xs
xsm
sm
md
lg

เกรย์ฯ-ค่ายรถเปิดโต๊ะฟัดแหลก!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ข่าวในประเทศ-กลุ่มผู้ค้ารถในไทยเปิดศึกแลกหมัด เกรย์มาร์เก็ตสุดทนเปิดแถลงข่าว อัดภาครัฐและค่ายรถ ไม่ชัดเจนและเป็นธรรม เกิดการผูกขาดธุรกิจ คุยนำเงินเข้ารัฐปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ค่ายรถตั้งโต๊ะเสวนาสวนกลับ ธุรกิจรถหรูนำเข้าเลี่ยงภาษี ทำชาติเสียหายปีละ 4.44 หมื่นล้าน ปัจจุบันอาจทะลุแสนล้านบาท พร้อมเสนอ 6 ข้อคุมเข้ม

เมื่อวานนี้(24 มิ.ย.) สมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ หรือเกรย์มาร์เก็ต นำโดยนายชาญชัย พิลาวรรณ นายกสมาคมฯ และคณะกรรมการ ได้มีการแถลงข่าวเปิดตัวสมาคมฯ และเปิดเผยว่า ผู้จำหน่ายรถยนต์อิสระเป็นทางเลือกหนึ่ง ในการเลือกซื้อรถยนต์ของผู้บริโภค เช่นเดียวกับนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์และราคาที่ไม่ผูกขาด กับการกำหนดของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศ แต่ที่ผ่านมาผู้จำหน่ายรถยนต์อิสระมีภาพลบมาตลอด และเมื่อเกิดเหตุการณ์รถจดประกอบ ยิ่งทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน

“ผู้จำหน่ายรถยนต์อิสระเป็นผู้นำเข้ารถทั้งคัน(CBU) ซึ่งออกมาจากโรงงานในต่างประเทศ และเสียภาษีถูกต้องทุกขั้นตอนในอัตราเต็ม 187-328% ไม่ได้นำเข้าเป็นชิ้นส่วนอะไหล่เหมือนรถจดประกอบ ตรวจสอบได้ว่าเป็นรถใหม่ ไม่ใช่รถจดประกอบ แต่จากข่าวทำให้เกิดความสับสนกับผู้บริโภค และบวกกับปัจจัยอื่นๆ ส่งผลให้ปัจจุบันยอดขายลดลง 30-40% หรือคาดจะตลาดรถผู้นำเข้าอิสระปีนี้เหลือเพียงกว่า 6,000-7,000 คันเท่านั้น”

ในส่วนของปัจจัยอื่นๆ แต่ที่สำคัญมาจากการบังคับใช้กฎหมายของสำนักงานมาตรผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือสมอ. ซึ่งรถนำเข้าทุกคนจะผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานสมอ. ก่อนนำไปจดทะเบียนได้ แต่สมอ.กลับไม่มีความพร้อมในเรื่องของเจ้าหน้าที่และเครื่องมือ ขณะที่ตลาดรถนำเข้าเติบโตอย่างมาก ปัจจุบันแม้จะบอกมีกำลังตรวจสอบ 12-15 คันต่อวัน แต่ความเป็นจริงๆ น้อยกว่านั้น และต้องใช้เวลานานอย่างต่ำ 5-6 เดือน ทำให้เกิดการสูญเสียทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคไม่สามารถจดทะเบียนรถได้ ธุรกิจเสียหาย และภาครัฐสูญเสียรายได้เช่นกัน

สมาคมผู้นำเข้าฯ ระบุว่า ปัจจุบันมีรถค้างรอการตรวจสอบอยู่ไม่ต่ำกว่า 3,000 คัน มากสุดจะเป็นรถที่อยู่กับผู้บริโภคกว่า 2,000 คัน ที่เหลืออยู่ในโชว์รูม และจอดรออยู่ท่าเรือ คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณหมื่นล้านบาท แม้ปัจจุบันสมอ.จะผ่อนผัน สามารถตรวจสอบรถโดยใช้อินวอยซ์รวมได้ และใช้เอกสารรับรองมาตรฐานจากผู้ผลิต COC แต่ในทางปฏิบัติยังคงยุ่งยากมาก และมีเวลาเพียงถึงเดือนกรกฎาคมเท่านั้น จากนั้นจะใช้กฎเกณฑ์เดิม

“เราเรียกร้องให้ผ่อนผัน ให้กับรถที่นำเข้าก่อนกรกฎาคม 2556 หลังจากนั้นร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์ ให้มีความชัดเจน เป็นธรรม และสามารถปฏิบัติได้ เพราะผู้จำหน่ายรถอิสระนำเงินภาษีเข้ารัฐ ไม่ต่ำกว่าปีละ 2 หมื่นล้านบาท หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ เชื่อว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า 30% ซึ่งปัจจุบันมีธุรกิจรถนำเข้าอิสระปิดไปประมาณ 10% และผู้บริโภคจะเสียประโยชน์ เกิดการผูกขาดทางธุรกิจจากบริษัทรถหรือผู้ผลิตรถในประเทศ จะเห็นในอดีตรถยนต์รุ่นดัง เขาขายราคา 3.5 ล้านบาท แต่การเข้ามาแข่งขันของผู้จำหน่ายอิสระ ปัจจุบันเขาลดราคาลง 3.3 ล้านบาท และยืนยันสมาชิกสมาคมฯ ไม่ได้สำแดงราคาต่ำเกินความเป็นจริง เพื่อให้เสียภาษีต่ำอย่างที่ถูกกล่าวหา เราดำเนินงานถูกต้องตามกฎหมาย”

ทางด้านกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดเสวนา “เจาะลึกกรณีรถหรูเลี่ยงภาษี ต้นเหตุปัญหาระดับชาติ” โดยมีสมาชิกเป็นบริษัทรถยนต์และตัวแทนนำเข้ารถหรูอย่างเป็นทางการ ร่วมกันเปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการการนำเข้ารถหรู 3 รูปแบบ กลุ่มใหญ่จะเป็นรถจดประกอบ กลุ่มผู้นำเข้ารถสำเร็จรูป(CBU) และผู้นำเข้ารถใช้แล้วที่ได้รับอนุญาต ซึ่งในทั้งสามกลุ่มมีการหลีกเลี่ยงภาษีอย่างรถจดประกอบที่เป็นข่าว หรือการสำแดงราคาต่ำกว่าเป็นจริง เพื่อเสียภาษีต่ำของผู้นำเข้ารถสำเร็จรูป รวมถึงการนำใช้แล้วมาสวมสิทธิ์

“จากขบวนการนำเข้ารถยนต์หรูเลี่ยงภาษีเหล่านี้ ได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศ คิดเป็นมูลค่าเงินรวมแล้วกว่าปีละ 44,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขความเสียหายที่คำนวณไว้ตั้งแต่ปี 2554 โดยในจำนวนนี้รัฐต้องสูญเสียรายได้กว่าปีละ 8,600 ล้านบาท ขณะที่ผู้บริโภคอาจเสี่ยงถูกยึดรถ และต้องเสียค่าปรับ 4 เท่าของราคารถ ซึ่งสร้างความเสียหายให้ผู้บริโภคปีละ 3.2 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการ จากการถูกฉวยเอาประโยชน์จากการลงทุนด้านการตลาด(Free Riding) เป็นมูลค่าปีละ 3.1 พันล้นบาท และจากปีที่ผ่านมาที่ตัวเลขนำเข้าสูงกว่าหมื่นคัน เป็นไปได้จะสร้างความเสียหายเพิ่มขึ้นเกือบแสนล้านบาท และยังสร้างความกังวลใจให้กับบริษัทรถ ซึ่งอาจจะย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นๆ ได้”

จากสิ่งที่เกิดขึ้นทางกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงขอเสนอแนะมาตรการรับมือปัญหารถหรูเลี่ยงภาษีต่อภาครัฐ 6 ประการ ได้แก่ 1) ตรวจการเลี่ยงภาษีจริงจัง โดยให้กรมศุลกากรตรวจราคาจำหน่ายจากประเทศต้นทาง เทียบกับรถนำเข้าว่าได้แจ้งเสียภาษีไว้ก่อนหน้า เพื่อใช้เป็นราคาอ้างอิงและป้องกันการสำแดงราคาต่ำกว่าเป็นจริง และตรวจผู้นำเข้าสำแดง (Option) ครบหรือไม่ 2) สมอ. ควรตรวจสอบมาตรฐานรถที่นำเข้าอย่างเสมอภาคตามกฎหมาย จะเห็นว่าบริษัทต้องใช้เวลาในการตรวจ 7-8 เดือน ขณะที่ผู้นำเข้าอิสระจะใช้อีกเกณฑ์ในการตรวจสอบ และใช้เวลาไม่มากเท่า นอกจากนี้อยากจะเสนอให้ตรวจรถที่นำไปติดก๊าซ เพื่อเลี่ยงการตรวจของสมอ. ด้วย

สำหรับมาตรการที่ 3) กรมขนส่งทางบกควรเข้มงวดการตรวจสอบการนำเข้าก่อนรับจดทะเบียน 4) กระทรวงพาณิชย์เข้มงวดตรวจรถนำเข้ามือสอง เพื่อป้องกันสวมสิทธิ์ 5) อาจมีการออกกฎหมายใหม่กำหนดให้ผู้นำเข้ารถต้องมีใบอนุญาต และต้องรับประกันการซ่อมบำรุง 6) สำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ควรมีบทบาทให้ความเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดจากรถหรูเลี่ยงภาษี


กำลังโหลดความคิดเห็น