ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยบทความวิเคราะห์ตลาดค้าชายแดน ชี้โอกาสสดใส คาดมูลค่าปีนี้กว่า 9.5 แสนล้านบาท และถึง 1 ล้านล้านในปี 59 แนะ SMEs ไทยเร่งแสวงหาช่องทางเจาะตลาด
ตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยอย่างพม่า สปป.ลาว และกัมพูชา (CLM) นับว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพและน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ไทย เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ด้วยทิศทางและแนวนโยบายของทางการที่สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น รวมไปถึงปัจจัยด้านจำนวนแรงงาน ต้นทุนแรงงาน ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีอากรจากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) เป็นต้น ที่ล้วนดึงดูดเงินทุนจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านพลังงาน อุตสาหกรรมการผลิต การก่อสร้าง การท่องเที่ยว การเกษตร และภาคบริการ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2557 มูลค่าการค้าชายแดนของไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้นแตะ 9.5 แสนล้านบาทจากระดับ 9.2 แสนล้านบาทในปี 2556 หรือขยายตัวร้อยละ 2.8 Year Over Year (YOY) และน่าจะเติบโตได้ถึง 1 ล้านล้านบาทในปี 2559
และหากไม่นับรวมการค้าผ่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปีนี้มูลค่าการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ สปป.ลาว พม่า และกัมพูชา จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 9.0 YoY โดยมีปัจจัยสนับสนุนด้านการส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ การก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น การส่งเสริมจากภาครัฐผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมถึงการเติบโตของชนชั้นกลางในประเทศกลุ่ม CLM ที่ยังคงมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทยเป็นทุนเดิม นอกจากการค้าชายแดนแล้ว ผู้ประกอบการ SMEs ยังสามารถทำการค้าผ่านแดน โดยขนส่งผ่านประเทศเพื่อนบ้านไปยังเวียดนาม จีนตอนใต้ และสิงคโปร์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2557 มูลค่าการค้าผ่านแดนจะขยายตัวได้ร้อยละ 12.0 YoY
ในปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านของไทย รวมทั้งไทยเองได้มีการปรับตัวในหลายมิติเพื่อรองรับการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เช่น การพัฒนาพื้นที่ชายแดน การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม การลดขั้นตอนกระบวนการผ่านแดน การปรับลด/ยกเลิกภาษี รวมถึงการขยายเวลาเปิด-ปิดด่านต่างๆ อันจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขยายตลาดสินค้าไทยให้กว้างขวางขึ้นได้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ไทยที่ยังไม่ได้ขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ก็ควรมองหาลู่ทางที่จะส่งสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศ และอาจไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยอาศัยวัตถุดิบ/ปัจจัยการผลิตด้านแรงงานที่มีอยู่มากในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการแข่งขันในประเทศและในภูมิภาคที่นับวันยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านก่อน เพราะถือว่าไม่ยากนักสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่เคยทำการค้าระหว่างประเทศ
สำหรับธุรกิจไทยที่คาดว่าจะมีโอกาสเติบโตผ่านช่องทางการค้าชายแดน ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า ธุรกิจบริการ เช่น ท่องเที่ยว ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เป็นต้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *