คึกคักครึกครื้นทีเดียวครับ สำหรับตลาดรถ MPV (Muti Purpose Vehicle) ด้วยโปรดักต์ที่มีให้เลือกหลากหลายในปัจจุบัน บนราคาที่เอื้อมถึงได้ เหมาะกับครอบครัวยุคใหม่ที่ต้องการความคล่องแคล่วและอเนกประสงค์พอตัว
...จะว่าไป“มินิแวน” อย่างโตโยต้า อแวนซา,ฮอนด้า ฟรีด,ซูซูกิ เออร์ติกา,เชฟโรเลต สปิน ถูกพัฒนาบนพื้นฐานเก๋งขนาดซับคอมแพกต์ และมีราคาขายเพียง 6-8 แสนบาท ต่างจากเมื่อก่อนที่เป็นระดับคอมแพกต์ (โตโยต้า วิช,ฮอนด้า สตรีม) หรือใหญ่กว่า (มิตซูบิชิ สเปซแวกอน,ฮอนด้า โอดีสซีย์) ซึ่งราคาโดดเกินหนึ่งล้านบาทขึ้นไปทั้งนั้น
สำหรับเชฟโรเลต สปิน (Chevrolet Spin) ถูกพัฒนาบนแพลตฟอร์มเดียวกับ “โซนิค” และใช้โรงงานจีเอ็มเมืองเบกาซี ประเทศอินโดนีเซีย เป็นฐานการผลิตและส่งออกไปทั่วอาเซียน ขณะที่ประเทศไทยจะทำตลาดเพียงรุ่นย่อยเดียวคือ LTZ ราคา 7.62 แสนบาท และเพิ่งนำเข้ารถล็อตแรก มาส่งมอบให้ลูกค้าได้ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
หน้าตาการออกแบบเรียบง่าย ตัวรถดูอ้วนป้อมด้วยมิติตัวถังยาว 4,360 มม. กว้าง 1,953 มม. สูง 1,683 มม. ระยะฐานล้อ 2,620 มม. แม้เทียบกับคู่แข่ง (ไม่นับโปรตอน เอ็กโซลา ที่เป็นMPV ระดับคอมแพกต์) เชฟโรเลต สปิน จะมีตัวถังยาวและกว้างสุด แต่ถ้าวัดระยะฐานล้อก็ถือว่าสั้นกว่า ฟรีด,เออร์ติกา และอแวนซา ส่วนระยะต่ำสุดจากพื้นก็ยังสูงกว่าใครอีกด้วย (191 มม.)
การเข้าออกภายในห้องโดยสารยังทำได้สบาย ทั้งเบาะคู่หน้าและแถวสอง ส่วนเบาะแถวสามก็ต้องมุดเข้าไปไม่ต่างจากคู่แข่ง ทั้งนี้เชฟโรเลตคุยว่า สปิน รองรับการนั่งได้จริงทั้ง 7 ที่นั่ง และยังเหลือพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลังอีก 162 ลิตร และจะเพิ่มเป็น 864 ลิตรหากพับเบาะแถวสาม หรือสูงสุด 1,608 ลิตร หากพับเบาะแถวสองลง (นี่ยังไม่รวมการบรรทุกของจากแรคหลังคาด้านบนที่ติดมาเป็นมาตรฐานนะครับ)
ด้านแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลังก็มีมาให้ครบ ทั้งแถวสองแถวสาม แต่จะเจาะเป็นช่องบนแพดาน พร้อมครีบปรับทิศทางลมได้ ขณะเดียวกันผู้โดยสารที่นั่งแถวสองยังสามารถหมุนเลือกระดับความแรงลมได้ด้วยตนเอง
ส่วนออปชันมาตรฐานอย่างเครื่องเสียงรองรับ ซีดี เอ็มพี3 ขับกล่อมด้วยลำโพงสี่ตัว พร้อมระบบเชื่อมต่อยูเอสบีและบลูทูธ ช่องเสียบต่ออุปกรณ์ไฟฟ้า ระบบความปลอดภัยไฟหน้าส่องสว่าง Follow-Me-Home และระบบเบรกป้องกันล้อล็อก ABS ถุงลมนิรภัยคู่หน้า พร้อมเข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบดึงกลับอัตโนมัติ
…เมื่อผู้เขียนเข้าไปนั่งหลังพวงมาลัย ความรู้สึกแรกคือตำแหน่งของเบาะค่อนข้างสูง (แม้จะปรับให้ต่ำเตี้ยสุดแล้วก็ตาม) แถมนั่งไปสักพักก็ไม่ค่อยสบายเนื้อตัวนัก หรือขับทางไกลระยะทาง 100-200 กิโลเมตร ผู้เขียนก็รู้สึกปวดหลังแล้วครับ เช่นเดียวกับผู้โดยสารที่นั่งเบาะหลังบ่นถึงความชันของพนักพิง จนนั่งไปนานๆแล้วไม่สบายตัวเช่นกัน
สำหรับการทดสอบ ผู้เขียนเริ่มขับสปินออกจากซอยลาซาล เลี้ยวเข้าบางนา แล้วขึ้นทางยกระดับบูรพาวิถี จากนั้นตัดลงทางออกบางวัว เข้ามอเตอร์เวย์ มุ่งสู่จังหวัดระยอง โดยการวิ่งทางไกลๆแบบนี้ ภายในห้องโดยสารของเชฟโรเลตสปิน เก็บเสียงได้ดีหรือน่าจะเงียบที่สุดในคลาส
ขณะที่ช่วงล่างด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัท หลังเป็นคานทอร์ชันบีม แม้ออกอาการโยกโยนบ้างเมื่อขับความเร็วเกิน 120 กม./ชม. แต่ในภาพรวมทั้งทางโค้งและทางตรง ให้การทรงตัวดีพอสมควร ด้านพวงมาลัยแบบแรคแอนด์พิเนียน ผ่อนแรงด้วยไฮดรอลิก การควบคุมอาจจะหนักมือไปนิด การสั่งงานซ้าย-ขวามีระยะฟรี ซึ่งการขับทางไกลพวงมาลัยนิ่งจริงและมั่นใจได้ แต่ถ้าขับในเมืองผู้เขียนว่าการตอบสนองอาจจะไม่คล่องตัวนัก
ส่วนสิ่งที่ต้องชมและผู้เขียนคิดว่า วิศวกรเชฟโรเลตทำการบ้านมาดีคือระบบเบรก โดยหน้าเป็นดิสก์ หลังเป็นดรัม เซ็ทน้ำหนักการกดแป้นเบรก สอดคล้องกับจังหวะชะลอหยุดได้เป็นอย่างดี อย่างการทดลองเบรกในสถานการณ์คับขัน (ความเร็ว 80-100 กม./ชม.) ตัวรถไม่เสียอาการ และยังควบคุมได้อยู่มือ
ด้านสมรรถนะจากเครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.5 ลิตร4 สูบ DOHC 16 วาล์ว พร้อมระบบวาล์วแปรผันคู่ต่อเนื่อง DCVC (Double Continuous Variable Camphasing) ให้กำลังสูงสุด 107 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที ขณะที่แรงบิดสูงสุดในคลาส 148 นิวตันเมตร ที่ 3,800 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด
เมื่อพิจารณาตามสเปกแล้วถือว่าดูดี ทั้งเรื่องแรงบิด และเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด (อแวนซา, เออร์ติกา เป็นออโต้ 4 สปีด ส่วนฟรีด ออโต้ 5 สปีด) การขับขี่จริงสปินเด่นเรื่องตีนต้น การออกตัวทำได้ทันใจ ผลักดันน้ำหนักรถ 1,277 กิโลกรัม พร้อมผู้โดยสาร 3 คน รวมสัมภาระเต็มลำไปได้ฉลุย
อย่างไรก็ตามถ้าเลยช่วงออกตัวไปแล้ว การไล่ความเร็วขึ้นไปเรื่อยๆ รถอาจจะไม่กระฉับกระเฉงนัก หรือขับย่านความเร็วกลาง 60-80 กม./ชม.แล้วต้องการเร่งแซงกะทันหัน รู้สึกเหมือนการเปลี่ยนเกียร์ของสปิน จะมีจังหวะคิด อยู่นิดหนึ่ง การทำงานของเครื่องยนต์และเกียร์ประสานกันไม่ค่อยเนียน ยิ่งขับทางไกลเรี่ยวแรงไม่นิ่งอย่างที่ผู้เขียนหวัง
โดยวิศวกรจีเอ็มย้ำว่าได้เซ็ทอัตราทดเกียร์และเฟืองท้ายให้สอดคล้องกับการทำงานของเครื่องยนต์บล็อกนี้เพื่อสมรรถนะและความประหยัดน้ำมันสูงสุดแล้ว เหนืออื่นใดครับ เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดชุดนี้ยังมาพร้อมระบบ Driver Shift Control ให้ผู้ขับเลือกเปลี่ยนเกียร์ด้วยการกดปุ่มบวก/ลบที่ฝังไว้ตรงหัวของคันเกียร์ ได้ด้วยตนเอง
ปิดท้ายด้วยอัตราบริโภคน้ำมัน เชฟโรเลตเคลมว่าการวิ่งทางไกลใช้ความเร็วนิ่งๆ สปินสามารถทำตัวเลขได้ 13 กม./ลิตรสบายๆ ส่วนการทดสอบของผู้เขียนบนระยะทางไปกลับ 400 กม.ใช้ความเร็ว 120-140 กม.เป็นหลัก ยังเห็นตัวเลข 10-11 กม./ลิตร
รวบรัดตัดความ... “สปิน” จะเข้ามาเปิดมิติใหม่ให้กับการใช้ชีวิต โดดเด่นเรื่องความอเนกประสงค์ ช่วงล่างหนึบพอตัว การเก็บเสียงภายในห้องโดยสารดี เบรกมั่นใจ แม้การส่งพละกำลังโดยรวมไม่ค่อยเนียนต่อเนื่อง ต้องคอยประคองคันเร่ง แต่ถ้าดูเฉพาะแรงบิด และความสามารถในการออกตัว เชื่อว่ากรณี“แบกคน ขนของ”ไปเต็มคัน สปินยังมีเรี่ยวแรงเหลือสบาย ขณะที่ราคา 7.62 แสนบาท อาจจะโดดกว่าคู่แข่งอย่าง อแวนซา และเออร์ติกา หรือถ้าต้องจ่ายราคานี้ อาจจะมองขึ้นไปถึง ประตูสไลด์ไฟฟ้าสองฝั่งของ “ฮอนด้า ฟรีด” (เพิ่มเงินอีก 7.7หมื่นบาท)
...น่าสนใจว่าการบุกตลาด MPV ครั้งใหม่ของจีเอ็ม จะทำได้ดีเหมือนกับครั้งบุกเบิกธุรกิจกับ “ซาฟิรา” หรือไม่? แต่เชื่อเถิดครับถ้ายอดขายไม่วิ่ง(ตามหวัง) เชฟโรเลตคงต้องเพิ่มรุ่นย่อยที่ราคาย่อมเยากว่านี้ ออกมาทำตลาดแน่นอน