นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง ขอบคุณซื้อข้าวจากไทย ยันเฝ้าระวังคุณภาพไม่ให้มีสารปนเปื้อน ขณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องร่วมผลักดัน SMEs เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
วันนี้ (19 พ.ย.) เวลา 08.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรมดุสิตธานี มะนิลา สาธารณรัฐฟิลลิปปินส์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบหารือทวิภาคีกับนายซี วายเลิง ผู้บริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 23
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ ทั้งสองฝ่ายกล่าวยินดีที่ได้พบกันอีกครั้ง โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายพอใจกับภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-ฮ่องกง โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การขยายการส่งออกสินค้าเกษตร ซึ่งฮ่องกงถือเป็นคู่ค้าและคู่ลงทุนที่สำคัญลำดับต้นๆ ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ฮ่องกงยังมีความแนบแน่นในทุกระดับ ทั้งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระดับประชาชนต่อประชาชน โดยได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณฮ่องกงที่ให้ความสนใจสั่งซื้อข้าวไทยเป็นจำนวนมากมาตลอด ขอยืนยันว่าไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการควบคุมและเฝ้าระวังมาตรฐานคุณภาพอาหาร ไม่ว่าจะเป็นสินค้าข้าวและผลไม้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคและชื่อเสียงสินค้าไทยเป็นสำคัญ ทั้งนี้ขอให้ฮ่องกงช่วยตรวจสอบกรณีการลักลอบปนเปื้อนข้าวส่งออกจากไทย เพราะก่อนการส่งออกข้าวจากท่าเรือของไทยมีการตรวจสอบมาตรฐานและความถูกต้องอย่างเข้มงวดเมื่อถึงปลายทางก็ตรวจซ้ำอีกครั้ง แต่กลับพบว่ามีการลักลอบปนเปื้อนข้าวซึ่งเป็นการทำลายชื่อเสียงคุณภาพข้าวของไทย ไทยขอให้ฮ่องกงช่วยดูแลเรื่องนี้ด้วย
ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ริเริ่มการท่องเที่ยวทางทะเล เพื่อเปิดรับการท่องเที่ยวทางเรือสำราญเพิ่มเติมอีกด้วย รวมทั้งการจัดทำการโปรแกรมการท่องเที่ยวแบบแพคเกจ (Package) เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั้งไทย ฮ่องกง และอาเซียน
สำหรับการสร้างความเชื่อมโยงนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ รถ ราง และเรือ เชื่อมโยงแต่ละประเทศ ช่วยลดต้นทุนการขนส่งและย่นระยะเวลาการเดินทาง ซึ่งฮ่องกงมีความเชี่ยวชาญซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทย ทั้งนี้ ผู้บริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกงกล่าวว่า ฮ่องกงมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ทั้งถนน อุโมงค์ โดยเฉพะราง และดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับการพัฒนาที่ดินบริเวณโดยรอบเส้นทางรถไฟ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงสุดทั้งต่อชุมชนและเศรษฐกิจประเทศโดยรวม
นายกรัฐมนตรียังเชิญชวนให้นักลงทุนชาวฮ่องกงมาลงทุนในไทยทั้งลักษณะกลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster) และ Super Cluster ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนภาคเอกชน ผ่านสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเป็นพิเศษ
สำหรับความร่วมมือเพื่อการส่งเสริม SMEs นั้น นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความสำคัญของการเชื่อมโยง SMEs ระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งการเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากกรอบความร่วมมือการค้าเสรีทุกระดับ เพื่อให้ SMEs ของแต่ละประเทศสามารถเติบโตไปพร้อมๆ กัน
ทั้งนี้ ผู้บริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกงกล่าวเห็นพ้องว่า สำหรับฮ่องกงแล้ว SMEs ถือเป็นแกนหลักที่สำคัญของเศรษฐกิจของฮ่องกง โดยฮ่องกงเน้นส่งเสริม SMEs ตั้งแต่เริ่มธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านระบบเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) และการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการให้ความสำคัญในการออกกฎระเบียบเพื่อให้การริเริ่มจัดตั้งธุรกิจ เป็นไปได้โดยง่ายและสะดวก ขณะเดียวกัน กฎหมายต่างๆ จะต้องเอื้อประโยชน์ต่อการประกอบการเพื่อส่งเสริมการเติบโตและให้ธุรกิจสามารถดำรงอยู่ได้
ผู้บริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เห็นชอบตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีที่อยากเห็นความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ SMEs ของทั้งสองฝ่าย โดยเสนอให้มีการหารือระหว่างสถาบันและองค์กรเอกชน ระหว่างกัน อาทิ หอการค้าไทย-ฮ่องกง เป็นต้น
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีและผู้บริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกงยังเห็นพ้องในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและพร้อมสนับสนุนความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างกัน