดกระทำบนตัวรถสูง อย่างรถรุ่น LM ของ John Palmer และนิสสัน จีที-อาร์ และทดสอบฝีมือการขับจริงด้วยรถยนต์นิสสัน 370Z ที่ให้ประสบการณ์ที่สุดยอด และแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการขับแข่งบนจอคอมพิวเตอร์
เพราะจุดประสงค์ของทางนิสสัน และนิสโม่(ผู้ผลิตชุดแต่งและโมดิฟาย รวมถึงมอเตอร์สปอร์ตของนิสสัน) ต้องการปั้นนักขับที่นอกจากมีฝีมือทางการขับขี่ จะต้องมีทักษะพร้อมในเรื่องของความแข็งแกร่งของร่างกาย สมาธิ และไหวพริบการแก้ไขต่างๆ เพื่อปั้นเป็นนักแข่งรถมืออาชีพระดับโลกต่อไป...
ปั้นฝันเกมเมอร์สู่นักขับอาชีพ
โดยนักแข่งจากรั้วจีที อคาเดมี ที่ก้าวสู่เวทีแข่งขันระดับโลก ที่คุ้นเคยกันดีอย่าง “ลูคัส ออร์โดเนซ” (Lucas Ordoñez) แชมป์คนแรกของจีที อคาเดมี ที่กำลังโลดแล่นอยู่บนสนามแข่งรายการ Super GT คลาส GT500 ซึ่งมาโชว์ฟอร์มสุดยอดในไทย 2 ปีซ้อนแล้ว ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ และ “ยานน์ มาร์เด็นโบโรห์” (Jann Mardenborough) นักแข่งในรายการ GP3 บันไดขั้นต้นในการขยับสู่การแข่งขันระดับสูงอย่าง F-1 และมีโอกาสลงแข่งรายการ Le Mans 24 ชั่วโมง ในคลาส LMP1 ด้วย
ส่วนแชมป์นิสสัน จีที อคาเดมี คนแรกของไทย “เบ๊บ” ฐนโรจน์ ธนาสิทธิ์นิธิเกตุ แม้จะไม่ได้แชมป์ระดับนานาชาติของปีที่แล้ว แต่นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย เห็นแววของการเป็นนักแข่งดาวรู่ง จึงส่งไปลงสนามรายการไมครา คัพ ณ ประเทศแคนาดา ซึ่งก็โชว์ผลงานอยู่ในกลุ่มผู้นำของการแข่งขันประจำฤดูกาลนี้
สำหรับเกมเมอร์ของไทยในซีซั่น 2 นับว่าได้รับการยอมรับเรื่องฝีมือจากคณะกรรมการเช่นเดียวกับรุ่นแรก จะเห็นว่า “ก้อง-ธนินท์รัฐ” แม้จะได้รับบาดเจ็บข้อเท้าพลิกจากอุบัติเหตุในกิจกรรมจีที นินจา แอสซอล์ท และมือหลุดจากราวขณะฝึกซ้อม จนทำให้ไม่สามารถแข่งได้จนจบ แต่เนื่องจากทำผลงานการขับแข่งรุ่น 370Z ได้ดีในวันแรก จึงทำให้กรรมการให้อยู่ต่อในการแข่งขันถัดไป และเป็น 1 ใน 2 คนสุดท้ายคู่กับ “เมี่ยง-ณัฐยศ” เพื่อชิงชัยเป็นแชมป์ประเทศไทย และลุ้นเข้าเป็นนักขับในทีมนิสโม่
กิจกรรมแข่ง “สต็อค คาร์” (Stock Car Racing) เป็นอีกไฮไลต์ช่วงตัดสินการแข่งขันสำคัญ เพราะจะถูกใช้เป็นรอบควอลิฟาย โดยจะเป็นการแข่งขันช่วงกลางคืน ด้วยการนำนิสสัน ไมครา รถรุ่นเก่าของ “มาร์ช” มาทำการแข่งขัน ช่วงทดสอบทีมไทยค่อนข้างทำได้ดี แต่เมื่อรอบแข่งขันจริงรถมีปัญหาทั้งสองคน จนไม่สามารถแข่งจนจบการแข่งขันได้ ทำให้ทีมไทยต้องถูกจัดลำดับออกจุดสตาร์ทรอบชิงชนะเลิศ
ไม่หยุดแค่...จีที อคาเดมี?
เมื่อถึงวันสุดท้ายเมี่ยง-ณัฐยศคว้าแชมป์ประเทศไทย จากการทำคะแนนรวมเฉือนชนะก้อง-ธนินท์รัฐ และเป็นตัวแทนประเทศไทยลงแข่งรอบชิงชนะเลิศ กับแชมป์ของ 4 ประเทศไทย คือญี่ปุ่น, อินเดีย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยขับนิสสัน 370Z Nismo หรือในชื่อ “แฟร์เลดี” รถสปอร์ตขนาดกลาง ขับเคี่ยวกันบนสนามแข่ง F1 และ Moto GP อันยิ่งใหญ่ของอังกฤษ
การออกสตาร์ทอันดับที่ 5 ของเมี่ยง-ณัฐยศ นับเป็นสิ่งยากลำบากที่จะไล่กวาดคู่แข่ง 4 คัน กับการวิ่งเพียง 8 รอบสนาม แต่เมี่ยงก็ทำผลงานได้ดีไล่กวาดขึ้นมาเป็นอับดับ 4 โดยอันดับหนึ่งเป็นของเกมเมอร์ชาวฟิลิปปินส์ “โฮเซ เจอร์ราด โพลิคาพิโอ” ครองแชมป์จีที อคาเดมี ภูมิภาคเอเชียไปครองสำเร็จ
“คณะกรรมการของ นิสสัน จีที อคาเดมี และผู้ฝึกสอนของทีมไทย ประทับใจทักษะการขับแข่ง การเรียนรู้และพัฒนาการ รวมถึงความมุ่งมั่นของณัฐยศตลอดเวลาที่เรซ แคมป์ และนิสสันยังได้มองโอกาสในการสนับสนุนไปสู่เส้นทางในกีฬามอเตอร์สปอร์ต เช่นเดียวกับฐนโรจน์แชมป์จากซีซัน 1 ซึ่งกำลังขับเคี่ยวในการแข่งนิสสัน ไมครา คัพ ณ ประเทศแคนาดาอยู่ขณะนี้” คะซุทากะ นัมบุ ประธานบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัดกล่าว
นับว่าเป็นการสานฝันให้กับให้กับเหล่าบรรดาเกมเมอร์ จากสังเวียนหน้าจอก้าวสู่สนามแข่งจริง... ส่วนใครที่สนใจจะเข้าร่วมแข่งขันในซีซั่นต่อไป เพื่อเตรียมพร้อมและเรียนรู้ประสบการณ์ของรุ่นพี่ เตรียมติดตามชมการแข่งขัน นิสสัน จีที อคาเดมี 2015 ในรูปแบบเรียลลิติโชว์ ได้ทางช่องเวิร์คพอยต์ในช่วงปลายปีนี้...
พิมพร ศิริวรรณ
รองกรรมการผู้จัดการ นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย
“...จีที อคาเดมี คือโครงการปั้นฝันค้นหาดาวรุ่งดวงใหม่ เพื่อพัฒนาให้เป็นนักแข่งรถอาชีพในอนาคต ด้วยการมุ่งไปยังบรรดาเหล่าเกมเมอร์ ซึ่งถ้าเขาเก่งในเกมก็น่าจะสามารถเป็นนักขับรถแข่งในโลกเป็นจริงได้ ตรงนี้จึงเป็นจุดประสงค์หลักที่สำคัญของโครงการจีที อคาเดมี ที่ต้องการเฟ้นหานักขับรถแข่งดาวรุ่ง ให้กับวงการมอเตอร์สปอร์ตทั่วโลก”
ณัฐยศ ศิริกายะ
แชมป์นิสสัน จีที อคาเดมี ประเทศไทย
“...รู้สึกดีใจที่ได้แชมป์นิสสัน จีที อคาเดมี ประเทศไทย แม้จะไม่ได้เซ็นสัญญากับทางนิสโม่ แต่ผมกลับไปอาจจะใช้รถที่ผมมี หรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อลงแข่งขันรถต่อไป จากประสบการณ์ตรงนี้ทำให้ได้รู้ว่า ผมมีความสามารถที่จะเป็นนักแข่งรถได้ คงจะพยายามหรืออย่างน้อยๆ ก็ลงแข่งในประเทศไทยต่อไปครับ”