xs
xsm
sm
md
lg

“จีเอ็ม”เผยวิธีเช็กคุณภาพรถยนต์ผ่านเครื่องสแกนสามมิติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีมนักประเมินมาตรฐานเพื่อการแข่งขัน (Competitive Benchmarking) ของเจนเนอรัล มอเตอร์ส เผยวิธีการใช้เครื่องมือสแกนด้วยแสงเทคโนโลยีสูงในการตรวจจับภาพสามมิติของรถและชิ้นส่วนของคู่แข่ง ด้วยหลักคณิตศาสตร์อย่างแม่นยำ สามารถประเมินมาตรฐานเพื่อการแข่งขันและนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของรถเชฟโรเลต

การประเมินมาตรฐานเพื่อการแข่งขันซึ่งพิจารณาหาจุดดีและจุดด้อยของรถคู่แข่งจะถูกดำเนินการประมาณ 40 ครั้งต่อปีทั่วโลก โดยทีมงานจะคัดเลือกรถอย่างระมัดระวังซึ่งจะเป็นรถรุ่นใหม่ล่าสุดหรือรถที่มีระบบและเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์การสแกนสามมิติถือเป็นแบบจำลองคอมพิวเตอร์สำหรับกระบวนการวิศวกรรมย้อนกลับเพื่อเปรียบเทียบกับการออกแบบของจีเอ็ม

ข้อมูลที่ได้จากการเปรียบเทียบดังกล่าวช่วยลดต้นทุนและน้ำหนักของตัวรถรวมถึงยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้น ทีมนักประเมินมาตรฐานเพื่อการแข่งขันยังถอดรื้อชิ้นส่วนและสแกนรถของจีเอ็มเพื่อตรวจสอบชิ้นส่วน ประเมินคุณภาพกระบวนการผลิต และแก้ไขปัญหาความไม่แน่นอนของชิ้นส่วน ขณะเดียวกัน จีเอ็ม ประเทศไทยมีการใช้เครื่องมือการตรวจวัดแบบเดียวกันนี้ในการตรวจสอบคุณภาพการผลิตรถเชฟโรเลตเช่นเดียวกัน อาทิ เทรลเบลเซอร์ และโคโลราโด ไฮ คันทรี่

“การสแกนสามมิติถือเป็นกระบวนการที่ช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุนในการติดตามความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว” แลร์รี่ พีคาร์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายประเมินมาตรฐานเพื่อการแข่งขันของจีเอ็มกล่าว “เทคโนโลยีนี้ยังช่วยให้เราเพิ่มความเข้าใจในเหตุผลการเรียกคืนรถของบริษัทรถยนต์รายอื่นเพื่อที่เราจะสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดข้อบกพร่องแบบเดียวกันได้”

จีเอ็มใช้เครื่องมือสแกนสามมิติมานานกว่าทศวรรษ เทคโนโลยีนี้จะใช้แพทเทิร์นแสงสีแดง ขาว หรือฟ้า ส่องไปบนพื้นผิวตัวรถ ขณะที่กล้องอันล้ำสมัยหรือเซ็นเซอร์จะตรวจจับโครงร่างและบันทึกตำแหน่งการติดตั้งของวัตถุและทิศทางการติดตั้งภายในตัวรถ โดยระบบต่างๆ เหล่านี้สามารถสแกนชิ้นส่วนขนาดเล็กรอบคันรถได้ ซึ่งแสงสีฟ้าและขาวจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการสแกนตรวจจับรถทั้งคันรวมถึงพื้นผิวตัวถังภายนอกทั้งหมด

นอกจากนี้เครื่องสแกนสีฟ้ายังช่วยกำหนดภาพร่างภายในห้องโดยสาร ตำแหน่งใต้ฝากระโปรง และส่วนประกอบที่อยู่ใต้ท้องรถ ส่วนการสแกนด้วยแสงสีขาวมีกระบวนการคล้ายกับการถ่ายภาพแต่เป็นเทคโนโลยีที่เก่ากว่าและถูกใช้งานไม่บ่อยครั้งนักในปัจจุบัน เนื่องจากการสแกนด้วยแสงสีฟ้ามีความทันสมัยมากกว่า

สำหรับการสแกนด้วยแสงสีแดงเหมาะสมที่สุดสำหรับการตรวจจับรายละเอียดของชิ้นส่วน และส่วนประกอบที่ถูกถอดออกจากตัวรถ ด้วยการผสมผสานข้อมูลจากการสแกนแสงสีแดงและสีฟ้า วิศวกรสามารถตรวจจับชิ้นส่วนที่ถูกถอดออกมา ตำแหน่งดั้งเดิมของชิ้นส่วน รวมถึงทิศทางที่ติดตั้งอยู่ในตัวรถ

นอกจากนี้จีเอ็มยังใช้การสแกนสามมิติสำหรับการออกแบบและพัฒนารถเช่นกัน การจัดการข้อมูลที่รวบรวมจากการสแกนตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนารถต้นแบบดินเหนียว (clay model) ไปสู่การจำลองรถต้นแบบดิจิตอลสามารถอัพโหลดผ่านเครื่องเซาะโลหะ (milling machine) เพื่อสร้างรถต้นแบบตามขนาดจริงได้ ขณะเดียวกันการสร้างส่วนประกอบของตัวรถก็สามารถทำได้ด้วยการโอนถ่ายข้อมูลไปสู่เครื่องผลิตสามมิติสำหรับการผลิตชิ้นส่วนต้นแบบได้อย่างรวดเร็ว

“ด้วยการเปรียบเทียบการสแกนผลิตภัณฑ์ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วกับการสแกนรถต้นแบบแรกเริ่ม ช่วยให้เราสามารถระบุต้นตอของปัญหาที่เกี่ยวกับการติดตั้งและตกแต่งได้ ในบางกรณีเรายังสามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขปัญหาการสั่นสะเทือนและเสียดสีได้ล่วงหน้า” พีคาร์กล่าวและสรุปว่า “ปัญหาด้านคุณภาพก็จะไม่สามารถหลบเลี่ยงได้จากการตรวจสอบของเรา”

ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวในวงการยานยนต์ได้ที่หน้าแฟนเพจ ASTVผู้จัดการ Motoring

กำลังโหลดความคิดเห็น