ศูนย์ข่าวศรีราชา - วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก เปิดการเรียนการสอนแบบทวิภาคีออนไลน์ เปิดทางคนทำงานไม่มีวันหยุดเรียนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เสริมศักยภาพการเป็นผู้นำด้านการผลิตนักเรียนอาชีวะป้อนภาคอุตสาหกรรม ที่กำลังขาดแคลนแรงงานฝีมืออย่างหนัก ขณะเดียวกัน ยังเป็นวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้จัดระบบเทียบโอน เผยเร็วๆ นี้เตรียมจัดงานฉลองครบรอบ 30 ปี ยิ่งใหญ่
ดร.ประเสริฐ กลิ่นชู ผู้อำนวยการ วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) เผยว่า เดือนพฤศจิกายนนี้ จะครบรอบการดำเนินงานปีที่ 30 ซึ่งจะมีการจัดงานทั้งภาคกลางวัน และกลางคืน เพื่อเปิดโอกาสให้ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันได้พบปะสังสรรค์รำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งยังศึกษาในสถานศึกษาแห่งนี้ ซึ่งเปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี 2527 โดยมีนักเรียนเริ่มแรก 101 คน บุคลากรครู 17 คน ปัจจุบันมีนักเรียน 1.2 หมื่นคน มีครู และบุคลากรเกือบ 500 คน มีอาคารเรียน 13 อาคาร ในเนื้อที่รวมกว่า 30 ไร่
โดยที่ผ่านมา วิทยาลัยได้เปิดการเรียนการสอน 2 หลักสูตรของสำนักงานอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ คือ ช่างอุตสาหกรรม และบริหารธุรกิจ ทั้งระดับ ปวช.และ ปวส. และยังเป็นวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้จัดการเรียนการสอนในระบบเทียบโอน และระบบทวิภาคีออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่ทำงานในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ไม่สามารถเข้าเรียนในภาคสมทบได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
“ระบบทวิภาคีออนไลน์เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่มีนานานแล้วในต่างประเทศ ซึ่งในประเทศไทยใช้ระบบเดียวกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่นักเรียนสามารถเรียนผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจารย์แต่ละวิชาจะสอนผ่านระบบวิดีโอตั้งแต่ต้นจนจบ หากนักเรียนไม่เข้าใจสามารถเปิดดูซ้ำในแต่ละวิชา หรือโทรศัพท์มาสอบถามอาจารย์ผู้สอน หรือสอบถามผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งทางวิทยาลัยได้จัดทำไว้ก่อนรวมกลุ่มมาสอบ โดยการเปิดสอนในระบบนี้จะช่วยให้ผู้ที่ต้องการเรียนแต่ไม่มีเวลา สามารถที่จะเรียนจนจบหลักสูตรในระดับ ปวส.ได้เท่ากับนักเรียนในภาคสมทบ โดยได้เปิดสอนมาได้ประมาณ 1 ปีแ พบว่า มีนักเรียนในระบบนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน”
ดร.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน อี.เทค สามารถผลิตบุคลากรด้านอาชีวศึกษา ป้อนตลาดแรงงานได้ไม่น้อยกว่า 3 หมื่นคน และยังได้รับการยอมรับว่า เป็นสถาบันอาชีวศึกษาที่สามารถผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงานได้มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งในแต่ละปีวิทยาลัยได้รับความสนใจจากสถานประกอบการชื่อดัง ที่มีสายการผลิตอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก มาคัดเลือกนักเรียนที่กำลังจะจบการศึกษาในแต่ละสาขาวิชาเข้าไปทำงานด้วยเป็นจำนวนมาก จนสามารถรับประกันได้ว่า นักเรียนที่จบในสายอาชีพไม่มีวันตกงาน ที่สำคัญสถาบันฯ ยังได้ทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับสถานประกอบการหลายแห่งในการผลิตบุคลากรป้อนเข้าสู่ระบบ
และเมื่อเร็วๆ นี้ยังได้ทำเอ็มโอยูกับผู้ผลิตรถยนต์เบนซ์ เพื่อจัดส่งนักเรียนในสาขาช่างเข้าศึกษาระบบการซ่อมบำรุงกับศูนย์เบนซ์ เกี่ยวกับเทคโนโลยีการซ่อมสมัยใหม่ โดยจะเข้าเรียนในช่วงวันจันทร์-ศุกร์ ส่วนวันอาทิตย์ จะมาเรียนที่ อี.เทค ซึ่งนักเรียนเหล่านี้เมื่อจบการศึกษาจะได้รับ 2 ประกาศนียบัตร คือ ผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรทวิภาคีของประเทศเยอรมนี และวุฒิบัตร ปวส.จากวิทยาลัย นอกจากนั้น ในทุกปีสถาบันยังร่วมกับสำนักงานจัดหางานจังหวัด และกลุ่มอมตะนคร จัดงานตลาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งมีอัตราการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นตำแหน่งอีกด้วย
“เดือนมกราคม 2558 เรายังจะจัดงานใหญ่อีกงาน คือ การแข่งขันทักษะวิชาชีพกลุ่มภาคกลาง เพื่อฉลองครบรอบดำเนินการ 30 ปี โดยจะมีสถาบันอาชีวศึกษาร่วม 101 แห่ง ส่งนักศึกษาเข้าแข่งขันทักษะทางวิชาชีพกว่า 6 พันคน ถือเป็นงานใหญ่ระดับประเทศ และยังจะจัดนิทรรศการทางวิชาการ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกได้รู้ว่า การเรียนอาชีวศึกษาสร้างงานสร้างอาชีพได้จริง ส่วนวันที่ 29 พฤศจิกายน 2557 จะนัดงานคืนสู่เหย้าเพื่อฉลองครบรอบ 30 ปีก่อน”