นับเป็นช่วงเวลาของตลาดรถหรู โดยเฉพาะค่ายตราดาว “เมอร์เซเดส-เบนซ์” ที่ลุ้นสร้างสถิติยอดขายต่อเนื่อง แม้ภาพรวมตลาดรถยนต์ไทยจะร่วงกราวรูด นั่นแสดงว่ากลุ่มรถหรูไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง-เศรษฐกิจ และยังได้รับผลบวกจากการล้อมกรอบผู้นำรถอิสระ หรือเกรย์มาเก็ตแล้ว ส่วนสำคัญอีกอย่างน่าจะมาจากการปรับกลยุทธ์การตลาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคา การเปิดตัวรถโมเดลใหม่ๆ และการขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ ซึ่งจะเห็นภาพชัดเจนนี้เรื่อยๆ...
“ปัจจุบันเรามีรถยนต์ทั้งหมด 15 รุ่น ซึ่งถือว่ามากสุดเป็นประวัติศาสตร์ ในการทำตลาดรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ในประเทศไทยเลยทีเดียว จึงทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการขยายตลาดไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้วยการแนะนำผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม NGCC (New Generation Compact Car) ประกอบกับมีดีลเลอร์ที่แข็งแกร่ง ทำให้ยอดขายของเมอร์เซเดสในปีที่ผ่านมาทำสถิติสูงสุดในไทย และช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง 18% หรือขายไปทั้งหมดกว่า 5,200 คัน”
เป็นคำกล่าวของ “ไมเคิล เกรเว่” ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และว่า... อย่างไรก็ตาม เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ยังคงให้ความสำคัญกับลูกค้ากลุ่มเดิม ดังจะเห็นได้จากการเปิดตัวรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาส (C-Class) โฉมใหม่ และเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์ในรุ่นเอส-คลาส ไฮบริด (S-Class BlueTEC Hybrid) รวมถึงรุ่นจี-คลาส (G-Class) รถยนต์ตรวจการระดับพรีเมียม เมื่อช่วงต้นไตรมาสสองที่ผ่านมา
“ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทยจะทำการแนะนำ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ซีแอลเอส-คลาส (CLS- Class) ใหม่สู่ตลาด โดยจะมีทั้งตัวถังสปอร์ตคูเป้ 4 ประตู และชูตติ้งเบรก (Shooting Brake) หรือรุ่น 5 ประตู ซึ่งตรงนี้น่าจะช่วยผลักดันยอดขายได้อีกระดับหนึ่ง”
สำหรับเมอร์เซเดส-เบนซ์ ซีแอลเอส-คลาส ใหม่ หรือเวอร์ชั่นปี 2015 เป็นการไมเนอร์เชนจ์ ซึ่งหลักจะเป็นการปรับเพิ่มเทคโนโลยีความทันสมัย โดยเฉพาะชุดไฟหน้า LED Multibeam ที่ประกอบด้วยไฟ LED 24 ดวง ทำงานร่วมกับชุดควบคุม และกล้องจับภาพ 100 ครั้งต่อวินาที ทำให้การส่องสว่างในที่มืดดีกว่าเดิม และยังสามารถปรับการส่องสว่างให้เหมาะสม ไม่เป็นอันตรายต่อเพื่อนร่วมทาง ด้วยการตรวจจับรถที่วิ่งสวนมา และปรับทิศทางของแสงไฟ ไม่ให้แยงตาเพื่อนร่วมทางบนท้องถนน
นอกจากนี้ระบบยังสามารถประเมินลักษณะของทางโค้ง และที่เป็นวงเวียนข้างหน้าได้ โดยจะปรับลักษณะการส่องสว่าง ให้เป็นไปตามทิศทางที่จะต้องเดินทางในการขับขี่ได้ และยังใช้พลังงานไฟน้อยลงด้วย แม้จะเป็นเพียงจุดเดียว แต่นับเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความทันสมัย ปลอดภัย และหรูหราลงตัว ขณะที่ส่วนอื่นๆ ปรับนิดหน่อย อย่างกันชนหน้าใหม่ที่มีช่องดักอากาศขนาดใหญ่ขึ้น และไฟท้ายเป็นแบบโคมดำ เป็นต้น
ในส่วนของตัวเลือกขุมพลัง ได้เพิ่มทางเลือกย่อยใหม่กับ CLS 220 BlueTEC เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ 4 สูบ 2.1 ลิตร 170 แรงม้า แรงบิด 400 นิวตันเมตร บล็อกเดียวกับรุ่น CLS 250 BlueTEC แต่พละกำลังเพิ่มเป็น 204 แรงม้า แรงบิด 500 นิวตันเมตร ซึ่งเป็นรุ่นที่ทำตลาดในไทยปัจจุบัน (ราคาเริ่ม 4.99-5.39 ล้านบาท) และในต่างประเทศยังอีกหลายทางเลือก ทั้งเครื่องยนต์ดีเซล V8 ขนาด 3.0 ลิตร 258 แรงม้า และเครื่องยนต์เบนซิน V6 อีก 2 รุ่นย่อย รวมถึงรหัสแรงอย่าง CLS AMG เครื่องยนต์ V8 5.5 ลิตร ไบเทอร์โบ 585 แรงม้า
สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ซีแอลเอส-คลาส ใหม่ เห็นจะเป็นระบบส่งกำลังเกียร์ใหม่ 9G-TRONIC แบบ 9 สปีด ซึ่งที่ทำตลาดในไทยปัจจุบันเป็นแบบ 7G-TRONIC Plus โดยขณะเปลี่ยนเกียร์ใหม่นี้จะให้ความนุ่มนวลระดับพรีเมียมมากขึ้น พร้อมกับเน้นความประหยัดน้ำมันมากเป็นพิเศษ และที่สำคัญทุกเครื่องยนต์ผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro 6
แน่นอนว่าไม่เพียงกลุ่มรถหรู ที่จับคนวัยทำงานขึ้นไป เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ยังเริ่มขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มเศรษฐีคนรุ่นใหม่ หรือเริ่มทำงาน ซึ่งเห็นได้จากการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ ในกลุ่ม NGCC ไม่ว่าจะเป็นเมอร์เซเดส-เบนซ์ บี-คลาส, เอ-คลาส, ซีแอลเอ-คลาส และล่าสุดเมื่อต้นไตรมาสสองที่ผ่านมา เมอร์เซเดส-เบนซ์ จีแอลเอ-คลาส สปอร์ตเอสยูวีมาชนกับ บีเอ็มดับเบิลยู เอ็กซ์1
อย่างไรก็ตาม แม้รถในกลุ่ม NGCC หากเทียบกับคู่แข่งไม่ว่าจะเป็นราคา หรือต้นทุนต่างๆ ยังนับว่าเสียเปรียบคู่แข่งอยู่ เพราะเป็นรถนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ราคายังสูงอยู่แม้จะได้รับการสนับสนุนก็ตาม เหตุนี้จึงมีการศึกษาถึงแผนการนำรถในกลุ่ม NGCC มาขึ้นไลน์ประกอบในไทย
“เพื่อตอบรับกระแสความต้องการของคนรุ่นใหม่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย กำลังศึกษาแผนการประกอบรถกลุ่ม NGCC ในไทย จากปัจจุบันที่มีประกอบรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาส, อี-คลาส, เอส-คลาส และเอ็มแอล-คลาส เพียงแต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียด ถึงจำนวนเงินลงทุน หรือระยะเวลาที่ชัดเจนได้ แต่เมอร์เซเดส-เบนซ์ให้คำมั่นได้ว่า จะมีการลงทุนประกอบรถรุ่นใหม่ในเร็วๆ นี้แน่นอน” นายเกรเว่กล่าว
“ทั้งนี้เกี่ยวกับแผนการลงทุนในไทย เราจะให้ความสำคัญกับคุณภาพการผลิตเป็นหลัก และจะขยายการผลิตให้เหมาะสมกับการตลาด อย่างเช่นกลุ่มรถ NGCC รวมถึงเน้นไปยังรถพลังงานทดแทน BlueTEC Hybrid ซึ่งตรงนี้จะต้องลงทุนมาก และอีกส่วนเป็นเครือข่ายการขาย ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขา หรือปรับปรุงโชว์รูมของดีลเลอร์ เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาหาเมอร์เซเดส-เบนซ์มากขึ้น” มาร์ทิน ชูลซ์ รองประธานบริหาร ฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัดกล่าว
นี่คือแนวทางของเมอร์เซเดส-เบนซ์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวสินค้า และแผนการลงทุนประกอบรถในไทย รวมถึงกลยุทธ์ที่เจาะเข้าหาคนรุ่นใหม่ จากการเปิดตัวแบรนด์แอมบาสเดอร์คนแรกในไทย “ชมพู่” -อารยา เอ ฮาร์เก็ต ตลอดจนการเปิด Mercedes Experience Store กับแนวทางสปอร์ตมาร์เกตติ้ง งานนี้ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่ง หรือเกรย์มาร์เก็ตเหนื่อยแน่!!