สสว.เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ พ.ค.เพิ่มขึ้น ทั้งธุรกิจภาพรวมและรายภูมิภาค จากเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจโลกฟื้น การบริโภคภายในประเทศขยายตัว คาด 3 เดือนข้างหน้าความเชื่อมั่นโตทุกภาคธุรกิจ เชื่อธุรกิจค้าส่งวัสดุก่อสร้าง สถานีบริการน้ำมัน บริการด้านขนส่งสินค้าและขนส่งมวลชนมีแนวโน้มขยายตัวสูง
รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนพฤษภาคม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2557 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ ลดลงอยู่ที่ 39.5 จากระดับ 49.0 (ลดลง 9.5) ขณะที่คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น และเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งค่าดัชนีภาพรวมและรายภูมิภาค
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 49.7 จากระดับ 41.9 (เพิ่มขึ้น 7.8) โดยกิจการภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50.8 49.6 และ 49.3 จากระดับ 45.8 41.1 และ 41.2 (เพิ่มขึ้น 5.0 8.5 และ 8.1) เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48.2 และ 50.6 จากระดับ 33.3 และ 30.3 (เพิ่มขึ้น 14.9 และ 20.3) ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาค่าดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าในแต่ละประเภทกิจการ พบว่า ภาคค้าส่ง กิจการค้าส่งวัสดุก่อสร้าง ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 52.6 จากระดับ 45.1 (เพิ่มขึ้น 7.5) ภาคค้าปลีก กิจการสถานีบริการน้ำมัน ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 49.9 จากระดับ 37.7 (เพิ่มขึ้น 12.2) ภาคบริการ กิจการด้านการขนส่งมวลชนและการขนส่งสินค้า ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 50.0 และ 50.7 จากระดับ 32.7 และ 34.0 (เพิ่มขึ้น 17.3 และ 16.7) ตามลำดับ
ขณะที่ผลการสำรวจดัชนีรายภูมิภาคในเดือนพฤษภาคมเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2557 พบว่า ค่าดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าทุกภูมิภาคปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยภูมิภาคที่มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ค่าดัชนีอยู่ที่ 50.1 จากระดับ 38.1 (เพิ่มขึ้น 12.0) รองลงมาคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีอยู่ที่ 51.2 จากระดับ 39.3 (เพิ่มขึ้น 11.9) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 46.9 จากระดับ 40.0 (เพิ่มขึ้น 6.9) ภาคเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 51.7 จากระดับ 45.9 (เพิ่มขึ้น 5.8) และภาคใต้ ค่าดัชนีอยู่ที่ 48.0 จากระดับ 44.1 (เพิ่มขึ้น 3.9) ตามลำดับ
สำหรับสาเหตุสำคัญมาจากผู้ประกอบการ SMEs เชื่อมั่นว่าสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายไปในทางที่ดีและมีเสถียรภาพ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาดูแลบริหารประเทศและมีมาตรการเร่งด่วนทั้งการจ่ายเงินให้เกษตรกรชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนมีความคึกคักมากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่ส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจโดยภาพรวมมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้มีปัจจัยเกื้อหนุนมาจากระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลยังคงทรงตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ค่าเงินบาท ณ สิ้นเดือนพฤษภาคมปรับตัวอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 32.53 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจและการค้าโลกมีการฟื้นตัวดีขึ้น โดยในกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกของประเทศ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *