xs
xsm
sm
md
lg

‘บิ๊กตู่’ชงแก้น้ำหนักปิกอัพ... ลุ้นปลดล็อคพลิกโฉมอุตฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปิกอัพเป็นโปรดักต์แชมเปียนอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยมานาน แม้ปัจจุบันจะมีความคาดหวังกับโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวที่ 2 “อีโคคาร์” ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่ชัดเจนเท่าปิกอัพ เห็นจากยอดขายรถยนต์ที่ตกลงมากช่วงนี้ ส่วนใหญ่จะมาจากรถยนต์ขนาดเล็กอย่างอีโคคาร์ หรือซับคอมแพ็กต์ แม้ปิกอัพจะลดลงแต่ไม่มาก เป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจและปัญหาการเมือง แต่ผู้คนส่วนใหญ่แทบจะไม่รู้เลยว่า ปัจจุบันปิกอัพไทยถูกคุมด้วยกฎหมายโบราณมาตั้ง 35 ปี และล่าสุดเตรียมลุ้นปลดล็อคอุปสรรคครั้งสำคัญ โดยการชงของรัฐบาลท็อปบูท หลังจากพยายามมาหลายครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ...

ปัจจุบันรถยนต์ในไทยถูกควบคุมด้วยกฎหมาย 2 ฉบับ คือพระราชบัญญัติรถยนต์ และการขนส่งทางบก แต่เกี่ยวกับการผลิตรถออกสู่ตลาด จะเกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติรถยนต์ (พ.ร.บ.รถยนต์) เป็นหลัก ซึ่งใช้มาตั้งแต่พ.ศ.2522 แม้จะมีแก้ไขบ้างแต่ยังไม่ใช่สาระหลักเกี่ยวกับตัวรถ นับรวมจนถึงทุกวันนี้ใช้มายาวนาน 35 ปี ในขณะที่โลกเปลี่ยนเทคโนโลยีเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ยิ่งโดยเฉพาะโลกยุคดิจิตอลเช่นนี้ กฎหมายจึงแทบจะตามไม่ทัน

เหตุนี้จึงมีการพยายามแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.รถยนต์ใหม่ โดยเฉาะในส่วนของน้ำหนักรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล(ในที่นี้จะหมายถึงปิกอัพเป็นหลัก : ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง) ซึ่งได้พยายามมาหลายครั้ง ที่จะแก้ไขน้ำหนักจากปัจจุบันไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม(อนุญตให้ 1,650 กก.) เป็นน้ำหนักไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม แต่ก็ไม่สามารถผ่านมาเป็นกฎหมายได้ ไม่ถูกดองก็มีเหตุให้รัฐบาลต้องสิ้นสุดการทำงานก่อน อย่างรัฐบาลนายกรัฐมนตรี “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”...


ล่าสุดภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ภายใต้การนำของหัวหน้าคณะคสช. “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และยังนั่งควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในฐานะหน้าคณะรัฐบาลปัจจุบัน ได้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.รถยนต์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ... (ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับน้ำหนักรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล) โดยได้บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา (ดูภาพรายละเอียดร่างพ.ร.บ.รถยนต์ประกอบ)

ทั้งนี้ร่างแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.รถยนต์ ที่เสนอเข้าไปโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หลายฝ่ายเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเหมือนกับรัฐบาลเลือกตั้ง เพราะเสนอโดยหน้าคสช. หรือนายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่เป็นคนเดียวกัน แถมเป็นผู้พิจารณาผ่านร่างกฎหมายอย่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช. ได้รับการแต่งตั้งมากับมือ จึงน่าจะผ่านร่างพ.ร.บ.รถยนต์ฉบับแก้ไขได้ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน หลังจากที่ใช้มาเป็นเวลานานถึง 35 ปี

โดยสาระสำคัญในการปรับปรุงแก้ไข... ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... (ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดน้ำหนักรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล) ได้แก้ไขมาตรา ๒๑ (๓ ทวิ) ในร่างมาตรา ๖ เป็นดังต่อไปนี้

“(๓/๑) การใช้รถยนต์ต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักไม่เกินสองพันสองร้อยกิโลกรัมเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล หรือใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด”


จากร่างแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.รถยนต์ดังกล่าว...  จึงเสมือนเป็นการปลดล็อคปิกอัพไทย ซึ่งถูกคุมน้ำหนักไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม มาตั้งแต่ปี 2522 หรือยาวนานถึง 35 ปี และเป็นประเด็นที่ค่ายรถผลักดันให้มีการแก้ไขมาตลอด เพราะปัจจุบันปิกอัพที่ผลิตในไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการเพิ่มอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งมาเป็นมาตรฐาน ยิ่งแข่งขันกันใส่เข้ามาให้มาก เพื่อเป็นจุดเด่นในการตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า แต่ที่สุดจะติดตรงข้อจำกัดเรื่องน้ำหนักรถ

ตามกฎหมายการที่รถจะขาย หรือจดทะเบียนได้ ต้องมีการรับรอง 2 ขั้นตอน อันดับแรกผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานมาตฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) และการทำแบบวิศวกรรมกับกรมการขนส่งทางบก ในเรื่องการตรวจสอบขนาด และเครื่องยนต์ของรถ โดยส่วนใหญ่จะมาตกม้าตายตรงในส่วนของน้ำหนักรถ

จะว่าไปปิกอัพในไทยปัจจุบัน แทบจะไม่ผ่านพ.ร.บ.รถยนต์ ว่าด้วยเรื่องน้ำหนักรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล เหตุนี้จึงได้มีการงัดสารพัดวิธีเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย มีตั้งแต่ถอดอุปกรณ์มาตรฐานบางอย่างออก รวมถึงยางอะไหล่ ใส่น้ำมันเพียงนิดหน่อย ถอดเบาะ และอื่นๆ อีกมากมาย หรือไม่ถึงกับทำสเปกพิเศษ เพื่อมาชั่งน้ำหนักโดยเฉพาะ


เรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมการขนส่งทางบก เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีพอสมควร บวกกับการมีนอกมีในระหว่างเจ้าหน้าที่และบริษัทรถ จึงไม่เข้าไปตรวจสอบรายละเอียดมากนัก และนี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญในการพยายามผลักดันปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับน้ำหนักรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้หากห่างร่างพ.ร.บ.รถยนต์นี้ผ่าน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนในอุตสาหกรรมการผลิตปิกอัพอย่างมาก เนื่องจากปิกอัพจะมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากขึ้นได้ และสามารถจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลได้ปกติ ทำให้เสียภาษีป้ายประจำปีสูงสุดประมาณ 1,000 บาท/ปี ขณะที่หากเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (เก๋ง) ต้องเสียภาษีอัตราก้าวหน้าตามขนาดความจุกระบอกสูบ (ซีซี) ทำให้ต้องจ่ายค่าภาษีป้ายทะเบียนหลายพันบาทต่อปี จึงไม่เป็นที่นิยมของผู้ซื้อปิกอัพ หรือหากจดทะเบียนเป็นรถบรรทุก จะติดเรื่องของเวลาการวิ่งในเมืองอีก

ที่แน่ๆ ปิกอัพที่มีขนาดใหญ่ในปัจจุบัน อย่าง “มาสด้า บีที-50” และ “ฟอร์ด เรนเจอร์” จะสามารถปลดล็อคในส่วนของปิกอัพรุ่นมีแค็บ ให้วางจำหน่ายรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อได้ ซึ่งปัจจุบันไม่มีรถรุ่นย่อยนี้ทำตลาด เพราะติดข้อจำกัดน้ำหนักรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ปิกอัพรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ จึงมีขายเฉพาะรุ่นดับเบิ้ลแค็บ หรือปิกอัพ 4 ประตู ที่ตามกฎหมายต้องจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หรือเก๋งเท่านั้น
โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ รุ่นปัจจุบัน และภาพแอบถ่ายโฉมใหม่(ล่าง) จากเว็บไซต์ carscoops.com ที่มีข่าวนอกจากรูปลักษณ์ปรับใหม่ ยังมีตัวถังใหญ่ขึ้นมาก

นอกจากนี้ในส่วนของปิกอัพรุ่นใหม่ๆ ที่จะออกมา อย่าง “โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้” โฉมใหม่ ตามข่าวจะมีตัวถังขนาดใหญ่กว่าเดิมมาก หากร่างพ.ร.บ.รถยนต์ดังกล่าวผ่าน จะทำให้สามารถออกมาโดยไม่ต้องพะวงกับเรื่องน้ำหนัก รวมถึงอาจจะได้เห็นการกลับมาของปิกอัพ “เกีย เค2900” ที่หายไปจากตลาด เพราะไม่ผ่านเรื่องน้ำหนักรถ ต้องจดทะเบียนเป็นรถใช้งานบรรทุก ทำให้ติดปัญหาเรื่องเวลาของการวิ่งรถในเมือง เหมือนกับรถบรรทุกขนาดใหญ่ จึงไม่เป็นนิยมเหมือนในรุ่นเค2700 ที่ผ่านน้ำหนักมาตรฐาน 1,600 กิโลกรัม จึงสามารถใช้งานในเมืองได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นจุดขายของปิกอัพรุ่นนี้ในอดีต เช่นเดียวกับกลุ่มรถบรรทุกเล็กอย่าง “อีซูซุ เอลฟ์” ที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคต

สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการพลิกโฉม และทำให้เกิดความก้าวหน้าทางนวัตกรรม รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมปิกอัพในไทย แต่มองในมุมกลับการปลดล็อครถที่มีขนาดใหญ่ ให้สามารถวิ่งได้ในเมืองใหญ่ ภาครัฐจะรับมือกับปัญหาการจราจรอย่างไร? ตรงนี้จะต้องเตรียมแก้ไขไว้ด้วยเช่นกัน!!
เกีย เค2900

กำลังโหลดความคิดเห็น