xs
xsm
sm
md
lg

จับตาเก๋งเล็ก3รุ่นใหม่ เซียส-มาสด้า2เบนซิน-เอ็มจี3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในเวทีบางกอกฯ มอเตอร์โชว์ 2015 ไฮไลต์น่าจะเป็นการประชันกันของรถยนต์นั่งขนาดเล็ก หรือเก๋งเล็ก ที่มีรถใหม่เผยโฉมพร้อมๆ กัน 3 รุ่น นั่นคือการเปิดตัวเก๋งซับคอมแพ็กต์ “เอ็มจี3” ที่เคาะราคามาชนกลุ่มอีโคคาร์ ซึ่งในงานนี้มีรถใหม่ 2 รุ่น “มาสด้า2 สกายแอคทีฟ จี” หรือรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน และการอวดโฉมของ “ซูซูกิ เซียส” ทำให้ตลาดเก๋งเล็กกลับมาคึกคักอีกครั้ง และเพื่อตอบรับกับกระแส “ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง” จึงพาไปสำรวจจุดเด่นของแต่ละรุ่น ว่ามีทีเด็ดอะไรบ้าง?...

รถยนต์นั่งขนาดเล็กทั้ง 3 โมเดลใหม่ ในไทยแม้บางรุ่นจะถูกจัดอยู่คนล่ะกลุ่ม ตามโครงสร้างภาษีสรรพสามิต แต่ด้วยราคาที่ใกล้เคียงกัน และในต่างประเทศถือเป็นตลาดเดียวกัน ยิ่งเป็นกลุ่มเก๋งเล็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งวางจำหน่ายและอวดโฉมพร้อมๆ กัน ในงานบางกอกฯ มอเตอร์โชว์ 2015 จึงทำให้ผู้บริโภคบางรายนำมาเปรียบเทียบ เพื่อพิจารณาร่วมในการตัดสินใจเลือกซื้อรถคันใหม่

มาสด้า2 โฉมใหม่ เป็นรถยนต์ภายใต้โครงการอีโคคาร์ ระยะที่ 2 (Eco Car Phase2) ซึ่งรุ่นแรกเป็นเครื่องยนต์ดีเซล Skyactiv D 1.5 ลิตร เพิ่งวางจำหน่ายเป็นทางการไปเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา และล่าสุดในงานบางกอกฯ มอเตอร์โชว์ 2015 มาสด้าได้เพิ่มตัวเลือกใหม่กับรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน Skyactiv G 1.3 ลิตร ซึ่งจะว่าไปทั้งตัวถัง รูปลักษณ์ และอุปกรณ์มาตรฐานต่างๆ ยกมาจากรุ่นเครื่องยนต์ดีเซลนั่นเอง แตกต่างก็เพียงเป็นเครื่องยนต์เบนซิน และราคาที่เริ่มต้น 5.5 แสนบาท ตามด้วย 6.1 แสนบาท และรุ่นท็อป 6.65 แสนบาท เหมือนกันทั้งรุ่นแฮทช์แบ็กและซีดาน

จุดเด่นของมาสด้า2 เวอร์ชั่นอีโคคาร์ ย่อมต้องเป็นเทคโนโลยีสกายแอคทีฟทั้งคัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ โครงสร้างตัวถัง ช่วงล่าง และระบบส่งกำลัง ซึ่งในรุ่นเครื่องยนต์เบนซินก็เช่นเดียวกัน โดยวางเครื่อง SKyactiv G 1.3 ลิตร 93 แรงม้า ที่ถือว่ามีขนาดใหญ่และแรงสุดในกลุ่มอีโคคาร์ปัจจุบัน และยังมากับเกียร์อัตโนมัติ Skyactiv-Drive 6 สปีด

ไม่เพียงเท่านั้นความโดดเด่นของมาสด้า2 ยังอยู่ที่การนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใส่ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งระบบ i-Stop และล้ำกว่าใครเห็นจะเป็น i-Eloop หรือระบบเปลี่ยนรูปพลังงานที่สูญเสียจากการชะลอหยุดรถให้เป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อนำไปใช้เลี้ยงระบบไฟฟ้าของอุปกรณ์ภายในรถ ทำให้พลังงานจากเครื่องยนต์ถูกใช้ในการขับเคลื่อนรถได้อย่างเต็มที่ ช่วยประหยัดพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิงลงได้ถึง 10% ทั้งหมดทำให้มาสด้า2 ใหม่ มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันไม่ต่ำกว่า 23.3 กม./ลิตร ตามเงื่อนไขอีโคคาร์ เฟส2
มาสด้า2 รุ่นเครื่องยนต์เบนซิน

ขณะที่การออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ไม่ต่างจากรถยุโรป ดังจะเห็นได้จากจอทัชสกรีนขนาดใหญ่ 7 นิ้ว จัดวางในบนศูนย์กลางคอนโซลหน้ารถ แสดงเมนูสั่งงานของระบบ MZD Connect ที่เชื่อมต่อโลกออนไลน์ได้ตลอดเวลา ร่วมกับสมาร์ทโฟนผ่านสัญญาณบลูทูธ ระบบสั่งงานงานด้วยเสียง (Voice Command) และรับข้อความเป็นเสียง พร้อมมีปุ่ม Center Commander ควบคุม MZD Connect ข้างตำแหน่งคนขับเช่นเดียวกับรถยุโรป และ Active Driving Display สกรีนใสเหนือพวงมาลัยในระดับสายตาผู้ขับ แสดงข้อมูลสำคัญในการขับขี่ เช่น ระดับความเร็ว เป็นต้น

ในส่วนของระบบความปลอดภัยจัดเต็ม นอกจากอุปกรณ์ที่ส่วนใหญ่ในรถปัจจุบันติดตั้งมาตรฐานกันแล้ว ยังมีระบบควบคุมเสถียรภาพและการทรงตัวของรถ (DSC) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและควบคุมการลื่นไถล (TCS) ระบบช่วยออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (HLA) ระบบป้องกันล้อล็อค (4W –ABS) พร้อมระบบกระจายแรงเบรก (EBD) ระบบสัญญาณไฟเตือนอัตโนมัติ เมื่อเบรกฉุกเฉิน (ESS) และแป้นเบรกยุบตัวอัตโนมัติ

ส่วน “ซูซูกิ เซียส” (Suzuki Ciaz) เป็นรถภายใต้โครงการอีโคคาร์1 และถือเป็นอีโคคาร์เวอร์ชั่นซีดานตัวแรกของซูซูกิ จากก่อนหน้านี้ในรุ่นแรก “ซูซูกิ สวิฟท์” จะเป็นแบบแฮทช์แบ็ก หรือรุ่น 5 ประตู และทำให้ซูซูกิประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดไทย ก่อนจะมาแป๊กกับอีโคคาร์แบบแฮทช์แบ็กรุ่นสอง “ซูซูกิ เซเลริโอ” เนื่องจากคนไทยยังไม่ยอมรับเครื่องยนต์ระดับ 1000 ซีซี ประกอบกับการวางราคาไม่โดนใจอย่างที่คาดหวังไว้ สำหรับรุ่นเซียสอีโคคาร์โมเดลที่ 3 นี้ นับเป็นความคาดหวังของซูซูกิมาก ที่จะกลับมาผงาดในตลาดเก๋งเล็กอีกครั้ง
ซูซูกิ เซียส
ความโดดเด่นที่เป็นจุดขายแรกของ ซูซูกิ เซียส หากจะสรุปจากเอกสารข่าว คงเป็นเรื่องของขนาดตัวถังที่ใหญ่สุดในกลุ่มอีโคคาร์ด้วยกัน (ดูมิติตัวถังรุ่นเซียสจากตาราง) รุ่นที่ว่าใหญ่ๆ ก่อนหน้านี้อย่าง “นิสสัน อัลเมร่า” (ยาว 4,425 มม. x กว้าง 1,695 มม. x สูง 1,500 มม.x ฐานล้อ 2,600 มม.) ยังต้องยอมยกธงขาว หรือจะว่าไปใกล้เคียงกับคอมแพ็กต์คาร์เลยทีเดียว ดังนั้นพื้นที่ภายในรถจึงถูกออกแบบ เพื่อให้ผู้โดยสารมีพื้นที่โดยสารที่กว้างและรู้สึกสบายในขณะขับขี่ กับความยาวฐานล้อที่มากกว่า 2,650 มม. และการจัดวางผังทำให้ให้มีพื้นที่กว้างกว่ารถยนต์รุ่นอื่นๆ ในระดับเดียวกัน ขณะที่พื้นที่เก็บสัมภาระมากถึง 565 ลิตร

สำหรับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการขับขี่ มีระบบสตาร์ท Keyless Push Start และระบบปรับอากาศอัตโนมัติ ขณะที่ความบันเทิงติดตั้งระบบเครื่องเสียง ที่มาพร้อมกับการใช้งานเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือ ซึ่งในรุ่นแต่งพิเศษที่มีการติดตั้งสเกิร์ตด้านหน้า ด้านข้าง ด้านหลัง และสปอยเลอร์ท้าย รวมถึงเบาะหนังและระบบเครื่องเสียงเชื่อมต่อการใช้งานสมาร์ทโฟน ซึ่งมีฟังก์ชั่นการใช้งานหลัก 4 ฟังก์ชั่น คือ ระบบควบคุมไฟล์เสียงและไฟล์วีดีโอ ระบบนำทาง ระบบควบคุมการใช้งานโทรศัพท์ และการใช้งานสมาร์ทโฟน โดยเชื่อมต่อผ่าน MirrorLink

เซียสวางขุมพลังบล็อกเดียวกับ ซูซูกิ สวิฟท์ นั่นคือเครื่องยนต์เบนซิน K12B ขนาด 1.25 ลิตร 67 กิโลวัตต์ ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT และมีเกียร์ธรรมดา 5 สปีดให้เลือก แม้เซียสจะมีมิติตัวถังใหญ่แบบสุดๆ ในกลุ่ม แต่น้ำหนักรวมเพียง 965-1,005 กก.(แล้วแต่รุ่น) ซึ่งน้อยกว่าอีโคคาร์และซับคอมแพ็กต์หลายรุ่น จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาต่อขุมกำลังที่ติดตั้งมา และทำให้มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันระดับ 20 กม./ลิตร ตามเงื่อนไขของอีโคคาร์1

ขณะที่อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย มีทั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้า และระบบเบรก ABS เป็นมาตรฐาน แต่เนื่องจาก ซูซูกิ เซียส ยังไม่เปิดตัววางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ จะเริ่มผลิตในประเทศไทยและวางจำหน่ายในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ข้อมูลรายละเอียดอื่นๆ จึงยังไม่ให้มาครบ นอกจากที่จะเป็นจุดเด่นตามเอกสารที่แจกให้สื่อมวลชน เช่นเดียวกับราคาที่เปิดเผยเพียงคร่าวๆ จะอยู่ที่ประมาณกว่า 5-6.8 แสนบาทเท่านั้น

สำหรับ “เอ็มจี3” (MG3) เป็นเก๋งซับคอมแพ็กต์แฮทช์แบ็ก หรือ 5 ประตู วางเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร 106 แรงม้า ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด แบบ SeleMatic พร้อมระบบโหมดปรับการขับขี่ ซึ่งในเอกสารข่าวก็ประกาศชัดเจนจะชิงส่วนแบ่งตลาดเก๋งซับคอมแพ็กต์ แต่เมื่อดูราคาที่เปิดออกมารุ่นเริ่มต้น 4.79 แสนบาท รุ่นกลาง 5.09 แสนบาท และรุ่นท็อป 5.59 แสนบาท พร้อมกับรุ่น Xross ที่มาแบบยกสูง และเปลี่ยนกันชนหน้า พร้อมชุดแร่งรอบคัน รวมถึงราวหลังคา(Roff Rail) มีรุ่นเดียวราคา 5.95 แสนบาท นับว่าเปิดราคาลงออกมาชนกับกลุ่มอีโคคาร์ จึงไม่แปลกหากคนที่คิดจะซื้ออีโคคาร์นำมาพิจารณาเปรียบเทียบเป็นอีกตัวเลือก
เอ็มจี3
เอ็มจี3 รุ่นครอส
นอกจากราคาที่โดดเด่นแล้ว เอ็มจี3 ยังมากับสีสันของตัวรถที่ตัดกันกับหลังคาในสไตล์ทูโทน และเป็นเก๋งเล็กประกอบในไทยราคาไม่เกิน 6 แสนบาท ที่มีหลังคาซันรูฟไฟฟ้ามาให้เป็นมาตรฐาน พร้อมกับความหรูหราตัดตั้งที่ปัดน้ำฝนแบบอัตโนมัติ ระบบควบคุมการเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ และไฟส่องสว่างสำหรับการขับขี่กลางวัน LED Daytime Running Light - DRL ขณะที่ความบันเทิงผ่านเครื่องเสียงวิทยุ-CD MP พร้อมช่องต่อ AUX และ USB รวมถึงระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านบลูทูธ

ด้านระบบความปลอดภัยจัดเต็มและโดดเด่นมากๆ ซึ่งนอกจากอุปกรณ์มาตรฐานของรถในปัจจุบันแล้ว ยังมีมาให้ทั้งระบบควบคุมการเบรกในขณะเข้าโค้ง (CBC) ระบบเสริมแรงบรก หรือ BA ระบบควบคุมการทรงตัว (ESC) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและควบคุมการลื่นไถล(TCS) ระบบป้องกันการลื่นไถลเมื่อเกียร์ลดต่ำอย่างเฉียบพลัน (MSR) และ ระบบออกตัวบนทางลาดชัน (HAS) เป็นต้น

นี่คือจุดเด่นจุดขายของเก๋งขนาดเล็ก 3 โมเดลใหม่ ที่เผยโฉมเปิดตัวออกมาท้าชนกันช่วงนี้ ส่วนรูปลักษณ์จริงจะโดนใจแค่ไหน? หรือวัสดุอุปกรณ์มีคุณภาพแค่ไหน ไปชมคันจริงได้ในงานในเวทีบางกอกฯ มอเตอร์โชว์ 2015 ซึ่งจะมีไปจนถึงวันที่ 5 เมษายนนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น