xs
xsm
sm
md
lg

รณรงค์ทวงสิทธิ์ห้ามสูบบนรถสาธารณะ-สถานีขนส่ง หลังพบยังฝ่าฝืนเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รณรงค์ “ทวงสิทธิ์ห้ามสูบ” สถานีขนส่งผู้โดยสาร รถสาธารณะทั่วประเทศ หลังพบฝ่าฝืนสูบในที่ห้ามเพียบ เกือบครึ่งไม่ทราบกฎหมาย เตรียมติดป้ายทั้งบนรถและสถานีขนส่งทั่วประเทศ เตือนสิงห์อมควันเคารพสิทธิผู้อื่น

วันนี้ (30 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต) นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วย นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และผู้แทนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ร่วมเปิดกิจกรรมรณรงค์ “สถานีขนส่งผู้โดยสาร และรถโดยสารสาธารณะปลอดบุหรี่” พร้อมมอบสื่อสติกเกอร์และป้ายถาวร “ขอบคุณที่ไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่ห้ามสูบตามกฎหมาย” เพื่อสร้างความตระหนักถึงพิษภัยจากควันบุหรี่มือสอง เคารพสิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่ ทั้งนี้ ในงานมีผู้ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองร่วมสะท้อนผลกระทบด้วย

นพ.บัณฑิต กล่าวว่า กิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกรมการขนส่งทางบก บขส. ขสมก. และ สสส. เพื่อสนับสนุนให้สถานีขนส่งผู้โดยสาร รถโดยสารสาธารณะทั่วประเทศ ติดป้ายประกาศ เขตปลอดบุหรี่ เพื่อกำหนดขอบเขตความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ 100% ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ส่วนการกำหนดพื้นที่สูบบุหรี่จะต้องจัดไว้นอกอาคาร และไม่ให้อยู่ใกล้ทางเข้าออกอาคาร หรือบริเวณที่มีคนผ่านไปมา บทลงโทษผู้ละเมิด มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ส่วน ผู้ประกอบการที่ไม่จัดสถานที่ปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ตามที่กฎหมายกำหนด จะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท อย่างไรก็ตาม การติดเครื่องหมายห้ามสูบบุหรี่ทั้งสติกเกอร์หรือป้ายจะเป็นปัจจัยให้ผู้ที่ต้องการเลิกสูบทำได้ง่ายขึ้น เพราะมีสถานที่สูบจำกัด

จากข้อมูลการลงพื้นที่ของภาคีเครือข่าย พบว่า ปัญหาการสูบบุหรี่บนรถโดยสารสาธารณะลดลงไปมาก มีเพียงส่วนน้อยที่ยังพบเห็นอยู่บ้าง อาทิ รถสองแถวเล็ก หรือรถโดยสารในท้องถิ่น และจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ต่อการสูบบุหรี่ในพื้นที่ห้ามตามกฎหมาย ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2557 ในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,100 ตัวอย่าง พบว่า เกือบครึ่งหรือร้อยละ 47 ยังไม่ทราบว่ามีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานีขนส่งผู้โดยสาร และบริเวณที่พบการสูบบุหรี่ร้อยละ 19.28 พบหน้าร้านสะดวกซื้อร้านขายของชำในสถานี ร้อยละ 16.84 พบในห้องน้ำ ร้อยละ14.57 ลานจอดรถ และร้อยละ 11.31 พบในสวนหย่อม โดยพบเห็นการสูบในสถานที่ที่สถานีขนส่งจัดไว้ให้เป็นการเฉพาะเพียงร้อยละ 21.71 เท่านั้น” ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว

นายจิรุตม์ กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลสถานีขนส่งผู้โดยสาร และรถโดยสารสาธารณะทั่วประเทศ มีรถโดยสารที่จดทะเบียนแล้ว 139,847 คัน แยกเป็นประจำทาง 87,514 คัน ไม่ประจำทาง 40,843 คัน และรถส่วนบุคคล 11,490 คัน มีสถานีขนส่งผู้โดยสารรวมทั้ง ขสมก. และสถานีเดินรถ บขส. เกือบ 200 แห่งทั่วประเทศ ในส่วนของรถโดยสารสาธารณะกรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศเรื่องกำหนดแสดงเครื่องหมายห้ามสูบบุหรี่พ.ศ. 2554 ให้รถโดยสารทุกคันต้องติดเครื่องหมายห้ามสูบบุหรี่และข้อความฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 5,000 บาท ไว้บนรถโดยสารสาธารณะทุกคัน

การผลิตสติกเกอร์ห้ามสูบบุหรี่ กว่าสามแสนชิ้นได้รับการสนับสนุนจาก สสส. และได้ส่งมอบให้สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศแล้ว เพื่อให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันติดสติกเกอร์ตามกฎหมาย ส่วนสถานีขนส่งผู้โดยสาร ก็ได้รับการสนับสนุนจาก สสส.เป็นป้ายถาวร จำนวนกว่า 600 แผ่น และสติกเกอร์ 10,000 ชิ้น และได้จัดส่งให้กับสถานีขนส่งผู้โดยสารทั้ง บขส. และ ขสมก. แล้วเช่นเดียวกัน หวังว่าโครงการนี้จะเกิดประโยชน์คุ้มครองสุขภาพผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ที่สำคัญ ผู้มาใช้บริการในสถานีขนส่งผู้โดยสารทุกแห่ง พนักงานเจ้าหน้าที่ พ่อค้าแม่ค้า ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย และเกิดการเคารพสิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่” นายจิรุตม์ กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่







กำลังโหลดความคิดเห็น