xs
xsm
sm
md
lg

Nissan Teana 2.5XV ขับเนียน บุคลิกหนุ่มขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสไปลองขับ “นิสสัน เทียน่า ใหม่” ถึงสหรัฐอเมริกา ซึ่งครานั้นเป็นประสบการสั้นๆ กับ “เทียน่า เวอร์ชันจีน” (ส่งมาให้ทดสอบในงาน “นิสสัน 360” โดยเฉพาะ) ล่าสุด นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย จัดทริปทดสอบให้กับผู้สื่อข่าว บนเส้นทางที่สวยสดคดเคี้ยวในจังหวัดตรัง….

...น่าสนใจว่า รถธงคันนี้มีดีกว่าคู่แข่งอย่าง คัมรี่ และแอคคอร์ด หรือไม่?


นิสสันเปิดตัว “เทียน่า ใหม่” รหัส L33 (เปลี่ยนจากรหัส J) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยแบ่งการทำตลาดเป็น 5 รุ่นย่อย สองทางเลือกเครื่องยนต์ คือ MR20DE ขนาด 2.0 ลิตร บล็อกเดิม กับ QR25DE ขนาด 2.5 ลิตร 4 สูบ ซึ่งมาแทนรหัส VQ25DE แบบ 6 สูบเดิม

สำหรับ “เทียน่า ใหม่” ซึ่งเป็นเจเนอเรชันที่ 3 หลายท่านเห็นภาพทางอินเทอร์เน็ต หรือเห็นรูปแต่ไม่เห็นคันจริง อาจจะมองว่าคล้ายซิลฟี หรือคิดว่าไม่โดดเด่นแตกต่างจากรุ่นเก่า ซึ่งผู้เขียนก็เคยคิดทำนองนี้ครับ แต่เมื่อได้เห็นรถคันจริงพร้อมได้ลองขับสัมผัสนั่ง วิ่งตามๆ กันไปบนท้องถนน ต้องบอกว่าเทียน่า สวยเฉียบกว่าในรูป

แม้รูปลักษณ์การออกแบบจะคล้ายกับคอมแพกต์คาร์รุ่นน้อง แต่ถ้าพิจารณาในรายละเอียดแล้ว เทียน่ามีมิติที่ลึก และหรูหรากว่า ตัวถังจริงๆ ใหญ่พอสมควร และใหญ่กว่าเทียน่ารุ่นเดิมด้วยความยาว 4,875 มม. (เพิ่มจากรุ่นเดิม 25 มม.) กว้าง 1,830 มม. (เพิ่ม 35 มม.) สูง 1,490 มม.(เพิ่ม 5 มม.) ส่วนระยะฐานล้อเท่าเดิม 2,775 มม.
กระจังหน้าโครเมียมนูนเด่นแบบ 3 มิติ ไฟหน้าใช้ซีนอนพร้อมโปรเจกเตอร์เลนส์ ส่วนไฟเลี้ยวและไฟท้ายใช้หลอด LED ด้านบนมีหลังคาซันรูฟ (เฉพาะรุ่นเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร) ขณะที่เสาเอ-พิลลาร์ลาดเอียง สอดคล้องกับเสาซี-พิลลาร์ ส่งให้รถดูปราดเปรียว ออกแบบลู่ลมตามหลักอากาศพลศาสตร์ ซึ่งเทียน่า ใหม่ มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานเพียง0.29 เท่านั้น (เท่ากับซิลฟี)

โดยนิสสันพยายามออกแบบให้ตัวถังลดแรงปะทะจากลม พร้อมเพิ่มวัสดุซับเสียงในหลายๆ จุด จนกล้าพูดว่าภายในห้องโดยสารของเทียน่า ใหม่ เงียบที่สุดในคลาสเดียวกัน และดีกว่าเทียน่าที่ทำตลาดในจีน หรืออัลติมาที่ขายในอเมริกาเสียอีก

นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างวิศวกรรมแล้ว นิสสันยังเพิ่มออปชันอัจฉริยะ (ระบบไฟฟ้า) เพื่อเป็นจุดขายใหม่อีกหลายประการ ไล่ตั้งแต่ กล้องมองภาพรอบทิศทาง ช่วยให้ผู้ขับขี่มองเห็นวัตถุรอบตัวรถได้สะดวก ด้วยการฝังกล้องรวม 4 ตัวไว้บริเวณกระจังหน้า กระจกมองข้างซ้าย-ขวา และฝากระโปรงหลัง

ตลอดจนระบบช่วยขับขี่อัจฉริยะ ITS อันประกอบด้วย ระบบเตือนให้รักษาตำแหน่งรถในช่องทาง (Lane Departure Warning : LDW) ซึ่งจะแจ้งเตือนเมื่อรถเคลื่อนไหวในทิศทางที่ออกนอกเลนโดยไม่ตั้งใจขณะที่มีความเร็วสูงกว่า 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ระบบเตือนจุดอับสายตา (Blind Spot Warning: BSW) แจ้งเตือนว่ามีวัตถุอยู่ในจุดอับสายตาทั้งด้านซ้ายและขวาของผู้ขับขี่ เมื่อต้องการเปลี่ยนช่องทางขณะที่มีความเร็วสูงกว่า 32 กิโลเมตร/ชั่วโมง และระบบเตือนวัตถุเคลื่อนไหวรอบรถ (Moving Object Detection : MOD) แจ้งเตือนเมื่อตรวจพบวัตถุเคลื่อนที่รอบคันรถ ซึ่งออปชันเหล่านี้มีให้ตั้งแต่รุ่น 2.0 XL ไปจนถึง 2.5XV Navi (รุ่นล่างสุด 2.0 XE ไม่มีเพียงรุ่นเดียว)

นิสสัน เทียน่า ยังดูคุ้มค่าด้วยการให้ระบบความปลอดภัยมาเป็นมาตรฐานครบทุกรุ่น ทั้งระบบช่วยควบคุมทิศทางขณะเลี้ยว (Active Trace Control: ATC) ช่วยให้เข้าโค้งได้เฉียบคม ป้องกันอาการหน้าดื้อโค้ง โดยระบบ ATC จะส่งแรงเบรกไปชะลอ 2 ล้อด้านในที่หักเลี้ยว เพื่อช่วยรักษาทิศทางของตัวรถให้เคลื่อนไปในทิศทางที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวอัตโนมัติ (Vehicle Dynamics Control: VDC) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี (Traction Control System : TCS) ระบบช่วยการออกตัวบนทางลาดชัน (Hill Start Assist : HSA) ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS) ระบบกระจายแรงเบรก (EBD) ระบบเสริมแรงเบรก (BA) พร้อมถุงลม 6 จุด ถุงลมคู่หน้า (SRS Airbags) ถุงลมด้านข้าง (Side Airbags) และม่านถุงลมด้านข้าง (Curtain Airbags) และกล้องมองหลัง

…ย้ำว่าทั้งหมดนี้ติดมาเป็นอุปกรณ์มาตรฐานตั้งแต่ราคา 1.27-1.62 ล้านบาทนะครับ


ในการทดสอบเทียน่า ใหม่ ที่จังหวัดตรัง ผู้เขียนได้ลองรุ่น 2.5XV ไม่มีเนวิเกเตอร์ ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร (แต่สลับขับกับผู้สื่อข่าวอีกหนึ่งท่าน) ซึ่งทีมงานนิสสันเขาก็ฉลาดเลือกเส้นทางครับ โดยหาถนนดีไม่มีขุรขระ ลาดยางเรียบๆ เพื่อย้ำให้รู้สึกถึงความเงียบภายในห้องโดยสาร

ถ้าเทียบเรื่องการเก็บเสียงรบกวน และความนิ่งเงียบภายในห้องโดยสาร ต้องยอมรับว่าเทียน่าทำการบ้านมาดีจริง ไม่แพ้คู่แข่งอย่าง คัมรี่ และแอคคอร์ด หรืออาจจะเหนือกว่านิดๆ ด้วยซ้ำ พวกเสียงลมปะทะ และเสียงรบกวนจากภายนอกเวลาขับผ่านชุมชนเล็ดลอดเข้ามาภายในห้องโดยสารน้อย หรือใช้ความเร็วสูงอาจจะมีเสียงเครื่องยนต์ และเสียงยางมิชลิน ไพรมาซี แอลซี ขนาด 215/55R17 ดังเข้ามานิดหน่อย แต่กระนั้นหากคุณเปิดเครื่องเสียง BOSE ที่มาพร้อมลำโพง 9 ตัว (มีในรุ่น 2.5XV แต่ถ้าเป็นรุ่นอื่นจะไม่ใช่ BOSE และมีลำโพงเพียง 6 ตัว) ขับเสียงได้ใส พร้อมเก็บเสียงเครื่องดนตรีแทบทุกตัวให้ได้ยินชัดๆ ช่วยเพิ่มความสุนทรีย์ในการเดินทาง ฟังแล้วแทบจะไม่สนใจเสียงรบกวนอื่นๆ ละครับ

ขณะที่ปุ่มควบคุมการทำงานต่างๆ ของตัวรถ จัดวางเป็นระเบียบและใช้งานง่าย พร้อมพวงมาลัยแบบมัลติฟังก์ชัน ฝังปุ่มควบคุมเครื่องเสียง โทรศัพท์ ครูสคอนโทรล และเมนูแสดงผลต่างๆ ของรถ

ด้านเบาะนั่งคู่หน้า เหมือนจะบางลงแต่โครงสร้างก็พอเหมาะ รองรับสรีระได้กระชับ พร้อมปรับระดับด้วยระบบไฟฟ้า 8 ทิศทาง เสริมด้วยระบบดันหลัง (Lumbar Support) ขณะที่เบาะนั่งสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง นั่งสบายระดับหนึ่ง ระยะห่างช่วงขากับเบาะหน้า (Leg room) เหลือเฟือ ส่วนระยะหัวกับเพดาน (Head room) อาจจะเหลือน้อยไปนิด


ลักษณะการนั่งด้านหลัง พร้อมออปชันอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง (มีแค่ช่องแอร์หลัง) ผู้เขียนว่าเทียน่ายังไม่ถึงกับโดนใจ หรือโดดเด่นไปจากคู่แข่งนัก ขณะที่การรองรับโดยรวมของช่วงล่างนุ่มนวลพอสมควร แต่ถ้าให้คะแนนในจุดนี้ ผู้เขียนชอบโตโยต้า คัมรี่ ไฮบริด ที่นั่งสบายมากที่สุด

ขณะเดียวกัน ด้วยการออกแบบใหม่ให้ตัวถัวลู่ลม เสาซี-พิลลาร์ลาดเอียง ทีมที่ดูแลโปรดักต์ของนิสสันบอกว่า ส่งผลให้พื้นที่เก็บสัมภาระด้านท้ายมีปริมาตร (ลิตร) ลดลงจากรุ่นเดิมเล็กน้อย แต่ยังบรรจุถุงกอล์ฟได้ถึง 4 ใบสบายๆ

ในส่วนของสมรรถนะจากเครื่องยนต์ QR25DE ขนาด 2.5 ลิตร DOHC 4 สูบ 16 วาล์ว Twin CVTC ให้กำลังสูงสุด 173 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที (เดิม VQ 6 สูบ 2.5 ลิตร 182 แรงม้า) แรงบิดสูงสุด 234 นิวตัน-เมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที น้ำหนักของเครื่องยนต์นั้นเบากว่าบล็อกเดิม 30 กิโลกรัม และนิสสันยังเคลมว่าประหยัดน้ำมันกว่าเดิม 27% หรือแจงตัวเลขว่ารุ่นใหม่มีอัตราบริโภคน้ำมันเฉลี่ย 13.3 กม./ลิตร ขณะที่รุ่นเก่าเครื่องยนต์ วี6 ทำได้ 10.5 กม./ลิตร

นอกจากนี้ นิสสันยังพัฒนาระบบส่งกำลังแบบเกียร์อัตโนมัติ XTRONIC CVT ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นขยายความกว้างของอัตราทดเกียร์เพิ่มขึ้น 17% พร้อมออกแบบให้ลดแรงเสียดทานของระบบเกียร์ลง 40% รวมถึงลดขนาดของปั๊มน้ำมันเกียร์ และลดระดับน้ำมันเกียร์ในระบบ

การขับขี่จริง เครื่องยนต์ผสานการทำงานกับเกียร์ชุดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผ่านกำลังสู่ล้อคู่หน้าได้ต่อเนื่อง จังหวะออกตัวกระฉับกระเฉง น้ำหนักของคันเร่งกำลังดี กดไปนิดรอบเครื่องยนต์วาดขึ้นไป3,000-4,000 ส่งให้รถเคลื่อนตัวไปแบบนิ่มๆ บุคลิกของเทียน่าใหม่ ในรุ่นเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ออกแนวขับเพลิน พละกำลังและความแรงจัดให้ตามแรงกดของเท้าขวา จังหวะเร่งแซง ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง วิ่งใช้ความเร็ว 120-140 กม./ชม. ยังควบคุมได้มั่นใจ

เรื่องของเกียร์แม้จะไม่มีแพดเดิลชิฟต์ หรือระบบเล่นเปลี่ยนเกียร์แบบเกียร์ธรรมดาได้ แต่นิสสันมีโหมดสปอร์ต และโหมด Ds ให้เลือกตามความชอบ อย่างโหมดสปอร์ต หรือ OD OFF ที่รู้จักกันดี มีปุ่มกดบริเวณหัวเกียร์ โดยโหมดนี้จะเลือกใช้เกียร์ต่ำกว่าปกติ (ในโหมดเกียร์ D) รอบเครื่องยนต์รออยู่แถว 3,000-4,000 รอบ เพื่อการตอบสนองที่ทันใจ ส่วนโหมด DS นั้นซับซ้อนขึ้นมาอีกนิด โดยผู้ขับจะต้องผลักคันเกียร์ลงมาให้สุด ซึ่งโหมดนี้จะท้าทายบุคลิกของเกียร์ CVT ครับ

โดยปกติเกียร์ CVT หรือเกียร์แบบสายพาน อัตราทดแปรผันต่อเนื่อง หากเรากดคันเร่งแช่ (แม้จะแตะเบาๆ) แต่ถ้าไม่ผ่อนเบาคันเร่ง รอบก็จะดีดขึ้นไปเรื่อยละครับ ส่วนเกียร์ในโหมด Ds จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงบุคลิกดังกล่าว ซึ่งการเหยียบคันเร่งในลักษณะเดียวกัน เกียร์จะมีการชิฟต์เปลี่ยนเหมือนเกียร์อัตโนมัติทั่วไป (แบบเฟืองและทอร์คคอนเวอร์เตอร์) รอบจะไม่ลากไปยาวๆ ให้น่ารำคาญ ที่สำคัญยังช่วยให้การขับขี่สนุกสนาน ยกตัวอย่างในจังหวะเข้าโค้ง-ออกโค้ง กล่าวคือ กรณีขับมาเร็วๆ เตรียมเข้าโค้ง หากคนขับแตะเบรก ความเร็วลดลง แต่รอบเครื่องยนต์จะไม่ตกครับ และอาจจะค้างอยู่แถวๆ 3,000-4,000 รอบ เพื่อจังหวะเร่งส่ง (ออกโค้ง) จะทำได้รวดเร็วทันที

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงความสนุกขับมัน แต่เทียน่า ใหม่ ยังมีระบบ “อีโค” (Eco) ตามสมัยนิยม ด้วยการเลือกใช้ตำแหน่งเกียร์ และลดการตอบสนองของเครื่องยนต์ ตลอดจนควบคุมระบบแอร์ไม่ให้ทำงานหนัก หวังให้รถประหยัดน้ำมันสูงสุด

ด้านช่วงล่างและการควบคุมของเทียน่าใหม่ทำได้ยอดเยี่ยมครับ แม้ตัวรถจะยาวเกือบๆ 5 เมตร แต่ยังขับขี่คล่องแคล่ว อย่างพวงมาลัยนั้นเป็นแร็กแอนด์พิเนียน แบบ HEPS – Hydraulic Electric Power Steering System ซึ่งจะใช้ทั้งปั๊มไฮดรอลิก และมอเตอร์ไฟฟ้า ช่วยกันควบคุมผ่อนแรง

พวงมาลัยของเทียน่า ใหม่ ควบคุมมันมือ มั่นใจ จังหวะเลี้ยวหนึบหนับ พร้อมให้ความแม่นยำตามการสั่งงานซ้ายขวา ซึ่งผู้เขียนชอบมากกว่าพวงมาลัยไฟฟ้าของคัมรี่ และแอคคอร์ดครับ


สำหรับช่วงล่างหน้า แม็กเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง และมัลติลิงก์ พร้อมเหล็กกันโคลง พัฒนาใหม่ทั้งในส่วนของแขนโครงสร้าง และจุดยึดต่างๆ ในตำแหน่งผู้ขับ ช่วงล่างเกาะถนนแน่น การเข้าออกโค้งทำได้เนียนๆ แต่การนั่งเป็นผู้โดยสารด้านหลังจะรู้สึกสะเทือนกว่า ส่วนเบรกที่เป็นดิสก์ทั้งสี่ล้อ ทำหน้าที่ได้อย่างนุ่มนวล เซตน้ำหนักและระยะกดของแป้นเบรกสัมพันธ์กับจังหวะจับและระยะเบรกได้อย่างสุดยอด

ปิดท้ายด้วยอัตราบริโภคน้ำมันที่ผู้เขียนทำได้ในทริปนี้ โดยใช้ความเร็วหลากหลาย 100-140 กม./ชม. สลับจังหวะรถติด และการเร่งความเร็วแบบโหดๆ พร้อมลองเปลี่ยนโหมดเกียร์เป็นแบบสปอร์ต (OD OFF) และใช้ Ds บ่อยครั้ง (เพราะเป็นโหมดที่ขับสนุก) หน้าจอยังแสดงตัวเลข 9-10 กม./ลิตร

รุ่นย่อยราคา(บาท)
2.0 XE1,270,000
2.0 XL1,330,000
2.0 XL Navi1,380,000
2.5 XV1,570,000
2.5 XV Navi1,620,000

รวบรัดตัดความ... “เทียน่า ใหม่” เป็นรถธงที่นิสสันภูมิใจ เพราะอะไรดีๆ มักถูกใส่มาในรถคันนี้ ออปชันอัจฉริยะและระบบความปลอดภัยพื้นฐานจัดเต็มมาตั้งแต่รุ่นล่าง นับว่าให้ความคุ้มค่าสูง ด้านสมรรถนะการขับขี่ดูหนุ่มขึ้น คล่องแคล่ว และสปอร์ตกว่ารุ่นเดิมที่บุคลิกเนิบเนียน (ส่วนหนึ่งคงเป็นการทำงานของเกียร์) ถ้าเทียบกับแอคคอร์ดที่เป็นรุ่นเครื่องยนต์ 2.4 ลิตร ในภาพรวมผู้เขียนเอียงความชอบไปทางเทียน่า เว้นเสียแต่การนั่งเป็นผู้โดยสารด้านหลัง อาจจะยังไม่เนียนเหนือคู่แข่งอย่างคัมรี่ ไฮบริด และแอคคอร์ด

...ซื้อใช้ไปเหมือนจะเอาใจคนขับมากกว่าคนนั่งด้านหลัง

กำลังโหลดความคิดเห็น