xs
xsm
sm
md
lg

เมอร์เซเดส-เบนซ์หนุนการศึกษาเร่งพัฒนาทักษะนักเรียนอาชีวะสู่ช่างยนต์มืออาชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ร่วมส่งเสริมพัฒนาทักษะนักเรียนอาชีวะ ในงาน “อาชีวศึกษาทวิภาคีไทย” จัดนิทรรศการสาธิตการเรียนการสอน “โครงการช่างฝึกหัดเมอร์เซเดส-เบนซ์หลักสูตรทวิภาคี” สนับสนุนการศึกษาระบบทวิภาคีสาขาช่างยนต์ เพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียนอาชีวะสู่การเป็นช่างเทคนิคมืออาชีพมาตรฐานเดียวกับเยอรมัน ให้พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์อย่างเต็มตัว
ไมเคิล เกรเว่
ไมเคิล เกรเว่ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมด้านการศึกษา อันเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการศึกษาด้านสาขาช่างยนต์ที่จำเป็นต้องมีการอบรมให้ความรู้ รวมถึงฝึกฝนทักษะด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และทักษะความชำนาญอย่างแท้จริง จากแนวคิดดังกล่าวบริษัทฯ จึงได้ริเริ่ม “โครงการช่างฝึกหัด เมอร์เซเดส-เบนซ์หลักสูตรทวิภาคี” ขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2530

โดยโครงการดังกล่าวเป็นหลักสูตรช่างยนต์ตามมาตรฐานเดียวกับเดมเลอร์ เอจี เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเปิดโอกาส ให้นักเรียนที่มีความสนใจในสาขาอาชีพช่างยนต์ได้รับการฝึกอบรมเทคโนโลยีรถยนต์จาก เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทุกรุ่นโดยนักเรียนทุกคนจะได้เรียนรู้จากครูผู้ฝึกสอนที่มากด้วยประสบการณ์ มีโอกาสได้ลงมือปฏิบัติเพื่อให้ได้รับประสบการณ์จริง และได้ต่อยอดความรู้ด้านช่างยนต์ ที่เน้นนวัตกรรมอันโดดเด่นจากเทคโนโลยีของประเทศเยอรมนี

ทั้งนี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ได้เข้าร่วมโครงการ “เยอรมัน-ไทย เพื่อความเป็นเลิศในการศึกษาทวิภาคี (German-Thai Dual Excellence Education: GTDEE)” ซึ่งบริหารงานโดยหอการค้าเยอรมัน-ไทย เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพหลักสูตรระบบทวิภาคีของวงการอาชีวศึกษาสู่ความเป็นเลิศตามมาตรฐานของเยอรมัน โดยบริษัทหรือองค์กรที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องใช้หลักสูตรเดียวกันตามมาตรฐานการศึกษาในประเทศเยอรมนี ซึ่งจากการดำเนินการหลักสูตรที่ผ่านมาเมอร์เซเดส-เบนซ์ได้ร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ได้รับรองวิทยฐานะจากกระทรวงศึกษาธิการ และวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก พัฒนาบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการฯ ดังกล่าวได้ผลิตบุคลากรป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมมาแล้วถึง 25 รุ่น กว่า 700 คน และเพื่อเป็นการเปิดโอกาสและเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพให้แก่ผู้ที่เรียนจบหลักสูตรนี้ นักเรียนจะได้รับการพิจารณาเข้าร่วมงานกับผู้จำหน่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์อย่างเป็นทางการอีกด้วย

“สำหรับนิทรรศกาโครงการช่างฝึกหัดเมอร์เซเดส-เบนซ์หลักสูตรทวิภาคี’ ภายในงานอาชีวะศึกษาทวิภาคีไทย ในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงถึงศักยภาพ และความพร้อม ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) ในการร่วมพัฒนาทักษะทางวิชาชีพสาขาช่างยนต์สำหรับนักเรียนอาชีวะศึกษา โดยภายในนิทรรศการจะประกอบไปด้วยการให้ข้อมูลด้านการบริหารจัดการหลักสูตรทวิภาคี หลักเกณฑ์การรับผู้มีคุณสมบัติเข้าศึกษา การสาธิตการเรียนการสอน ในภาคปฏิบัติ โดยนำรถยนต์รุ่น E 300 BlueTEC HYBRID มาจัดแสดง พร้อมสาธิตการเรียน การสอนภาคปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นส่วนการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนการสอนด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และการเรียนรู้ระบบไฮบริด โดยบริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดนิทรรศการ ในครั้งนี้จะสามารถเป็นแนวทางให้กับนักเรียน นักศึกษา รวมถึงอาจารย์จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาต่างๆ เกิดความสนใจในหลักสูตรทวิภาคีฯ และนำไปต่อยอดเพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพของนักเรียนอาชีวศึกษา สาขาช่างยนต์ให้มีความชำนาญ และมีความเป็นมืออาชีพ ซึ่งในปัจจุบัน ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยยังมีความต้องการช่างยนต์ที่มีฝีมือดีอีกเป็นจำนวนมาก” ไมเคิลกล่าว
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ขีดความสามารถของนักเรียนอาชีวศึกษาในไทยมีความสอดคล้องกับตลาดแรงงานมากขึ้นทั้งในด้านปริมาณ และคุณภาพ จากการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาด้วยแนวคิด ‘ผู้ใช้ร่วมคิด ผู้ผลิตร่วมกำหนด ภายใต้บริบทของความรับผิดชอบ’ ซึ่งในปัจจุบันหลักสูตรอาชีวศึกษาจะเน้นหลักสูตรทวิภาคีมากขึ้น การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและองค์กรเอกชนในการริเริ่มและพัฒนาหลักสูตรฯ จึงเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเสียงตอบรับจากนักเรียนที่เข้าร่วมหลักสูตร ตลอดจนผู้ปกครองก็เป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพราะเดิมหลายท่านมองว่าหลักสูตรฯ แบบนี้คือการใช้งานแรงงานเด็ก ได้เริ่มมีความเข้าใจต่อวัตถุประสงค์มากขึ้น และมีความต้องการให้มีหลักสูตรแบบทวิภาคีครอบคลุมสถาบันอาชีวศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ

“นับเป็นสัญญาณที่ดีในการเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรฯ ต่อไป และจากการที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ หนึ่งในสถานประกอบการที่มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับโลก ได้ริเริ่มโครงการช่างฝึกหัดเมอร์เซเดส-เบนซ์หลักสูตรทวิภาคี ซึ่งนับเป็นหลักสูตรแม่แบบและต้นแบบของการเรียนการสอนแบบทวิภาคีในทุกวันนี้ ทำให้ เด็กที่เข้ามาสู่โครงการนี้ได้รับความรู้และประสบการณ์อย่างเหมาะสม และเป็นบุคลากรสายช่างเทคนิคที่มีคุณภาพและคุณสมบัติตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมตลาดรถยนต์ เราจึงหวังให้โครงการนี้เป็นโครงการแม่ข่ายที่จะขยายสู่การพัฒนาในส่วนของโครงการยานยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงในด้านอื่นๆ และเป็นโมเดลที่สามารถพัฒนาคนไปสู่ระดับอาเซียนได้ในอนาคต”

ชัชวาล ดีสวัสดิ์ นักเรียนปัจจุบันในโครงการช่างฝึกหัด เมอร์เซเดส-เบนซ์ หลักสูตรทวิภาคี กล่าวว่า การได้เข้ามาเรียนในโครงการนี้ทำให้รู้สึกว่า การเรียนในสายอาชีพจะทำให้เรามีทักษะในการทำงานที่มากขึ้น เนื่องจากเรามีโอกาสได้ปฏิบัติจริงนอกเหนือไปจากการเรียนทฤษฎีเพียงอย่างเดียว และยังมีโอกาสได้ศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของเมอร์เซเดส-เบนซ์ทั้งในด้านของทักษะและรูปแบบการทำงานตั้งแต่เริ่มเรียน ทำให้เมื่อจบจากหลักสูตร เราก็สามารถเริ่มทำงานได้ทันที ในขณะที่คนที่ไม่ได้เข้ามาเรียนในหลักสูตรนี้อาจจะต้องใช้เวลานานกว่าในการฝึกก่อนเริ่มงานจริง

“หากมีโอกาสก็อยากชวนเพื่อนๆ มาเรียนในโครงการนี้ เพราะผมมองว่าจุดเด่นของโครงการนี้ คือ ระบบการฝึกสอนบุคลากรที่เป็นขั้นตอน เป็นรูปธรรม และมีคุณภาพ เพราะเราได้รับการฝึกโดยตรงจากผู้ฝึกที่มีความสามารถนานถึงแปดเดือน ก่อนที่จะได้เข้าร่วมทดลองทำงานจริงกับสถานประกอบการ อีกทั้งยังได้เรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่มีความล้ำสมัย เช่น เทคโนโลยีระบบความปลอดภัย เครื่องยนต์แบบไฮบริด หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อีกด้วยครับ”

ณัฐกิตติ์ เรืองยศงามเลิศ ผู้จัดการฝ่ายบริการ บริษัท สวนหลวง ออโต้เฮาส์ จำกัด ศิษย์เก่านักเรียนโครงการช่างฝึกหัดเมอร์เซเดส-เบนซ์ หลักสูตรทวิภาคี กล่าวว่า หลักสูตรนี้สามารถสร้างความได้เปรียบให้กับนักเรียนในโครงการหลายด้าน ทั้งในด้านของการเรียนที่ทำให้นักเรียนสามารถประยุกต์ใช้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติได้ในเวลาเดียวกัน ได้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ของรถยนต์ สามารถแก้ปัญหาระหว่างการทำงานที่อาจเกิดขึ้นได้มากกว่า และยังมีความได้เปรียบในเรื่องโอกาสการทำงาน

“นักเรียนในโครงการนี้จะมีโอกาสได้ร่วมงานกับผู้จำหน่าย เมอร์เซเดส-เบนซ์อย่างเป็นทางการอีกด้วย โดยน้องๆ ที่จบจากหลักสูตรนี้มาจะสามารถผ่านการทดสอบตามมาตรฐานช่างของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้อย่างรวดเร็ว เพราะได้ผ่านการเรียนทั้งระบบช่าง ระบบไฟฟ้า เข้าแล็บ ผ่านการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา ซึ่งปัจจุบันศูนย์บริการยังคงต้องการบุคลากรช่างเทคนิคอย่างต่อเนื่อง”

โครงการฯ นี้จึงมีส่วนช่วยป้อนพนักงานเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งทางเมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็มีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรฯ อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในแต่ละ ช่วงที่ได้รับการพัฒนา ของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ นักเรียนในโครงการฯจะได้เรียนรู้ข้อมูลที่ใหม่ที่สุดตามหลักสูตร สอดคล้องกับพนักงานในศูนย์บริการที่จะได้รับการอบรมความรู้ใหม่ๆเช่นเดียวกัน






กำลังโหลดความคิดเห็น